เครือข่ายนักศึกษา จัดงาน 48 ปี 6 ตุลาฯ คนเดือนตุลา-นักศึกษา-ปชช. ร่วมฟังเสวนา ‘หมอเหวง’ ชวนคิดทำอย่างไรถึงจะ‘หยุดทหารไม่ให้ฆ่าปชช.กลางเมืองอีกต่อไป’ ‘จาตุรนต์-สุชาติ’ ร่วมล้อมวงเล่าประสบการณ์ ก่อนรำลึกพรุ่งนี้(6 ต.ค.)
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เครือข่ายนักศึกษาจัดงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ร่วมกับ ชมรมโดมรวมใจ จัดงานรำลึกครอบรอบ “6 ตุลาฯ กระจกส่องสังคมไทย” ระหว่างวันที่ 5 – 6 ตุลาคมนี้ ที่หอประชุมศรีบูรพา
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในงาน บริเวณโถงทางขึ้นหอประชุมศรีบูรพา มีการจัดนิทรรศการ ชุดที่ 1 ‘ต่างความคิดผิดถึงตาย : บอกเล่าเรื่องราวภาพถ่ายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีป้ายขนาดใหญ่ที่เขียนรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ตลอดจนหนังสือพิมพ์ และหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง และสินค้าสนับสนุนการเคลื่อนไหว ขององค์กรภาคประชาสังคม ร่วมวางจำหน่ายภายในงาน
นอกจากนี้ ยังมีนักกิจกรรมจากกลุ่มต่างๆ ร่วมด้วย อาทิ กลุ่มทะลุแก๊ส ทะลุวัง ได้แก่ นายคทาธร ดาป้อม หรือ ต๊ะ, นายจิรภาส กอรัมย์ หรือ แก๊ป ทะลุแก๊ส เป็นต้น โดยติดภาพ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง กลุ่มทะลุวัง ซึ่งอดอาหารเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม พร้อมภาพจดหมายจากผู้ต้องหาในเรือนจำ ซึ่งขณะนี้มีผู้ต้องหาทางการเมือง ที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวกว่า 40 ราย ซึ่งในปีนี้ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติให้ 'เนติพร เสน่ห์สังคม' ได้รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ประจำปี 2567 โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.67)
โดยเมื่อเวลา 12.20 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มีการฉายภาพยนตร์สารคดี “ต่างความคิดผิดถึงตาย” เนื้อหากล่าวถึงและไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ต่อเวลา 13.00 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มีการเสวนา ในหัวข้อ “เดือนตุลานอกกระแส : บางแง่มุมของขบวนการเดือนตุลาที่ไม่เคยเห็น” โดย นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน และผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และ นางพรพิมล โรจนโพธิ์ นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
โดยนพ.เหวง กล่าวในช่วงท้ายของการเสวนาว่า เรารำลึกกันมา 48 ปีแล้ว อยากเชิญชวนพี่น้องทั้งประเทศ ช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะ ‘หยุดทหารไม่ให้ฆ่าประชาชนกลางเมืองอีกต่อไป’
“พรรคเพื่อไทยทำได้เลย ตอนนี้ศาลรับฟ้องแล้ว คดีตากใบ ออกหมายจับ 7 คนแล้ว ผมชี้ทางสว่างให้คุณ พรรคเพื่อไทย ถ้าเอา 7 คนไปมอบตัวต่อศาล ประชาชนทั้งประเทศจะให้อภัยคุณ เรื่องตากใบมีเวลา 20 วัน แต่เรื่องที่จะมีเวลาอีก 6 ปี คือ วีรชนเสื้อแดง 99 ศพ
กรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม มีรายชื่อชัด ว่าใครยิง กรม, กองไหน มีพี่น้องเราจำนวนหนึ่งยื่นฟ้องศาลพลเรือน ปรากฏว่าให้ไปเดินเรื่องศาลทหาร ถ้าอัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง เรื่องก็จบเลย ดังนั้น เดินไปแบบนี้ไม่ได้ ต้องแก้กฎหมายก่อน ให้ทหารที่ฆ่าประชาชนต้องขึ้นศาลพลเรือน รวมทั้งคนสั่งด้วย นักการเมืองทั้งหลาย ต้องไม่ขึ้นศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มี 62 ศพ ยังไม่ได้ไต่สวน รัฐบาลเพื่อไทย จะไปยากอะไร ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอีก 62 ศพ ไม่เห็นยาก
อยากให้ เพื่อไทยกล้า ๆ หน่อย เชิญคณะก่อการ ที่ยึดอำนาจสำเร็จมาดำเนินคดี ม.113 ข้อหากบฏ คมช คปค. มาดำเนินคดี ทบทวนคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ว่ายึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ปฏิรูปโครงสร้างทหาร ห้ามใช้ทหารจัดการการชุมนุมเด็ดขาด จึงจะหยุดรัฐประหารได้โดยสิ้นเชิง ถ้าทำได้ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนน ยิ่งกว่าพรรคประชาชนแน่นอน”
ต่อมาเวลา 15.00 น. มีการฉายภาพยนตร์สารคดีด้วยความนับถือ (Respectfully yours) หนังสารคดี “ด้วยความนับถือ” (Respectfully Yours) ถูกจัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา ต่อมาเวลา 15.30 น. มีการฉายภาพยนตร์สารคดีอย่าลืมฉัน (Don’t Forget Me) หนังสั้นที่ได้รางวัลรัตน์ เปสตันยีในปี 2546
ต่อมาเวลา 16.00 - 17.00 น. มีการแสดงดนตรีโดยรวมพลคนเพลง 6 ตุลาฯ โดย วงดาวเหนือ กับมิตรสหาย และวงริมทาง
ทั้งนี้เวลา 15.00 น. ที่โถงชั้นล่าง มีการเปิดวงร่วมพูดคุยและฟังเรื่องราวของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในกิจกรรม Human Library ท่ามกลางบุคคลที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในช่วงเวลานั้น มาร่วมล้อมวงบอกเล่าและพูดคุยประสบการณ์ของตัวเอง โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มต่างๆ ตามหัวข้อ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 นักเรียน นำโดย มนัส จินตนะดิลกกุล นักเรียนสวนกุหลาบฯ ผู้ก่อตั้งยุวชนสยาม (2515), พลากร จิรโสภณ เลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (ปลายปี 2516-เมษายน 2517)
กลุ่มที่ 2 นิสิตนักศึกษา นำโดย สิตา การย์เกรียงไกร ประธานสภาตุลาการองค์การมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2519, จาตุรนต์ ฉายแสง นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2519, ชูศิลป์ วะนา ประธานพรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา 2519
กลุ่มที่ 3 ผู้ทำงานด้านดนตรี/ศิลปะ นำโดย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นักดนตรีวงต้นกล้า
กลุ่มที่ 4 พรรคการเมือง นำโดย ประยงค์ มูลสาร สส.พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (2518)
กลุ่มที่ 5 ผู้ผลักดันสิทธิสตรี นำโดย สุนี ไชยรส, เนตรนภา ขุมทอง นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยพยาบาลเพื่อมวลชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
กลุ่มที่ 6 คนทำงานหนังสือ นำโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนชมรมพระจันทร์เสี้ยว บรรณาธิการวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์, กมล กมลตระกูล สมาชิกสภาหน้าโดม กองบรรณาธิการวารสารวรรณกรรมเพื่อชีวิตและวารสารชาวบ้าน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รำลึก48ปี6ตุลา #6ตุลากระจกส่องสังคมไทย #6ตุลา19