ปชน.เปิดวิสัยทัศน์ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ พร้อมดัน 4 เสาหลัก การศึกษา-สาธารณสุข-สังคมสิ่งแวดล้อม-เศรษฐกิจ เปลี่ยนโฉมสมุทรปราการสู่ความเท่าเทียม-เท่าทันโลก
วันที่ 9 ธันวาคม 2567 ที่โรงแรมคูณ สุขุมวิท พรรคประชาชน จัดเวที “4 เสาหลักสู่การสร้างสมุทรปราการให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ของ นพดล สมยานนทนากุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ พรรคประชาชน สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้รับเชิญเป็นผู้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ด้วย
ในส่วนของนพดล ได้นำเสนอวิสัยทัศน์การบริหาร อบจ.สมุทรปราการ โดยระบุว่าตนได้มีโอกาสไปศึกษาที่เยอรมนี หลายอย่างทำให้ตนเกิดคำถามในใจและย้อนกลับมาดูประเทศของตัวเองว่าทำไมถึงแตกต่างกันเช่นนี้ ธนาคารโลกจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำติดอันดับต้นๆ ของโลกเป็นประจำทุกปี คำถามที่อยู่ในใจของตนมาตลอดคือชีวิตเราดีกว่านี้ได้หรือไม่ เราจะส่งต่อความเหลื่อมล้ำไปจนชั่วลูกหลานนานขนาดไหน มันเป็นไปได้หรือไม่ที่สมุทรปราการจะดีกว่านี้ ที่ อบจ.สมุทรปราการ ที่มีงบประมาณถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อหนึ่งสมัย จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสมุทรปราการให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้
สมุทรปราการมีสิ่งที่เป็นศักยภาพและจุดแข็งมากมาย เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกต์ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ด้วยโครงข่ายคมนาคมที่รอบด้านเชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในสมุทรปราการเติบโตไปได้ สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่มีโรงงานมากที่สุดในประเทศไทย สมุทรปราการมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดมากถึง 6.5 แสนล้านบาท มีตำแหน่งงานรองรับไม่น้อยกว่า 1 ล้านอัตรา และการที่มีอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าและเศรษฐกิจที่เจิญเติบโตต่อเนื่องทุกปี ทำให้อัตราการย้ายเข้าของประชากรเติบโตสูงจนติด 5 อันดับแรกของประเทศเช่นกัน
นพดลกล่าวต่อไปว่าแต่การที่ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชากรเติบโตอย่างก้าวกระโดด บางครั้งก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียหากไม่มีการวางแผนหรือคิดเผื่อเพื่ออนาคต เช่น สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่มีขยะสะสมมากถึง 1.2 ล้านตัน องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดอันดับให้สมุทรปราการติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีอากาศยอดแย่ นอกจากด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้วสมุทรปราการยังต้องทนอยู่กับการแช่แข็งด้วยการบริหารงบประมาณที่ไม่โปร่งใสและไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน
ทั้งหมดเป็นความท้าทายของ อบจ.ประชาชนที่ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขและสร้างเมืองนี้ให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ด้วยความตั้งใจว่าจะบริหารงบประมาณด้วยความโปร่งใส ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และทุกนโยบายต้องยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
นพดลกล่าวต่อไปถึงนโยบายสี่เสาหลักนโยบายที่จะส่งมอบให้สมุทรปราการเป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน ซึ่งประกอบด้วย
1) ด้านการศึกษา ทุกวันนี้ประเทศไทยมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน โดยสมุทรปราการอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศ อบจ.สมุทรปราการเองก็ไม่มีโรงเรียนในสังกัดของตนเองแม้แต่แห่งเดียว หลักสูตรก็เช่นกัน เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรจะต้องยืดหยุ่นและตอบโจทย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ วันนี้แทบไม่มีโรงเรียนไหนที่สอนเรื่องเอไอ ยกเว้นโรงเรียนเอกชนราคาแพง ทั้งที่จำเป็นในการทำธุรกิจและชีวิตในอนาคต หนึ่งในปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมในสมุทรปราการสะท้อนมาคือการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ คนในสมุทรปราการหลายคนทักษะฝีมือไม่ตรงและไม่ตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรม การศึกษาจึงเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ อบจ.ประชาชนจะเข้ามาตอบโจทย์ผ่านนโยบาย คือ
1.1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ซึ่งเด็กเล็กเป็นทรัพยากรที่ลงทุนน้อยที่สุดแต่ได้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่ที่ผ่านมามีการลงทุนในเด็กช่วงปฐมวัยน้อยมาก ทำให้เด็กจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานศึกษาไม่ตอบโจทย์กับการทำงานของผู้ปกครอง อบจ.ประชาชนมีนโยบายที่จะจัดสรรให้ ศพด. เปิดตั้งแต่ 7.00 - 20.00 น. มีอาหารสามมื้อ เปิดทั้งวันเสาร์-อาทิตย์และช่วงปิดเทอม อยู่ในอำนาจและงบประมาณที่ อบจ. เติมเต็มและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนได้ ให้ครอบครัวไม่ต้องลาเพื่อหยุดมาดูแลลูก ทำงานเพิ่มเติมได้ มีรายได้เพิ่มขึ้นมา เพิ่มการจ้างงานครูพี่เลี้ยงให้คนในชุมชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง โดยอัตรา 50% จะจ้างผู้สูงวัย เพื่อให้คนวัยเกษียณมีงานที่เลียงชีพตนเองได้
1.2) นโยบาย 1 อำเภอ 1 ศูนย์การศึกษาพิเศษ ทุกวันนี้ปัญหาเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญาเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม สมุทรปราการมีโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษอยู่เพียงแห่งเดียว อบจ. เข้ามาเติมเต็มได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
1.3) ศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย อบจ. จะเข้าไปเติมเต็ม เสริมความแข็งแกร่ง และลงทุนพัฒนาศักยภาพพนักงาน โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอมอี ไม่ว่าอยากเสริมศักยภาพด้านเอไอ เทคโนโลยี อบจ. จะจัดหลักสูตรการอบรมร่วมกับผู้ประกอบการให้กับพนักงานหรือประชาชน ตรงกับผู้ประกอบการ แก้ปัญหาให้ประชาชนที่ว่างงานอยู่ได้ด้วย เพื่อให้งานกับคนสามารถมาเจอกันได้
2) ด้านสาธารณสุข แม้สถานพยาบาลในสมุทรปราการจะมีครอบคลุมพอสมควรแต่ก็ยังไม่พอกับประชาชนในสมุทรปราการที่มีประชากรหลักและแฝงรวมมากถึง 3 แสนคน ทุกวันนี้บริการสาธารณสุขเป็นเรื่องของการสงเคราะห์มากกว่าสวัสดิการ หลาคนต้องพึ่งพิงระบบบริการภาครัฐ อบจ. จึงจะเข้ามายกระดับสาธารณสุขครั้งสำคัญผ่านนโยบายคือ
2.1) การจัดตั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพครบวงจรแห่งแรกของสมุทรปราการ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย
2.2) นโยบาย 1 อำเภอ 1 ศูนย์การแพทย์ใกล้บ้าน ที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการได้ ด้วยการนำระบบเอไอและการแพทย์ทางไกลมาเสริมการทำงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โรงงานและสถานประกอบการถ้ามีห้องพยาบาลอยู่แล้ว หากต้องการเชื่อมโยงกับศูนย์การแพทย์ของ อบจ. ก็สามารถทำได้ ผู้ป่วยไม่ต้องลำบากเดินทางไปแออัดในโรงพยาบาล สามารถเชื่อมโยงและเบิกจ่ายตามสิทธิผ่านระบบที่ อบจ. จะเข้ามามีส่วนร่วมได้
3) สังคมและสิ่งแวดล้อม อบจ.ประชาชน จะส่งมอบ 3 ความปลอดภัยให้กับชาวสมุทรปราการ คือ
3.1) ปลอดภัยจากโรค ซึ่งไม่ใช่แค่การมีสถานพยาบาลที่ดี แต่ต้องมีสถานที่ที่ให้ประชาชนออกกำลังกายและมีกิจกรรมกลางแจ้ง มีสวนสุขภาพและลานกีฬาใกล้บ้านใกล้ชุมชน
3.2) ปลอดภัยจากสาธารณภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุโรงงานระเบิดหรือสารเคมีรั่วไหลอย่างที่ผ่านมา ความเชี่ยวชาญของบุคลากรและอุปกรณ์ต้องมีอย่างเพียงพอ
3.3) ปลอดภัยจากยาเสพติด อบจ. จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมศูนย์บำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดในสมุทรปราการ
4) เศรษฐกิจปากท้อง แม้ภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรใหญ่สำคัญของสมุทรปราการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่า 90% แต่หากเศรษฐกิจสมุทรปราการพึ่งพิงแต่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว อนาคตย่อมมีความไม่แน่นอนสูง เครื่องจักรใหม่ที่ต้องเข้ามาเติมเต็มคือการท่องเที่ยว ผ่านโยบายคือ
4.1) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้มีการสร้างงานสร้างอาชีพ มีเงินหมุนเวียนในชุมชน
4.2) รถเมล์ฟรีรับนักท่องเที่ยวจากสุวรรณภูมิหรือสถานีรถไฟฟ้าจากปากน้ำ กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในสมุทรปราการ
นพดลกล่าวต่อไปว่า อบจ.สมุทรปราการในปี 2567 มีงบประมาณ 2.5 พันล้านบาท แต่ใช้เงินกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแค่ 5 ล้านบาท สาธาณสุขเพียง 25 ล้านบาท แต่หากเป็น อบจ.ประชาชน เราจะบริหารงบประมาณให้สมดุลในทุกมิติ
.
ในส่วนของธนาธร ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศโตเดี่ยว ที่กรุงเทพมีจีดีพีใหญ่กว่าจังหวัดอื่นเยอะมาก แต่กระนั้นสมุทรปราการก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ รองจากกรุงเทพ มีการเติบโตที่ทำให้เป็นจังหวัดเศรษฐกิจแถวหน้าของประเทศ แต่ก็ยังมีปัญหาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำเน่าเสีย ภูเขาขยะแพรกษา ปัญหาสังคมสูงวัย สมุทรปราการยังมีพื้นที่ที่เป็นชุมชนริมคลองเก่า แหล่งพัฒนาที่อยู่อาศัยหมู่บ้านจัดสรรมากมาย สมุทรปราการมีศักยภาพเยอะมากที่จะทำให้จังหวัดน่าอยู่มากกว่านี้
เวลาพูดถึงสมุทรปราการแล้วตนนึกถึงโยโกฮาม่า ที่มีความคล้ายคลึงกันคืออยู่ใกล้กับโตเกียว แต่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และบริการสาธารณะที่ไม่ได้ด้อยกว่าโตเกียวเลย นี่คือสิ่งที่เราอยากพัฒนาให้สมุทรปราการเป็นแบบนั้น เราเข้าใจดีว่าสมุทรปราการมีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม วิถีเกษตรดั้งเดิม มีทั้งการสัญจรของประชาชนข้ามสองฟากเจ้าพระยา และเราก็เข้าใจสมุทรปราการผ่านการแก้ไขปัญหาของ สส.สมุทรปราการ พรรคประชาชน ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่โดยลำพัง แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วมันคือเรื่องใหญ่สำหรับจังหวัดสมุทรปราการทั้งหมด
ธนาธรกล่าวต่อไปว่านโยบายของนพดลที่กล่าวมานั้น หัวใจของมันคือความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเสมอภาค และความเท่าทันโลก พาประเทศไทยและพาสมุทรปราการไปให้ทันกับโลก เราเห็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ย่อมอยากให้ไทยได้เป็นประเทศโลกที่ 1 เหมือนกับประเทศเหล่านั้น แต่หันกลับมามองประเทศไทย ยังคงมีช่องว่างอยู่มากนั่นคือบริการสาธารณะ หัวใจของนโยบายของนพดล คือการยกระดับบริการสาธารณะให้มีคุณภาพเท่าประเทศโลกที่ 1 ให้โรงเรียนดีเท่า โรงพยาบาลดีเท่า ให้ใกล้บ้านทุกคนมีสวนสาธารณะ ให้ทางเท้าสะอาดไม่มีฝาท่อเปิด ไม่ผุพัง
แต่บริการสาธารณะส่วนใหญ่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลส่วนกลาง แต่อยู่ในอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในระดับพื้นฐานและระดับจังหวัด ถ้าเราอยากได้ประเทศที่มีการให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพเหมือนโลกที่ 1 เราไม่อาจผลักดันผ่านการเลือกตั้งส่วนกลางอย่างเดียว ท้องถิ่นไม่ว่าจะในระดับ อบจ. เทศบาล หรือ อบต. ล้วนแต่มีความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งนั้น การเมืองท้องถิ่นจึงมีความสำคัญและใกล้ชิดกับชีวิตของพวกเราไม่แพ้การเมืองระดับชาติเลย
สิ่งที่นพดลทำได้ดีมากอีกประการหนึ่งคือการบอกประชาชนว่าถ้าได้เป็นนายก อบจ. จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณเป็นอย่างไร เพื่อให้ตอบสนองกับวิสัยทัศน์และนโยบายการพัฒนาจังหวัด เพราะเวลาพูดนโยบายอะไรก็แล้วแต่ หากไม่มีการจัดสรรงบประมาณก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ นโยบายทุกนโยบายต้องนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณใหม่
ธนาธรกล่าวต่อไปว่าถ้าฟังสิ่งที่พูดแล้วพอสมเหตุสมผล พอเป็นอนาคตของลูกหลานของทุนคนได้ เราต้องการความช่วยเหลือ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ถนนหนทางที่ไม่ดี การศึกษาที่ไม่ดี โรงพยาบาลที่ไม่ดี ล้วนเป็นเรื่องของการเมืองทั้งหมด อยู่ในทุกมิติของชีวิตเรา ดังนั้นขอให้ทุกคนอย่าละเลยการเลือกตั้งนายก อบจ. สิ่งที่น่ากังวลคือการเลือกตั้งในระดับ อบจ. คนมักจะไม่สนใจและไม่ไปใช้สิทธิกัน
ตนจึงขอความช่วยเหลือจากทุกคนให้ช่วยพวกเรารณรงค์ในการเลือกตั้งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 การกำหนดการเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพวกเรา ขอให้ช่วยพวกเราประชาสัมพันธ์ บอกเล่าวิสัยทัศน์ ลูกจ้างขอให้ช่วยคุยกับนายจ้าง นายจ้างขอให้ช่วยอนุมัติทำงานครึ่งวันได้ไหม ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าคนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเราไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่ถ้าทุกคนออกมาแล้วกาเหมือนการเลือกปีตั้ง 2566 เราชนะแน่นอน
“เราทำงานกับ อบต. และเทศบาลกว่า 60 แห่ง มี สส. มากที่สุดในสภา ชั้นเดียวที่เรายังไม่มีประสบการณ์บริหารคือชั้นจังหวัด ระดับตำบลทำมาแล้วประสบความสำเร็จ ระดับจังหวัดเดี๋ยวจะทำให้ดู เรามีของ มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความมุ่งมั่นตั้งใจแต่ยังไม่มีโอกาสทำ เราอยากทำเยอะกว่านั้น” ธนาธรกล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อบจสมุทรปราการ #พรรคประชาชน #คณะก้าวหน้า