วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : ”ส้ม“ ไม่รวม ”เหลือง“ ม็อบ ”สนธิ“ ไปไงต่อ


อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : ”ส้ม“ ไม่รวม ”เหลือง“ ม็อบ ”สนธิ“ ไปไงต่อ


[ถอดเทป] จากรายการ คมชัดลึก ทาง NationTV ช่อง 22

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2567 ดำเนินรายการโดย วราวิทย์ ฉิมมณี

ลิ้งค์ยูทูป : https://www.youtube.com/watch?v=FBIMIomQr_U


อาจารย์คิดว่าตอนนี้สถานการณ์มันสุกงอมมากพอที่จะมีมวลชนลงถนนแล้วหรือยัง?


ถ้าเป็นประเด็น ในทัศนะอาจารย์นะ คือคุณสนธิคิดว่ามันเป็นประเด็นที่ได้ อย่างเช่น MOU44 แต่ว่าสถานการณ์โดยรวมยังไม่ได้ ยังสุกงอมไม่พอ คือ “สุกงอม” คือคุณต้องมีมวลชนมากพอ ต้องมีความเข้มแข็ง ทุกครั้งเขาใช้เวลานานนะ และถ้ารัฐบาลเกิดมีเหตุการณ์อะไร ยกตัวอย่างเช่น ครั้งแรกของเขาก็คือคุณทักษิณขายหุ้น ซึ่งความจริงก็ยังไม่เชิงที่ว่าจะสามารถขยายม็อบได้ แต่เขาก็สามารถหยิบมาได้ แล้วกปปส.ก็คือเรื่องนิรโทษสุดซอย ในตอนนี้เรื่อง MOU44 อาจารย์ดูแล้วว่าเขาซีเรียสกับเรื่องนี้มาก แล้วก็ดูเหมือนกับมีเหตุผลที่เขาจะสามารถโจมตีได้หรือว่าไม่เห็นด้วย แต่ว่าสถานการณ์โดยรวมของประชาชนคงยังต้องรอเวลา


เพราะฉะนั้น คำว่า “สุกงอม” ก็คือประชาชนก็ต้องสุกงอม ถ้าดูตรงนี้ยังไม่ถึง


คือประเด็นน่ะใช้ได้ แต่ว่าเนื่องจากเขาไม่ได้ปูพื้นฐานมาก่อนไม่เหมือนสมัยปี 2549 นั่นประเด็นหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งอาจารย์ว่าประชาชนก็เปลี่ยนไปแล้วนะ คือในปี 2548-2549 ต้องยอมรับว่าคนเข้าใจการเมืองยังน้อย สื่อออนไลน์อะไรต่าง ๆ ก็ยังไม่เหมือนทุกวันนี้ การปราศรัยหรือการชี้นำค่อนข้างมีอิทธิพล แต่สมัยนี้ในบ้านแต่ละคนก็ต่างคนต่างดูมือถือ ต่างคนต่างมีข่าวสาร ดังนั้นการสุกงอมของประชาชนในเวลานี้น่าจะยากกว่าเมื่อก่อน เพราะว่าการชี้นำโดยแกนนำอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะประชาชนอาจจะรับข่าวหลายด้าน เช่น รับฟังรายการโน้น รับฟังรายการนี้ หรือในรายการเดียวกันก็เชิญคนมาหลายส่วน ดังนั้นทำให้คนจะต้องใช้ความคิดของตัวเอง ซึ่งอาจารย์มองว่าเป็นเรื่องที่ดี นี่เป็นพัฒนาการที่ดี


ฉะนั้น ประชาชนเมื่อปี 2548 ตอนนั้น 20 ปีผ่านไป ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่นะ คนรุ่นเก่าด้วย ไม่เหมือนเดิมแล้ว มีความเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเขาจะลงถนนหรืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เขาก็มีความเป็นตัวของตัวเองมาก เหมือนคนเสื้อแดง ไม่ต้องมีแกนนำนะ เขาอยากจะทำอะไร เขาก็ทำ เพราะว่าเขาคิดเองได้ ประชาชนก็ไม่เหมือนเดิม อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า พรรคการเมืองฝ่ายที่เป็นฝ่ายจารีตอำนาจนิยม คือแนวคิดแบบเดียวกับคุณทักษิณ ก็ไปรวมกันเป็นรัฐบาลหมด



ผู้ดำเนินรายการ : อันนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากในการเมืองสมัยนี้ เมื่อก่อนมีแค่พันธมิตรฯ กับสายคุณทักษิณ


มีประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในสภา เป็นตัวแทนของฝั่งจารีต ในความคิดอาจารย์นะ (ก็ต้องขออภัย คนอื่นอาจจะไม่เห็นด้วย) ก็คือเขาสามารถใช้หลังพิง ตอนนั้นประชาธิปัตย์มีคนหนุนเป็นระดับ 10 ล้านเหมือนกัน แต่ว่ามาตอนนี้กลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยไปอยู่ฝั่งเดียวกับรัฐบาลยุคที่แล้ว ซึ่งเราถือว่าเป็นขั้วจารีตอำนาจนิยมด้วยกันทั้งหมด ทั้งประชาธิปัตย์ ทั้งรทสช. เพียงแต่พลังประชารัฐถูกเขี่ยออกมาหน่อยหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้น ปัจจัยที่ว่ามีพรรคการเมืองหนุนอย่างเต็มที่ก็น้อยลง นอกจากประชาชนจะเปลี่ยนไป อันนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญ


ผู้ดำเนินรายการ : กลุ่มจารีตที่เคยร่วมกับมวลชนเสื้อเหลืองต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ปัจจุบันบางส่วนก็ไปตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ในขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งปกติก็จะสอดประสานกับม็อบนอกสภา ครั้งนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีก กลายเป็นพรรคส้ม


กลายเป็นคนละซีก คือคนอื่นเขาอาจจะมองเป็นแบบว่า “สามก๊ก” อาจารย์ว่า “สามก๊ก” นั้นคือก๊กผลประโยชน์ แต่ว่าถ้าในทางการเมือง มันยังเป็น 2 ขั้ว อาจารย์ไม่อยากเรียกก๊ก เพราะถ้าก๊กก็มีแต่เฉพาะผู้มีอำนาจ อันนั้นเป็นภาษาของคุณณัฐวุฒิ แต่ว่าขั้วความคิดไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ล้วน ๆ มันอาจจะมีผลประโยชน์อยู่ แต่ว่ามันแยกขั้วความคิด ก็ยังเป็น 2 ขั้ว ปรากฎว่าฝ่ายรัฐบาลที่เขาไม่พอใจก็อยู่ฝั่งเดียวกัน เรียกว่าเป็นขั้วจารีต (ผู้ดำเนินรายการ : เพื่อไทยถูกเหมารวมเข้าไปในขั้วนี้แล้วเหรอ?) ไม่ใช่เหมารวม ก็คุณข้ามขั้วไปแล้วนี่ เพียงแต่คุณอาจจะยังเข้ากันไม่สนิท ก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัว แต่ก็ถือว่าอยู่ฝั่งเดียวกัน ในขณะที่ฝ่ายค้าน ซึ่งปกติถ้าม็อบลงถนนเขาจะต้องร่วมกับฝ่ายค้านใช่มั้ย แต่ฝ่ายค้านก็คนละขั้วกับคุณสนธิ พรรคประชาชนก็เป็นขั้วฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาจารีตอำนาจนิยมเด็ดขาด ดังนั้น มันก็จะไปยากสำหรับคุณสนธิ อาจารย์มองนะ นี่ด้วยหลักการ เพียงแต่ว่าเราก็ประมาทเขาไม่ได้ว่าถ้าเขาบ่มเพาะไป แล้วรัฐบาลทำอะไรที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะว่าเขาก็มีพลพรรคเหมือนกัน แต่ว่ามันอาจจะไม่กว้างใหญ่ไพศาล



ผู้ดำเนินรายการ : ประเด็นอะไรที่อาจารย์มองว่าจะเป็นจุดชี้ขาดที่อาจารย์ใช้คำว่า “ประมาทเขาไม่ได้เหมือนกัน” ที่จะทำให้พลังของเขากลับมาอีกครั้งหนึ่ง ที่รัฐบาลต้องระวัง


คือคุณสนธิเป็นคนเก่ง แกมีความรอบรู้ทางประวัติศาสตร์ คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์มักจะได้เปรียบ เพราะว่าเอาบทเรียนของส่วนรวมมา มักจะทำให้เวลาทำอะไรพูดอะไรก็สามารถที่จะโน้มน้าวคนได้ แล้วก็เป็นสื่อ แรก ๆ คนก็ประมาทเขามากว่าเขาไม่เคยเป็นแกนนำเลย สื่อจำนวนหนึ่งก็ประมาทเขามาก แต่ว่าความจริงเขาเป็นคนเก่ง แม้เขาไม่เคยเป็นแกนนำ คือเขาใช้ความรู้ที่เขามีอยู่แล้วพูดไป ต้องขออภัย พอดีอาจารย์อยู่กับคนเสื้อแดงมาก่อน บางเรื่องที่เขาพูดถึงในหมู่พวกเรา มันก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง ซึ่งบางทีเราไม่ได้ทำแต่เขาอาจจะเอาไปพูดหรืออะไรก็ตาม แต่ว่าเขาเก่งนะ คือตัวเขาเป็นคนเก่ง แล้วก็พูดโดยมีตรรกะ พยายามที่จะมีข้อมูลเข้ามา น่าเชื่อถือ มีข้อมูล ไม่ได้ใช้วาทะกรรม บางคน popular ในการปราศรัย แต่ใช้วาทะกรรมเป็นหลัก แต่คุณสนธิแกไม่ได้ใช้วาทะกรรมนะ แกพูดของแกไปเรื่อย ๆ แต่ว่าแกก็เล่าเรื่องมีข่าวสารมีอะไรที่สามารถโน้นน้าวคนได้


คือ 1) ประมาทไม่ได้ 2) มี connection ประสบการณ์ ทีนี้มวลชนที่เป็น FC ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ว่าอาจจะแก่ ๆ แล้ว แต่เวลาเขามาทำงานการเมืองตั้งพรรคการเมืองก็ไม่ได้ผลนะ ล้มเหลวนะ คนก็ฉลาดนะ ก็คือเวลาแกลงท้องถนนเขาก็ลงด้วย แต่ว่าเป็นพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง เขาไม่เลือก เพราะฉะนั้นประชาชนก็ฉลาดเหมือนกัน แต่ถามว่าในอดีตที่มี connection อยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของคุณจำลอง ศรีเมือง สันติอโศก แล้วก็กลุ่มหลวงตามหาบัว กลุ่มของคุณสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ประสานกับพวกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตอนนั้นไม่พอใจเรื่องแปรรูป เพราะเขาอยากเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่อยากแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ อะไรต่าง ๆ ทำนองนี้ ก็ยังอาจจะมีคนมาร่วมด้วยระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้กว้างใหญ่ไพศาลก็อาจจะต้องมีพรรคการเมืองแบบเมื่อก่อน ในอดีตนี่ก็ “ประชาธิปัตย์”


ผู้ดำเนินรายการ : คือตอนพันธมิตรรุ่งเรือง ประชาธิปัตย์ก็สอดประสานกัน ตอนนปช.ออกมาชุมนุม เพื่อไทยก็สอดประสานกัน แล้วขณะนี้ไม่มีพลังจากพรรคการเมืองในสภาจากฝ่ายค้าน มันก็เลยทำให้สถานการณ์ยาก


อีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์ตั้งข้อสังเกตก็คือว่า แม้ว่ารัฐบาลจะเป็นฝั่งจารีตอำนาจนิยมด้วยกันกับคุณสนธิ แต่แกก็มีความเห็นหมดนะ คือพรรคประชาชนแกอาจจะพูดถึงน้อยหน่อยก็ได้ แต่ว่าไม่เอาอยู่แล้ว เพราะว่าในอดีตแกคงไม่ทิ้งอันนั้นหรอก ก็คือหมายถึงกระแสที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเชิดชูอะไรอย่างนี้ก็ยังเหมือนเดิม ตอนนี้ยังจะหนักไปด้วย เพราะฉะนั้น พรรคประชาชนโดยขั้ว มันอยู่คนละขั้วกันอยู่แล้ว



แต่ว่าในฝั่งขั้วที่เป็นรัฐบาล ดูเหมือนพรรคสีน้ำเงินคุณสนธิก็ไปเล่นงานเรื่องเขากระโดง มันทำให้เกิดบรรยากาศว่า พรรคการเมืองขณะนี้มันแย่หมด มันเลวหมด อะไรประมาณนั้น อาจารย์ก็ออกจะเชิงวิตกนะว่า แล้วคุณจะเอายังไง เพราะปกติระบอบประชาธิปไตยนั้น ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญตัวนี้จะเลว แต่ว่าประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าหากว่าคุณสนธิมาตัดสินในระหว่างทาง ก็ต้องให้เกียรติประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ในเวลานี้คุณสนธิมีความเห็น อาจารย์ก็ว่าโอคะนะ แต่ว่าก็ควรให้ประชาชนทั่วไปและพรรคการเมืองในรัฐสภา สามารถใช้เวทีดีเบต ยกตัวอย่างเรื่อง MOU44 ก็พูดในรัฐสภาในเต็มที่ พรรคประชาชนสงสัยก็ถาม หรือว่าให้มีเวทีอื่น ๆ ด้วย เพราะอย่างไรสำหรับอาจารย์นะ ไม่อยากให้ลงท้ายด้วยมีการรัฐประหารแบบเดิม ไม่อยากให้ “ธง” เขาไปทางนั้น แต่ในอดีตมันจะเป็นอย่างนั้น คือพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล มันใช้ไม่ได้สักพรรคหนึ่งแล้ว แล้วจะให้ทำยังไง?


ผู้ดำเนินรายการ : นี่คือสิ่งที่เขากำลังชี้ให้เห็นประเด็นนี้ เพื่อไทยก็มีปม อัลไพน์


ไม่! เพื่อไทย มีปม MOU44 ตัวสำคัญเลย แล้วเรื่องที่ดินอัลไพน์ก็ส่วนหนึ่ง ภูมิใจไทยก็เขากระโดง ส่วนพรรคประชาชนก็ ไอ้พวกนี้เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วจะเอายังไง? ที่อาจารย์เป็นกังวลว่า ถ้าอย่างนั้นเหมือนกับทำให้ประชาชนมองว่าระบอบนี้มันไปไม่ได้หรือยังไง เหมือนทำให้ดูว่าไม่มีทางออก ซึ่งไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น อาจารย์ก็มองว่าอาจารย์ยังไว้ใจเชื่อประชาชน เพียงแต่อาจารย์ไม่ไว้ใจกลุ่มจารีตอำนาจนิยม อย่าไปเคลิ้มตามให้มากนักก็แล้วกัน


ผู้ดำเนินรายการ : ชวนอาจารย์วิเคราะห์มวลชนแต่ละกลุ่มว่าจะกลายมาเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กลุ่มพันธมิตรฯ เดิม คนเสื้อเหลืองเดิมที่ยังยึดมั่นกับกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดมั่นกับตัวคุณสนธิ มากน้อยขนาดไหน “ส้ม” ที่มาจาก “แดง” มีโอกาสจะไม่พอใจรัฐบาลถึงขั้นไปรวมกับ “เหลือง” ได้มั้ย?


ไม่ได้!!! เหตุผลที่เขาอาจจะไม่พอใจพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยข้ามขั้ว แต่ถ้าเขาไปจับมือกับคุณสนธิ เขาก็ข้ามขั้วน่ะซิ (เขาจะไม่ซ้ำรอยในสิ่งที่เขาไม่พอใจ) ใช่! แปลว่าเขาไม่มีหลักการซิ


ผู้ดำเนินรายการ : โอเค อันนี้กลุ่มแรกนะ กลุ่มที่ 2 ที่เคยเป็น “เหลือง” มาก่อน ย้ายมาเป็น “ส้ม” จะกลับไปจับมือกับ “เหลือง” ได้อีกมั้ย?


อาจารย์ก็ว่าไม่ไป เหตุผลว่าทำไมเขาถึงเลือก “ส้ม” เขารู้อยู่แล้วว่า “ส้ม” มีนโยบายอะไร เป็นทั้งเสรีนิยมที่ก้าวหน้าจนกระทั่งถึงรัฐสวัสดิการ แสดงว่าเขายอมรับสิ่งนี้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาอาจจะเหมือนกับพันธมิตรฯ คือ เขาอาจจะไม่ชอบระบอบทักษิณ (ความคิดนี้ยังฝังอยู่) แต่ว่าพรรคส้มก็กลายเป็นทางเลือกของเขาได้ แต่ถ้าหากว่าเขาเป็นความคิดจารีตอำนาจนิยมแบบเดียวกับคุณสนธิ เขาก็ไปเลือกพรรค รทสช. หรือเลือกพรรคพลังประชารัฐ ทำไมเขาจะต้องมาเลือกพรรคประชาชน การเลือกพรรคประชาชนแปลว่าเขาต้องคิดแล้วว่ามันเหมือนกัน เพราะว่าคนเวลาขึ้นบันไดมองเห็นอะไรที่ก้าวหน้าแล้ว อาจารย์ว่าลงยาก คือระหว่างความไม่ชอบคุณทักษิณ กับระหว่างการคว่ำระบอบ อาจารย์ว่าเขาไม่เลือกคว่ำระบอบหรอก เขาอุตส่าห์เลือกมา “ส้ม” แล้ว ถ้าหากเขาไปเลือกพรรคอื่น เช่น รทสช. ลุงตู่ ซึ่งก่อนหน้านี้กลายเป็นผู้นำของพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม เขาก็ต้องไปทางนั้นแล้ว ถ้ามาทางพรรคส้มแล้วในตรรกะ อาจารย์ว่าย้อนกลับไม่ได้



ผู้ดำเนินรายการ : อีกกลุ่มก็คือกลุ่มจารีตเดิม “เหลืองเดิม” ที่อาจจะมีตัวเลือกทางการเมืองเยอะหน่อยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปัตย์-รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ หรือจริง ๆ ภูมิใจไทย บางส่วนก็ยึดโยงในแง่ของแนวคิดในการปกป้องสถาบัน กลุ่มนี้ปัจจุบันบางส่วนก็อยู่ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย จะมีโอกาสถอยย้อนกลับมาร่วมกับมวลชนนอกสภาเพื่อล้มรัฐบาลของตัวเองมั้ย?


อาจารย์ว่ายาก (เพราะเกาะเกี่ยวด้วยผลประโยชน์อยู่) 1) คนเหล่านี้ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น คือแกนนำเขากลายเป็นแกนนำพรรค ไม่ใช่คุณสนธิอีกแล้ว ยกตัวอย่างเช่น กปปส. อาจารย์ว่าเขาคงไม่มา ตัวแทนก็มาเป็นรัฐบาล เป็นรัฐมนตรี แต่ถ้าเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ เดิม ส่วนมากก็อายุมาก ป่วยไข้ไปหมดแล้ว ไม่มีอิทธิพลพอ ในส่วนพรรคการเมืองสีน้ำเงิน คือคุณสนธิแกเอาหมด ตีหมดว่าดูไม่ดี แต่แกไม่ได้ตี รวมไทยสร้างชาติ


ผู้ดำเนินรายการ : คือคุณสนธิก็ไม่ได้พยายามดึงมวลชนให้แตกมาจากพรรคร่วมฯ แต่ไปซัดเขาด้วยซ้ำ คนที่อยู่ในพรรคร่วมฯ ขณะนี้ ก็เลยอาจจะเหลือแนวร่วมเขาจริง ๆ น้อยลง


ใช่! น้อยลง แต่อย่างที่อาจารย์บอก 1) เป็น FC เขา 2) อาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง กลุ่มที่ไม่ได้ยึดโยงกับพรรคการเมือง อันนี้ก็อาจจะมาร่วมได้ ในอดีตก็จะเป็น สันติอโศก หลวงตามหาบัว สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ หรือ NGO บางส่วนที่ไม่แฮปปี้กับรัฐบาลนี้ เพราะว่าเขาก็มีปฏิสัมพันธ์กัน แต่อย่างที่อาจารย์บอกมันจะไม่ได้กว้างใหญ่ไพศาลสักเท่าไร ยกเว้นว่ารัฐบาลหรือพรรคการเมืองทำอะไรที่มันแย่จริง ๆ จนถึงขนาดว่าปลุกคนมาได้ แต่ว่ามันยากในความคิดของอาจารย์ เพราะว่าปัจจัยที่สำคัญก็คือ เวลาเปลี่ยน ประชาชนก็เปลี่ยน แล้วทิศทางที่เปลี่ยนเป็นทิศทางที่ก้าวหน้าขึ้น เวลาประชาชนก้าวหน้าขึ้น เขายากที่จะถอยหลัง


ทีนี้ผู้นำที่จารีต หรือพรรคการเมืองจารีต พวกนี้มักจะไม่ได้ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญที่สุดของการประสบความสำเร็จก็คือการปรับตัวที่จะอยู่ได้ อย่างอาจารย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็คือ คุณจะอยู่ได้คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลง กลุ่มที่ความคิดจารีตอำนาจนิยม โดยเฉพาะสาย “บิ๊กตู่” อาจารย์ว่าเขาเก่งนะ ที่เขาคิดวิธีไปดึงพรรคเพื่อไทยมา เพราะว่าเขามองในทางยาวไกล เพราะว่าเขาทำเต็มแม็กซ์แล้วนะ เป็นรัฐบาล 5 ปี แล้วก็มาเป็นอีก แล้วก็มีพรรคการเมือง แล้วก็เขียนรัฐธรรมนูญจารีตสุด ๆ แล้ว ทำอะไรต่าง ๆ จนสุดแล้ว ก็คงจะเข้าใจว่าไม่สามารถที่จะเป็นไปตามที่เขาคิด เขาก็เลยต้องใช้ยุทธศาสตร์นี้ แต่อาจารย์มองว่าคุณสนธิแกไม่สนใจเรื่องยุทธศาสตร์นี้ เพราะว่าแกไม่ใช่พรรคการเมือง แกไม่คิดว่าแกต้องมารับผิดชอบให้การเมืองเดินไปในระบอบประชาธิปไตย แกอาจจะชื่นชมระบอบอื่นก็ได้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สนธิลิ้มทองกุล #พรรคเพื่อไทย #ทักษิณชินวัตร