วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“ณัฐพงษ์” เสนอ 10 มาตรการเร่งด่วนฟื้นฟูน้ำท่วมใต้ แนะนายกฯ-รัฐบาลเร่งจัดการในการลงพื้นที่ 6 ธ.ค. นี้

 




“ณัฐพงษ์” เสนอ 10 มาตรการเร่งด่วนฟื้นฟูน้ำท่วมใต้ แนะนายกฯ-รัฐบาลเร่งจัดการในการลงพื้นที่ 6 ธ.ค. นี้


วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างว่า ขณะนี้หลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่ก็มีอีกหลายพื้นที่ที่น้ำยังคงท่วมอยู่ในระดับสูง บางพื้นที่น้ำลดลงจนหมดแล้ว แต่พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาตามมาหลายประการ ทั้งขยะที่เกิดจากความเสียหายในช่วงน้ำท่วม การซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย การซ่อมแซมอุปกรณ์ในการดำรงชีพและการฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย


ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า ตัวแทนพรรคประชาชน นำโดย สส.รอมฎอน ปันจอร์, ภคมน หนุนอนันต์, และเจษฎา ดนตรีเสนาะ ได้เข้าไปสำรวจและพูดคุยกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยวันนี้พวกเขาอยู่กันที่จังหวัดปัตตานี พี่น้องประชาชนได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นอกเหนือจากที่มีมติ ครม.ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาค่าดำรงชีพเบื้องต้นครัวเรือนละ 9,000 บาทไปแล้ว


จากการรับฟังและรวบรวมความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย ณัฐพงษ์ได้เสนอเป็น 10 มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการภายใน 1 เดือน ได้แก่


1. พี่น้องประชาชนเห็นว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา 9,000 บาทต่อครัวเรือนตามที่ ครม.มีมติไว้ รัฐบาลควรกำหนดเงื่อนไขในการขอรับความช่วยเหลือให้น้อยที่สุด และอย่าให้มีขั้นตอนยุ่งยากที่จะนำมาซึ่งความล่าช้าในการได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรใช้ภาพถ่ายดาวเทียม และ/หรือระบบ geolocation เข้ามาใช้ในการพิสูจน์สิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ


2. ในส่วนของการซ่อมแซม-ฟื้นฟูบ้าน รัฐบาลควรสนับสนุนทีมอาสาสมัครทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ ในการฟื้นฟูซ่อมแซมบ้าน พาหนะ และอุปกรณ์การประกอบอาชีพ รวมถึงจ่ายเงินค่าซ่อมแซมบ้านและสถานประกอบการ เพื่อช่วยเหลือให้กลับมาดำรงชีพและประกอบอาชีพตามปกติโดยไม่ล่าช้า 


3. รัฐบาลควรสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะที่ตกค้างภายในพื้นที่โดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ก่อผลกระทบทางสุขอนามัยต่อประชาชนในพื้นที่


4. รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณและร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการคมนาคม ระบบสาธารณสุข และน้ำประปา ให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด


5. เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างยังเสี่ยงที่จะมีฝนตกต่อเนื่องอีก เพราะฉะนั้นในพื้นที่ที่ดินถล่ม และ/หรือมีความเสี่ยงกับดินถล่มเพิ่มเติม ต้องรีบให้เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญเข้าไปประเมินหน้างานทันที รวมถึงกำหนดมาตรการในการป้องกันดินถล่มและการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม


6. เช่นเดียวกับเรื่องดินถล่มที่ภาคใต้ยังมีความเสี่ยงน้ำท่วมอีกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ รัฐบาลควรจัดตั้งศูนย์กลางอุปกรณ์การช่วยเหลือในพื้นที่ และมีคลังสำรองอาหารฉุกเฉินไว้อีกอย่างน้อยในช่วง 2 เดือนต่อจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์อาหาร-อุปกรณ์ขาดแคลนเช่นครั้งนี้ โดยควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอาสาสมัครภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ


7. รัฐบาลควรเร่งกระบวนการเยียวยาจิตใจอย่างเร่งด่วนสำหรับผู้ประสบภัย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและมีความอ่อนไหวทางด้านอารมณ์และจิตใจ เพื่อทำการเยียวยาให้ทันท่วงทีก่อนที่ภาวะเหล่านั้นจะสะสมกลายเป็นบาดแผลและทำให้เป็นโรคทางสุขภาพจิต หลังจากนั้น รัฐบาลควรระดมสรรพกำลังของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจากจังหวัดข้างเคียงเพื่อมารองรับความต้องการในการรับบริการการรักษาทางด้านสุขภาพจิตของประชาชน หรืออาจจะมีการเปิดรับอาสาที่เคยผ่านการอบรมแล้ว เพื่อเข้ามาเป็นบุคลากรด่านหน้า ช่วยแบ่งเบาหน้าที่ของบุคลากรทางด้านสุขภาพจิตด้วย โดยจะต้องมีการทำงานบูรณาการร่วมกันเพื่อเก็บข้อมูลจำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่ได้เข้ามารับบริการแล้ว เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการทำงานต่อไป 


8. รัฐบาลต้องมีแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ให้มีประสิทธิผลกว่าโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ที่ให้แรงจูงใจกับนักท่องเที่ยวน้อยเกินไป (400 บาทต่อคน รวมผู้มีสิทธิ 10,000 คน)


9. รัฐบาลควรออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในไทย ทั้ง (ก) การพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย และ (ข) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการ โดยปลอดจากดอกเบี้ย


10. ชดเชยความเสียหายของโรงเรียนที่อุปกรณ์และอาคารเรียนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อให้กลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติโดยเร็ว


ณัฐพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนอยากบอกรัฐบาลด้วยความหวังดี ว่าแม้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำนวนหนึ่งอาจไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จากเหตุการณ์ข้อพิพาทและความตึงเครียดทางการเมืองและสังคมในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ตนก็เห็นว่าสาธารณภัยครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะสามารถดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด เพื่อกู้ความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนกลับมาได้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #น้ำท่วม67 #น้ำท่วมใต้ #พรรคประชาชน