วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2567

ทีมพรรคประชาชนลงพื้นที่เชียงใหม่ ลุยพบอาสาสมัคร-ราชการ-ท้องถิ่น-พี่น้องประชาชน พร้อมเสนอแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว

 


ทีมพรรคประชาชนลงพื้นที่เชียงใหม่ ลุยพบอาสาสมัคร-ราชการ-ท้องถิ่น-พี่น้องประชาชน พร้อมเสนอแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว


วันที่ 27 กันยายน 2567 พรรคประชาชน นำโดย เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการนโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ร่วมกับ สส.เชียงใหม่ของพรรค ลงพื้นที่ อ.สารภี อ.สันกำแพง และ อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมพูดคุยกับอาสาสมัคร หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว


โดยในช่วงเช้า ทีมพรรคประชาชนเดินทางไปพบปะเพื่อเรียนรู้เข้าใจการทำงานของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 กรมชลประทาน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่มีการดูแลการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่กวง ซึ่งมีลำน้ำสาขาตามธรรมชาติทั้งแม่กวง แม่ออน แม่คาว ฯลฯ ทำให้ทีมพรรคประชาชนเข้าใจระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และข้อจำกัดในปัจจุบันได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น


ส่วนในช่วงบ่าย ทีมพรรคประชาชนเดินทางไปพูดคุยกับเทศบาลตำบลไชยสถาน อ.สารภีจ.เชียงใหม่ พบปัญหาการจัดการน้ำในคลองและลำน้ำย่อยต่างๆ ในพื้นที่ ที่ไม่มีการสำรวจ รวมข้อมูล และประสานกันอย่างไร้รอยต่อ ทั้งการสูบน้ำจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจระบายมายังตำบลไชยสถาน และไม่สามารถระบายไปยังท้ายน้ำได้ ทำให้ประสบปัญหาการจัดการน้ำในท้องถิ่นต่างๆ เกิดเป็นปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนข้างเคียงติดต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลานานกว่าพื้นที่อื่นๆ


ขณะที่ตลอดทั้งวัน ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ เขต 3 เดินทางไปดูปัญหาน้ำท่วมที่ชุมชนสันป่าค่า อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ พบปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชน ไม่สามารถระบายออกไปได้ ทั้งที่อีกฝั่งถนนมีระดับน้ำต่ำกว่ามาก จึงประสานกับกรมทางหลวง กรมชลประทาน และเทศบาลเมืองต้นเปา นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งและสูบออกเพื่อช่วยระบายน้ำ โดยผู้แทนราษฎรได้รับคำขอบคุณและคำชื่นชมที่ช่วยเป็นปากเสียงแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ทันที


นอกจากนี้ ทีมพรรคประชาชนยังได้เดินทางไปสังเกตการณ์และสนับสนุนการทำงานอาสาสมัครภาคประชาชนในการกระจายอาหารปรุงสุกพร้อมทานให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ ต.ไชยสถาน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่ามีประชาชนที่อยู่ด้านในและยากต่อการเข้าถึงยังคงรอรับความช่วยเหลืออีกมาก


ต่อมาในช่วงเย็น ที่สถานีวัดระดับน้ำ P1 ของกรมชลประทาน สะพานนวรัฐ จ.เชียงใหม่ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พูดคุยกับพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ถึงแนวทางการทำงานของ อบจ. ที่จะสามารถทำได้เพื่อเตรียมรับมือและอุทกภัยในอนาคต จนสรุปออกมาได้เป็นแผนการจัดการภัยพิบัติของจังหวัดเชียงใหม่ หรือ “CNX Disaster Management” โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่


ประเด็นที่ 1: การแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรม (Disaster Innovation)

- Sensor Network: วัดระดับน้ำ ส่งข้อมูลไปยังระบบเตือนภัยแบบเรียลไทม์ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะในพื้นที่ต้นน้ำ 

- Data Collective: ดึงข้อมูลมาเป็นศูนย์จัดการข้อมูลภัยพิบัติระดับจังหวัด ทั้งมวลน้ำ ดินสไลด์ จุดความร้อน ฯลฯ และมีระบบสนับสนุนการตัดสินใจที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

- War Room: ยกระดับการทำงานของ War Room ที่มีเพื่อสื่อสาร รายงานภัยพิบัติต่างๆ ของจังหวัดตลอดทั้งปี ทั้งรูปแบบ Online, On-Air, และ On-Ground


ประเด็นที่ 2: สร้างการตระหนักรู้ พร้อมกับส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต

- การซ้อมแผนการรับมือให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้มีความพร้อมในการเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชน

- สร้างการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และการปรับตัวรับมือโลกร้อน-โลกเดือด รวมถึงการออกแบบที่ใช้วิถีธรรมชาติเป็นฐาน (Nature-based Solutions)


ประเด็นที่ 3: แก้ปัญหาเชิงกายภาพ

- ขุดลอกคูคลอง เชื่อมต่อและขยายพื้นที่ระบายน้ำและพื้นที่หน่วงน้ำ โดยเฉพาะในส่วนถนนเส้นหลัก เพื่อลดโอกาสเกิดน้ำท่วมขังเหมือนปัญหาที่พรรคประชาชนพบในการลงพื้นที่วันนี้

- การทำ CBFM (Community-based Forest Management) หรือนโยบายป่าชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนดูแลและจัดการพื้นที่ป่าด้วยตัวเอง

- สนับสนุนระบบการจัดการน้ำในระดับชุมชน/ท้องถิ่น ที่เชื่อมต่อกับระบบน้ำภาพใหญ่ระดับลุ่มน้ำต่างๆ และระดับจังหวัดในภาพรวม


เดชรัตและพันธุ์อาจกล่าวสรุปว่า การทำงานทั้ง 3 ประเด็นจะทำให้เกิดความเข้มแข็งในการจัดการภัยพิบัติทั้ง 3 ระดับ คือ (1) ระดับจังหวัด หรือการยกระดับเป็นซุปเปอร์ อบจ. (2) ระดับคลัสเตอร์ของอำเภอต่างๆ ที่อยู่ในลุ่มน้ำ/หุบเขาเดียวกัน และ (3) ระดับท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ไปพร้อมๆ กัน


#UDDnews #UDDnews #พรรคประชาชน #น้ำท่วม67 #น้ำท่วมเชียงใหม่