มีหลายท่านสงสัยเรื่องการทวงความยุติธรรมกรณีปี
2553 ที่อาจมีข้อเรียกร้องและตอบสนองอย่างไร?
ดิฉันขอเรียนว่า
ในห้วงเวลาปีพ.ศ. 2564 – 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง 2566
ดิฉันและคณะประชาชนทวงความยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มญาติวีรชน 2553 กลุ่มทนาย
นักกฎหมาย และอดีตแกนนำนปช. เช่นดิฉัน, คุณหมอเหวง และประชาชนคนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง
ได้ร่วมกันปรึกษาหารือที่จะรื้อฟื้นคดีความที่ต้องยุติไปหลังมีการทำรัฐประหาร 2557
ด้วยการยุติการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพกว่า 60 คดี และการขึ้นสู่ศาลอาญา ในบางคดีถูกโยกไป
ป.ป.ช. กรณีนักการเมือง และทหารไปสู่ศาลทหาร นั้น
เราจึงมีการปรึกษาหารือฝ่ายกฎหมายที่ทำคดีมาเก่า
ตั้งแต่ต้นจนถึงวาระที่คล้ายจะจบ รวมทั้งคดีอื่น ๆ
ของคนที่ถูกจับภายหลังรัฐประหารด้วย สรุปข้อเรียกร้องเป็นข้อเสนอสำหรับกรณีปี 2553
เฉพาะหน้า 3 ข้อ คือ
1)
ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย
ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และตัวแทนฝ่ายผู้สูญเสีย, นักวิชาการ,
นักสิทธิมนุษยชน, นักกฎหมาย เพื่อตรวจสอบคดีความกรณีปี 2553
ที่ถูกแช่แข็ง บิดเบือน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐไทยตามหลักนิติรัฐนิติธรรม
รวมทั้งคดีความที่ปฏิบัติต่อเยาวชน/ประชาชนหลังปี 2563
เป็นต้นมา
ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ได้ลงนามหลักสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ
เร่งรัดคดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน และยังค้างคาอยู่ที่หน่วยงานต่าง
ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), กระทรวงยุติธรรม,
อัยการ ฯลฯ
2)
แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระธรรมนูญศาลทหาร, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม,
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดทางอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน
ไม่ใช่ทหารขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมือง ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ทำให้ทหารและนักการเมืองไม่ได้ถูกดำเนินคดีเฉกเช่นประชาชนทั่วไป
3)
ขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553
ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการศาล ICC
ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555
ทั้งนี้
เราไม่ได้เสนอข้อที่พรรคเพื่อไทยและอดีตแกนนำที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
เสนอให้ญาติฟ้องร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองโดยตรง เพราะเราพิจารณาว่า
เป็นปัญหาทางเดินที่ถูกชี้มาผิดพลาดแต่ต้น
เพราะนักการเมืองเหล่านั้นไม่ได้ทำตามอำนาจนายกรัฐมนตรีและผอ.ศอฉ.ที่ถูกต้อง
เป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลว่าจะมีการตายเกิดขึ้นแน่นอน ด้วยการอนุมัติกระสุนจริง,
พลซุ่มยิง และกำลังพลมากมายมหาศาล มีการใช้กระสุนนับแสนนัด กระสุนซุ่มยิงกว่า 500
นัด มันต้องเล็งเห็นผลว่าจะต้องมีการตายเกิดขึ้น จึงสั่งการเช่นนั้นได้
และจนบัดนี้ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ใด ๆ ผ่านมา 14 ปีแล้ว ว่ามีกองกำลังอาวุธของนปช. คนเสื้อแดง เรื่องชายชุดดำมีอาวุธ
และตัดสินใจว่านี่ไม่ใช่การต่อต้านการจลาจลด้วยซ้ำ แต่ถือเป็นการก่อการร้ายและการสู้รบในเมือง
นี่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ต้องมีคนรับผิดชอบ
ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกต่อไป ผู้ฆ่า-ผู้สั่งฆ่า ลอยนวลพ้นผิด
มีแต่การคร่ำครวญถึงชะตากรรมของประชาชนยุคแล้วยุคอีกเท่านั้น ดังนั้น
เราไม่เสนอทางเลือกที่พรรคเพื่อไทยเลือก
แต่ถือเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจเองที่ไม่สนับสนุนข้อเสนอเราแม้แต่ข้อเดียว
เช่น การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ เร่งรัด ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย
ไม่พักต้องพูดถึงข้อเสนอแก้กฎหมายให้นักการเมืองและทหารที่ทำผิดคดีอาญาร้ายแรงต่อประชาชนให้ขึ้นศาลพลเรือนปกติ
หรือเหตุการณ์ย่ามใจ ฆ่าประชาชน สั่งฆ่าประชาชนที่เล็งเห็นผลการตายเกิดขึ้น
ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป อยากให้เข็ดหลาบบ้างว่า ชีวิตประชาชนมีค่า
ไม่ใช่แค่โยนเงินเยียวยาแล้วจบกัน!
ดิฉันและคณะฯ
ได้พยายามทำเต็มที่ในฐานะกลุ่มองค์กรประชาชนอิสระ (อิสระจริง ๆ ไม่อิงใคร)
ไปพบพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลหลายรอบมาก แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยเลือกจะทำตามที่พวกท่านคิดได้แค่นั้น
คือเอาผิดเฉพาะนักการเมืองบางคน (ซึ่งมีโอกาสเป็นไปไม่ได้สูงมาก)
ก็ขอให้ท่านอดีตแกนนำสายพรรคที่พยายามร่วมกับพรรคเพื่อไทย โชคดี!!!!!
ถ้าทำได้
ก็ให้ญาติลองฟ้องร้องตามนั้น (ไปตามเส้นทางที่พวกเขาขีดให้เดิน)
แต่ดิฉันและคณะฯ
จะร่วมกับกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เพื่อดำเนินการต่อในสิ่งที่ต้องทำตามกฎหมาย
และการแก้กฎหมายเพื่ออนาคตของประเทศ
ดิฉันเคยเดินหน้าเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ
ICC จนอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศมาขอร้องพรรคเพื่อไทย (รมว.ต่างประเทศ)
ขณะนั้น ให้อนุญาตให้เขาเข้ามาดำเนินการสืบสวน พรรคเพื่อไทยก็ไม่อนุญาตมาแล้ว
นี่ก็จะเป็นการพิสูจน์หัวใจพรรคเพื่อไทยอีก
ว่าจะทำตามที่ฝ่ายตนเองเห็นชอบเท่านั้น หรือไม่?
เราก็คงยังเดินหน้าต่อไป
และให้คนรุ่นใหม่ได้รับความเข้าใจว่า นี่เป็น ความอยุติธรรมในระยะที่เปลี่ยนไม่ผ่าน
คือยังอยู่ในระบอบสืบทอดอำนาจเผด็จการจารีตนิยมแท้ ๆ
ธิดา
ถาวรเศรษฐ
เลขาธิการกรรมการคณะประชาชนทวงความยุติธรรม
2553 (คปช.53)
30
กันยายน 2567