วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2567

จดหมายฉบับ 9 ส.ค. 67 จากแดน 4 "อานนท์" เขียน กว่าจะได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพแต่ละอย่าง มันต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมาก

 


จดหมายฉบับ 9 ส.ค. 67 จากแดน 4 "อานนท์" เขียน กว่าจะได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพแต่ละอย่าง มันต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมาก


เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 เพจ “อานนท์ นำภา” โพสข้อความว่า


จดหมายฉบับ 9 ส.ค. 67

“คุณค่าของมนุษย์ถูกตั้งคำถามต่อสังคมมาโดยตลอด และกว่าจะได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพแต่ละอย่าง มันต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมาก”


พร้อมระบุถึงใจความในจดหมายว่า 


จบไปแล้วสำหรับซีรี่ย์ที่ฉายรอบค่ำในเรือนจำ “บางกอกคณิกา” เพิ่งทราบว่า “ลุงเปียร์” เป็นช่างภาพที่ถ่ายเรื่องนี้ พ่อไม่แน่ใจว่าเขาเรียกว่าผู้กำกับภาพด้วยมั้ย แต่ก็แอบเห็นลายเซ็นต์ของลุงเปียร์ตลอดทั้งเรื่อง เป็นซีรี่ย์ที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง แต่น่าเสียดายเข้าใจว่า มีหลายฉากที่ถูกตัดออกไป พ่อฝากความคิดถึงไปถึงลุงเปียร์ด้วย


9 สิงหาคม 2567 ถึงปราณและขาล ลูกรัก


การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่แค่ในละคร คุณค่าของมนุษย์ถูกตั้งคำถามต่อสังคมมาโดยตลอด และกว่าจะได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพแต่ละอย่าง มันต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมาก อย่างในซีรี่ย์เรื่องบางกอกคณิกา เราจะได้เห็นว่ากว่าคนชายขอบอย่าง โสเภณี คนขอทาน หรือแม้กระท่ังความหลากหลายทางเพศจะเป็นที่ยอมรับ มันต้องผ่านการต่อสู้เรียกร้อง ผ่านความเจ็บปวดมาแล้วทั้งนั้น พ่อทราบว่าสภาเพิ่งผ่านกฏหมายความหลากหลายทางเพศไป นี่ก็เป็นผลพวงมาจากการต่อสู้ของบรรดามิตรสหายมาหลายปีแล้วเช่นเดียวกันกับการต่อสู้ในเรื่องอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้อยู่ในตอนนี้


จารีตหรือประเพณีที่ล้าสมัยหลายอย่างทยอยยกเลิกไป อย่างพวกประเพณีแห่นางแมว การทรมานคนให้รับสารภาพในกระบวนการยุติธรรม หรือบางประเพณีเป็นต้น ก็ถูกตั้งคำถามและจำกัดเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เช่น การจุดบั้งไฟ การปล่อยโคมไฟ เป็นต้น


สังคมมีพลวัตร มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มนุษย์มีความรู้ มีเทคโนโลยี มีการพิสูจน์และตั้งคำถาม รวมทั้งแสวงหาคำตอบที่ศิวิไลมากขึ้น 


เรากำลังเดินทางไปสู่โลกใหม่และการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง อดทน รอคอยด้วยไฟฝัน


อานนท์ นำภา


สำหรับ อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ในคดี #มาตรา112 คดีแรก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เหตุจากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63


จากนั้น 17 ม.ค. 67 ศาลอาญาสั่งจำคุก "อานนท์ นำภา" เพิ่มอีก 4 ปี จากคดีมาตรา 112 (เป็นคดีที่ 2) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กปี 2564 โดยให้บวกโทษเก่าอีก 4 ปี ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้ว 8 ปี


ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 . ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท


ต่อมา 25 ก.ค. 67 ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาในคดี #ม112 คดีที่ 4 ของ “อานนท์ นำภา” เหตุโพสต์ 2 ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10


ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1), (3) ให้ลงโทษฐาน 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 


ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ไม่รอการลงโทษ


ทั้งนี้หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีของอานนท์ไปแล้ว 4 คดี ทำให้อานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวม 14 ปี 20 วัน และยังมีโทษในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ27พฤศจิกา2563 ที่ถูกจำคุกอีก 2 เดือน รวมเป็น 14 ปี 2 เดือน 20 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์#ยูดีดีนิวส์  #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม #อานนท์นำภา