ปชน.ร่วมยื่นญัตติด่วนกรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา “ทนายแจม” ชี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การทัศนศึกษาแต่อยู่ที่มาตรฐานความปลอดภัย แนะทบทวนเกณฑ์ทัศนศึกษาสำหรับเด็กเล็กไม่ควรไกลเกิน-มีผู้ดูแลเพียงพอ เสนอทบทวนเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ
วันที่ 2 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีการเกิดเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งใน จ.อุทัยธานี ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ซึ่งมีผู้เสนอญัตติจากทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน และหนึ่งในผู้เสนอญัตติจากพรรคประชาชน เริ่มต้นการอภิปรายโดยระบุว่า ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอชื่นชมการจัดการวิกฤติของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความเจ็บปวดร่วมกันของทุกคน
“การอภิปรายวันนี้ไม่ได้เป็นการมาหาคนผิดหรือติติง แต่เพื่อหาทางออกร่วมกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ต้องเผชิญเหตุการณ์และถอดบทเรียนแบบนี้ซ้ำๆ อีก”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานไม่ใช่ครั้งแรก จากข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางท้องถนน และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเมื่อปี 2565 มีอุบัติเหตุบนท้องถนนและความไม่ปลอดภัยในกรณีรถรับ-ส่งนักเรียนถึง 30 ครั้ง เมื่อเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 เกิดอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียนไปแล้ว 15 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 153 ราย โดยสาเหตุหลักมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือผู้ขับรถ สภาพรถที่ไม่ปลอดภัยและการขาดการจัดการที่เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
ศศินันท์กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อเสนอจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ ว่า ด้วยแผนและแนวทางการป้องกันและเผชิญเหตุ 4 ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ
1) มาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ ไม่ใช่แค่กรณีรถนักเรียนเท่านั้น ประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ตามกฎหมายที่ควบคุมคุณภาพรถที่วิ่งบนท้องถนน โดยเกณฑ์ระบุว่า ต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นให้ครบถ้วน ได้แก่ ประตูฉุกเฉินที่ต้องอยู่ด้านขวาและต้องสามารถเปิดได้จากทั้งภายในและภายนอก, เครื่องดับเพลิงที่สามารถใช้การได้ตลอดเวลา, อุปกรณ์ทุบกระจก และยังมีเกณฑ์วัสดุที่กำหนดให้ต้องมีการทนไฟในระดับหนึ่ง
หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการกำกับดูแลการตรวจสภาพรถอย่างจริงจัง จะช่วยลดอุบัติเหตุและโอกาสในการเกิดเหตุในอนาคตได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในต่างประเทศที่มีการพัฒนาและนำมาใช้มีการยึดหลักมาตราการ คือ 1) ต้องมีการตรวจสอบการขับ ติดตั้งกล้องวงจรปิดและระบบจีพีเอสเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ ความเร็ว และการเบรคอย่างเฉียบพลัน เพื่อลดอันตรายจากการขับขี่ 2) มีการฝึกอบรมผู้ขับอย่างเข้มข้นเพื่อความปลอดภัย 3) มาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถ ควรมีการกำหนดมาตรฐานสำหรับการดูแลรักษารถสาธารณะเพื่อให้มั่นใจว่า มีการบำรุงรักษาที่เหมาะสมและมีอุปกรณ์การป้องกันความปลอดภัยที่เพียงพอ 4) มีการใช้กฎหมายที่เข้มงวด 5) มีการเผยแพร่ความสำคัญของความปลอดภัยในการใช้รถโดยสารสาธารณะกับประชาชน 6) นำเทคโนโลยี เช่น การติดตั้งระบบเบรคอัตโนมัติ หรือเซนเซอร์ที่ช่วยในการป้องกันอุบัติเหตุมาใช้ และ 7) มีการวางแผนเส้นทางการเดินรถเพื่อหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยงและเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสาร
ศศินันท์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือต้องมีการทบทวนมาตรฐานทั้งหมดเกี่ยวกับการตรวจสภาพ การรักษาความปลอดภัยของยานพาหนะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การจำกัดจุดเสี่ยงของยานพาหนะที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ การเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา การอบรมคนขับและเจ้าหน้าที่ การมีสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับผู้ขับขี่ผู้โดยสารสาธารณะ
2) การนำเสนอข่าวที่มีความเปราะบางและละเอียดอ่อน ให้เป็นการเคารพสิทธิของผู้ประสบเหตุไม่ให้เป็นการตอกย้ำการสูญเสีย ซึ่งไม่ใช่แค่เหตุการณ์เมื่อวานเท่านั้น แต่หลายครั้งที่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องจะพบว่าหลายครั้งที่สื่อมวลชนจะเข้าไปถึงตัวเด็กและผู้อยู่ในเหตุการณ์เร็วกว่าแพทย์และจิตเแพทย์ การนำเสนอข่าวบางครั้งชี้นำสังคมไปแล้วก่อนที่ข้อเท็จจริงจะนิ่ง
สิ่งนี้เกิดจากความผิดพลาดที่ไม่ได้มีการกันสถานที่ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าถึงเหตุการณ์ได้ไวเกินไป และการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนข้อที่ 15 การเคารพสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่สรุปชัดเจนว่า สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศึกศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อเด็ก เยาวชน กลุ่มเปราะบาง และผู้มีความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ในสังคม โดยต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่บุคคลหรือผู้ตกเป็นข่าว
ศศินันท์ระบุว่า ในกรณีที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเปราะบางนี้ สื่อมวลชนยิ่งต้องระมัดระวังในการสื่อสาร การใช้ถ้อยคำ การสัมภาษณ์ การใช้คำถามที่เป็นการชี้นำ และการใช้คำถามที่อาจจำไปสู่ความเปราะบางของสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบในอนาคต ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการกันผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากเหตุการณ์ให้ไวที่สุด มีหน่วยงานสำคัญเข้าถึงผู้ประสบเหตุให้ไวที่สุด การนำเสนอข่าวควรมอบหมายอย่างเป็นทางการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและป้องกันการเปราะบางของข้อมูล
3) การเยียวยาผู้ประสบเหตุและครอบครัวอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งสิทธิในการได้รับการดูแล รักษาพยาบาล เงินเยียวยา และการฟื้นฟูสภาพจิตใจโดยกรมสุขภาพจิต ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการและติดตามผล รวมถึงทุกคนในสังคมที่เสพข่าวและผู้เผชิญหน้าในเหตุการณ์ ควรต้องเข้าถึงจิตแพทย์ในการดูแลจิตใจอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“ขอชื่นชมรัฐบาลที่ประสานงานในเรื่องนี้ได้ดีและรวดเร็ว และจะดีมากหากในอนาคตมีการกำหนดเรื่องเหล่านี้ในแผนเผชิญเหตุอย่างเป็นรูปธรรม”
4) การทัศนศึกษา ตามความเห็นแพทย์หญิงจิราภรณ์ อนุณากูร จากเพจเฟซบุ๊ก “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ตนเห็นด้วยว่า การทัศนศึกษาสำหรับเด็กหลายคนเป็นเวลาแห่งความสุข สำหรับหลายบ้านการทัศนศึกษาเป็นโอกาสเดียวที่จะได้ไปเห็นโลกกว้าง ปัญหาเหตุการณ์เมื่อวานนี้ไม่ได้อยู่ที่การไปทัศนศึกษา แต่เป็นเรื่องของคุณภาพความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจสอบคุณภาพของรถให้มีมาตรฐานความปลอดภัย มีที่ทุบกระจก ถังดับเพลิง
ศศินันท์ ยังกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาที่รอบคอบมากขึ้นสำหรับเด็กเล็ก โดยเฉพาะอายุ ระยะทาง จำนวนผู้ดูแล สำหรับเด็กเล็กควรเป็นระยะทางที่ไม่ไกลเกินไป ในบางประเทศกำหนดว่า ต้องไม่ใช้เวลาเกิน 30 นาทีด้วยซ้ำ และจำนวนผู้ดูแลหากไม่เพียงพอก็อาจพิจารณาให้ผู้ปกครองบางส่วนเดินทางไปด้วย ที่สำคัญคือการสอนให้เด็กฝึกเอาตัวรอดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต โดยมีการบรรจุในหลักสูตรการศึกษาอย่างเป็นระบบ
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ไม่มีอะไรจะสามารถชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ ดิฉันอยากชวนเพื่อสมาชิกทุกคนเอาความเจ็บปวดที่มีร่วมกันในวันนี้ เพื่อทำให้ทุกคนเอาจริงเอาจังมากขึ้นกับความปลอดภัยบนท้องถนน การสร้างระบบมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสาร และการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับพวกเราในอนาคตร่วมกัน” ศศินันท์ กล่าว