วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“รัฐบาล” เดินหน้าขับเคลื่อน “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ลุยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

 


“รัฐบาล” เดินหน้าขับเคลื่อน “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ลุยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ


วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวสรุปโครงการในการขับเคลื่อนกิจกรรม ไกองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ปี 67 ซึ่งสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ภายใต้โครงการส่งเสริมการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ครัวเรือนให้เข้มแข็งทั่วประเทศ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ สร้างความมั่นคงเศรษฐกิจฐานราก วางเป้า ใช้กองทุนฯ เป็นกลไก ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พึ่งพาตนเอง สร้างสังคมไทยยั่งยืน โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ, นายกฤช เอื้อวงศ์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และแขกผู้มีเกียรติ ข้าราชการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีอยู่กว่า 79,610 แห่งทั่วประเทศ และสมาชิกกว่า 13 ล้านคน ถือเป็นกำลังหลักในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นให้กองทุนเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสร้างอาชีพ สร้างงาน และรายได้ในชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการออม และจัดระบบสวัสดิการเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม พร้อมสนับสนุนงบประมาณหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทในระยะแรก และเพิ่มทุนในระยะต่อไปโครงการนี้มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วยทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา” เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อเนื่องกว่า 23 ปี ทั้งนี้ โครงการ ‘กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน’ จะเป็นต้นแบบในการ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับหมู่บ้านและชุมชนต่อไป


นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ดำเนินการมา 23 ปี สร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาการพึ่งพาตนเองได้ดี เป็นแหล่งเงินทุนและออมเงินที่มั่นคง ช่วยส่งเสริม สวัสดิการและประโยชน์แก่ชุมชน การดำเนินงานสะท้อนความสำเร็จตามที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในระดับหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวมจากปัญหาหนี้นอกระบบที่กระทบต่อการดำรงชีวิต กองทุนหมู่บ้านจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนในรูปแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อหลีกเลี่ยงการไปเกี่ยวข้องกับหนี้นอกระบบ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 11,392,200,000 บาท ผ่านโครงการสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กองทุนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีอิสระและตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกและประชาชน ตามเจตนารมย์ของรัฐบาล 


ด้านนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการ สทบ. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสร้างงานและอาชีพในชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมการออมและพัฒนาระบบสวัสดิการในชุมชน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีผลเป็นรูปธรรม สทบ. จึงจัดโครงการ “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ภายใต้ โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน โดยนำกองทุนหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการบริหารกับกองทุนหมู่บ้านอื่น ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ยั่งยืน


สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้จัดขึ้นใน 4 ภูมิภาคหลักของประเทศไทย ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) วันที่ 10 ส.ค. 67, ภาคเหนือ (เชียงใหม่) วันที่ 15 ส.ค. 67, ภาคใต้ (สงขลา) วันที่ 17 ส.ค. 67, และภาคกลาง (อยุธยา) วันที่ 19 ส.ค. 67 ซึ่งในแต่ละภูมิภาค มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน” และ หัวข้อ “ไขกลยุทธ์ สู่อิสระทางการเงิน โดยกองทุนหมู่บ้านฯ ต้นแบบ”


โดยผู้แทนสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น คุณอาจิน จุ้งลก ที่ปรึกษาโครงการและประธานมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ คุณอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนาศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบ และอำนวยความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และผู้เชี่ยวชาญด้านการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีการออกบูธจากกองทุนต่าง ๆ บูธให้บริการคำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ บูธคลินิกแก้หนี้ และบูธจากสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร และธนาคารออมสิน รวมถึงการจัด นิทรรศการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของการดำเนินการของ สทบ. ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง รวมทั้ง 4 ภูมิภาคไม่ น้อยกว่า 4,000 คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้บริหาร บุคลากร สทบ. ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน เป็นต้น


โดยการจัดงานแถลงข่าวสรุปโครงการฯ ครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นจำนวน 350 คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้บริหาร บุคลากร สทบ. ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน โดยภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การมอบนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุน หมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงการเสวนาสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ อย่างยั่งยืนและไขกลยุทธ์ สู่อิสระทางการเงิน โดยตัวแทนกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองต้นแบบ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการของกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมือง การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จ การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กิจกรรมบริการของกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมือง และหน่วยงานภาคี


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กองทุนหมู่บ้านมั่นคง