“ณัฐชา” แฉหน่วยงานรัฐรวมหัวทุนใหญ่ กลบข่าวปลาหมอคางดำ
อ้างสถานการณ์ดีขึ้นสวนทางความจริง อัดรัฐบาลเป็นวาระแห่งชาติแต่ไร้ความคืบหน้า
จี้เร่งทำงานเอาตัวคนผิดมาดำเนินคดี-เยียวยาความเดือดร้อนประชาชน
วันที่
14 พฤศจิกายน 2567 ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ
เขต 27 พรรคประชาชน
กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำว่า
วันนี้รัฐบาลดูเหมือนจะยังยุ่งอยู่กับการจัดการปัญหาภายในจนไม่มีสมาธิแก้ปัญหาให้ประชาชน
โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลทรัพยากรและระบบนิเวศของประเทศ
กลับยังนิ่งเฉยต่อผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำและการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ทั้งที่รัฐบาลประกาศตั้งแต่เดือนสิงหาคมให้การแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ
และอนุกรรมาธิการที่ศึกษาผลกระทบเรื่องนี้ซึ่งตนเป็นรองประธาน
ได้แจ้งข้อสังเกตโดยตรงไปถึงกระทรวงทรัพยากรฯ เรียบร้อยแล้ว
โดยชี้ชัดว่ากระทรวงควรทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาดำเนินคดีตามมาตรา
97 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ได้โดยเร็วที่สุด
แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นหน่วยงานดำเนินการ
ในทางกลับกัน
กลับมีขบวนการฟอกขาวเกิดขึ้นในลักษณะการรวมหัวกันของภาครัฐบางหน่วยงานและเอกชนทุนใหญ่ที่พยายามทำให้เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนหายไปจากกระแสด้วยการสร้างข่าวอย่างต่อเนื่องว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำลดลงและดีขึ้นโดยลำดับในหลายจังหวัด
สวนทางกับความเป็นจริงที่สถานการณ์มีแต่จะยิ่งลุกลามบานปลาย
ณัฐชากล่าวว่า
ล่าสุดวันที่ 13
พ.ย. ที่ผ่านมา ตนได้ร่วมเวที "ฟื้นฟูระบบนิเวศ
ปกป้องความมั่นคงทางอาหาร กรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ
พื้นที่สงขลา-นครศรีธรรมราช" จัดโดยมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ครัวใบโหนด เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์คาบสมุทรสทิงพระ
เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ และขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.)
ทำให้ทราบข้อมูลจากตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดสงขลาว่าสถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่หนักกว่าเดิมและเลวร้ายกว่าที่คิด
จึงอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน
“หน่วยงานของรัฐไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาให้ประชาชน
เน้นแก้ปัญหาให้เอกชนด้วยการให้ข้อมูลที่สร้างความสับสน หากยังเดินไปแบบนี้
นอกจากปัญหาเดิมจะไม่ได้รับการเยียวยา
ในอนาคตผู้ทำประมงน้ำจืดและระบบนิเวศของไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ
และการแก้ปัญหาจะยากขึ้นแน่นอน”
ณัฐชากล่าวด้วยว่า
อีกเรื่องที่ตนเรียกร้องคือการประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อให้พี่น้องรับเงินช่วยเหลือเยียวยาได้
อยากให้รัฐมองกรณีนี้เหมือนโรคลัมปีสกินระบาดในวัว
เมื่อปลาหมอคางดำระบาดในแหล่งน้ำ ในบ่อกุ้ง บ่อปลา
ทำลายผลผลิตทำให้เกิดความเสียหาย ก็ควรเยียวยาพี่น้องประชาชนให้เหมาะสมเช่นกัน