วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567

เครือข่ายแรงงานเปิดวงคุยปัญหาการจ้างงานในวัน Decent Work Day สส.ปชน.จี้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นตำ่ 400 ตามสัญญา ส่วนตัวแทนแรงงานถูกเลิกจ้างเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ทวงเงินค่าชดเชยพรุ่งนี้

 


เครือข่ายแรงงานเปิดวงคุยปัญหาการจ้างงานในวัน Decent Work Day สส.ปชน.จี้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นตำ่ 400 ตามสัญญา ส่วนตัวแทนแรงงานถูกเลิกจ้างเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ทวงเงินค่าชดเชยพรุ่งนี้ 


วันที่ 7 ตุลาคม 2567 ที่ร้าน SOL Bar & Bistro ณ อาคารอนาคตใหม่หัวหมาก 12 ได้จัดกิจกรรม “เสวนาคนทำงาน : คุยเรื่องงาน รัฐบาล และชีวิต” โดยมี สส.พรรคประชาชนและเครือข่ายแรงงานเข้าร่วม  


ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน กล่าวถึงที่มาของวันงานที่มีคุณค่า หรือ Decent Work Day ว่า ได้ริเริ่มโดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานที่มีคุณค่าในแต่ละประเทศและเพื่อให้คนทำงานมีศักดิ์ศรี โดยมีเสาหลัก 4 ประการ คือ 1.การสร้างงานที่มีคุณภาพ 2.การคุ้มครองทางสังคม 3.การให้สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง (Rights at Work) และ 4.การเสริมสร้างบทบาทของแรงงานในกระบวนการตัดสินใจ (Social Dialogue) 


นักวิชาการแรงงาน กล่าวอีกว่า ในแต่ละปีจะมีการจัดกิจกรรมเดินขบวน การจัดงานสัมมนา โดยมีเป้าหมายที่ตั้งใจให้เกิดการผลักดันวาระต่าง ๆ ซึ่งการจัดงานครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 ครั้งนั้นมีการกำหนดธีมสันติภาพและประชาธิปไตย เพราะโลกทุกวันนี้มีแนวโน้มใช้การปกครองแบบอำนาจนิยม และโลกอยู่ภายใต้สงคราม ขณะเดียวกันสหภาพแรงงานนั้นเป็นองค์กรที่เชื่อในการต่อรอง เพราะถ้าไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีสันติภาพ ก็ไม่มีงานที่มีคุณค่า 


ขณะที่ เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการทำงานของเครือข่ายผู้ใช้แรงงานและการผลักดันวาระต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาลูกจ้างของบริษัทบอดี้แฟชั่นที่แม้จะมีกฎหมายบังคับ แต่รัฐกลับไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทได้ และในฐานะที่วันนี้เป็นวันงานที่มีคุณค่า พรรคฯ จึงเสนอให้มีการผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะที่ผ่านมาแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไม่ได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม ตลอดจนกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่พรรคประชาชนเคยเสนอเมื่อครั้งยังเป็นพรรคก้าวไกลก็ถูกปัดตก ทำให้ไม่สามารถผลักดันวาระ ‘ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต’ ให้กับแรงงานไทยได้


เซีย ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับลาคลอด 180 วัน) ตอนนี้ผ่านวาระ 1 ใน กมธ. และ พ.ร.บ.สหภาพแรงงานว่าด้วยการรวมตัวของแรงงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยรวม 


“นี่คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ซึ่งตอนนี้ค้างอยู่บนโต๊ะนายกฯ ซึ่งพรรคกำลังผลักดัน นอกจากนี้สิ่งที่พบในการทำงาน คือ มีคนงานเดือดร้อนและเรียกร้องกับรัฐมากขึ้น มีโรงงานปิดตัวมากขึ้น คนว่างงานมากขึ้น รัฐควรจะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทที่รัฐบาลประกาศว่า จะขึ้นค่าแรงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถปรับขึ้นได้ ผมก็พยายามทวงถามในสภาและยังคงรอคอยคำตอบจากรัฐบาล” สส.พรรคประชาชน กล่าว  


ด้านประเจิด ขวัญเนียม อดีตคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่นที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม กล่าวว่า เริ่มทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอตั้งแต่อายุ 22 ปี และถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตอนอายุ 54 ปีและมีประสบการณ์การทำงานกว่า 28 ปี หลังถูกเลิกจ้าก็ต่อสู้มากว่า 5 ปี ตั้งแต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมารัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน และยังจะเรียกร้องต่อเนื่องในรัฐบาล แพรทองธาร ชินวัตร เพราะยังไม่ได้รับค่าจ้างชดเชย 


“การเรียกร้องครั้งนี้ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างบางคนก็เสียชีวิตไปแล้วก็มี แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชย ดังนั้นวันพรุ่งนี้ (8 ตุลาคม) พวกเราจะไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงความเป็นธรรม” ประเจิด กล่าว 


ขณะที่ ตฤณบดี สุขวงค์ ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เคยอยู่สหภาพแรงงานมากว่า 26 ปี ตั้งแต่วันแรกที่ประเทศไทยเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นดีทรอยส์แห่งเอเชีย และมีทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน ซึ่งปัจจุบันหน้าตาทุนในอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลง กลายเป็นทุนจีน ผลิตรถ EV แทน 


ตฤณบดี ยังกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาการผลิตรถยนต์สันดาปลดลงและแนวทางการลงทุนก็เปลี่ยนไป สัญญาการจ้างงานก็เริ่มเปลี่ยน โดยมีเทคนิคด้วยการทำสัญญาลดการจ้างงานลงจาก 1 ปี เหลือ 11 เดือน 6 เดือน และให้พนักงานออกจากระบบ แล้วทำสัญญาใหม่ทำให้ระบบการจ้างงานเปลี่ยนไป และสิ่งที่ควรจะได้ คือ การปรับค่าจ้าง โบนัส ซึ่งมีการนับเป็นรอบ เมื่อคนงานอยู่ไม่ครบปีก็ทำให้ขาดโบนัส และทำให้ได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น


ตฤณบดี กล่าวอีกว่า ลักษณะของทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเดินทางซ้ำกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และนักวิชาการพูดเสมอว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่สอดคล้อง อีกทั้งยังมีภาระหนี้เสีย NPL ที่เพิ่มขึ้น และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจ้างงาน ตนทำงานในสหภาพแรงงานก็ยังมองไม่ออกว่า จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร และสิ่งที่อยากผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การพัฒนาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของแรงงาน ซึ่งสหภาพแรงงานเป็นองค์กรเดียวที่รัฐไม่ได้ส่งเสริมให้มีประชาธิปไตย ตลอดจนปัญหากฎหมาย การชุมนุม ของแรงงานก็ถูกจำกัดสิทธิตามไปด้วย  


ด้าน วรพจน์ รตาภรณ์ ตัวแทนจากอาชีพไรเดอร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ไรเดอร์ต้องรับงาน 2-3 ออเดอร์ต่อรอบ จากการเรียกร้องล่าสุด รัฐได้แจ้งว่า เราเป็นอาชีพกึ่งอิสระ โดยอ้างว่า อาชีพไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้าง แต่ความจริงแล้วเวลาไรเดอร์ เมื่อทำผิด ผู้ดูแลแอพลิเคชั่นก็สามารถให้คุณให้โทษกับทางไรเดอร์ได้ 


“มันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัทว่า จะจ่ายเงินอย่างไร ถ้าไรเดอร์ปฏิเสธงานก็จะโดนพักงานและนำไปสู่การแบนงาน ผมอยากฝากถึงบริษัทและธุรกิจที่เกี่ยวข้องว่า ควรตั้งราคากลางค่ารอบเพื่อให้เหมาะสมกับการทำงาน” ตัวแทนอาชีพไรเดอร์ กล่าว 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์