วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2567

“สหัสวัต” เผย กมธ.แรงงาน ประชุมผลักดันรัฐบาลลงนามอนุสัญญา ILO ให้แรงงานมีสิทธิรวมตัว-ต่อรอง ชี้เป็นก้าวสำคัญยกระดับสิทธิแรงงาน รัฐบาลควรทำเร่งด่วน

 


“สหัสวัต” เผย กมธ.แรงงาน ประชุมผลักดันรัฐบาลลงนามอนุสัญญา ILO ให้แรงงานมีสิทธิรวมตัว-ต่อรอง ชี้เป็นก้าวสำคัญยกระดับสิทธิแรงงาน รัฐบาลควรทำเร่งด่วน


วันที่ 12 มิถุนายน 2567 สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า การประชุมวันนี้ มีวาระหนึ่งที่น่าสนใจ คือการขอความสนับสนุนให้รัฐบาลไทยผลักดันการลงนามให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ซึ่งไทยเป็นประเทศสมาชิกอยู่ ฉบับที่ 87 และ 98 


อนุสัญญาทั้งสองฉบับมีความสำคัญ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และ คุ้มครองสิทธิในการรวมตัว (ฉบับที่ 87) และ สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม (ฉบับที่ 98) มีขึ้นตั้งแต่ ปี 1948 และ 1949 ตามลำดับ หรือมากว่า 70 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ได้รับรองเรื่องดังกล่าว บางรัฐบาลบอกว่าจะลงนาม แล้วก็ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อไปศึกษาผลดีผลเสีย จากนั้นก็เงียบหายไป การลงสัตยาบันทั้ง 2 ฉบับจึงอยู่ในข้อเรียกร้องของพี่น้องขบวนการแรงงานไทยมาตลอดหลายสิบปี โดยเฉพาะข้อเรียกร้องในวันแรงงาน จนถึงวันนี้ ตนไม่คิดว่าจะต้องศึกษากันอีกแล้ว 


สหัสวัต ยังอธิบายว่าอนุสัญญาฉบับที่ 87 นั้น ให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มรวมตัว เพื่อนำไปสู่อำนาจในการต่อรองในฉบับที่ 98 ซึ่งจะต้องมาควบคู่กัน จะรับหนึ่งฉบับ ไม่รับหนึ่งฉบับนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง เพราะแรงงานจะรวมตัวกันเพื่ออะไร หากไม่ใช่เพื่อต่อรอง และแรงงานจะเอาอำนาจที่ไหนมาต่อรองหากไม่มีการรวมตัว ตนจึงขอยืนยันว่าสิทธิการรวมตัวและสิทธิการต่อรอง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ใช่แค่สิทธิแรงงานด้วยซ้ำ สวัสดิการ ค่าแรง เวลาทำงาน วันหยุดและคุณภาพในการทำงานที่ดีขึ้น เรื่องเหล่านี้ล้วนได้มาจากการรวมตัวและการต่อรองของพี่น้องแรงงานที่ทำข้อเสนอทุกปี ๆ ทั้งสิ้น 


“การลงสัตยาบันในอนุสัญญาทั้งสองฉบับเป็นเรื่องที่ต้องทำทันที เพื่อเป็นการรับรองสิทธิที่แรงงานทุกคนควรจะมีจะได้ ขบวนการแรงงานไทยถูกแช่แข็งมายาวนาน ในฐานะกรรมาธิการการแรงงาน ผมจะผลักดันเรื่องนี้อย่างสุดความสามารถ หวังว่าหากสามารถลงสัตยาบันในอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับได้ จะเป็นบันไดขั้นสำคัญในการขยับสิทธิแรงงาน เพิ่มความแข็งแรงให้กับขบวนการแรงงาน จึงขอส่งเสียงไปยังรัฐบาลว่าหากต้องการยกระดับสิทธิและคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงาน การให้สัตยาบันอนุสัญญา 2 ฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน” สหัสวัตกล่าว


สส.ชลบุรี ยังแสดงความกังวลต่อดิสรัปชันในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นล่าสุดโรงงานผลิตยานยนต์หลายแห่งเตรียมปิดกิจกรรม ย้ายฐานการผลิต เนื่องจากการมาของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ผนวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ตนอยากเห็นประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญา ILO เพื่อการกำกับดูแลในส่วนของสิทธิต่อรอง หากมีการเลิกจ้างหรือลอยแพแรงงานเกิดขึ้น จะเป็นการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานไทย ให้ได้รับการดูแลที่ดียิ่งขึ้น


โดยเฉพาะตอนนี้ ที่ไทยกำลังเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นจังหวะอันดีที่เราจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาทั้งสองฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของ EU และเป็นการยืนยันว่าไทยพร้อมในทุกมิติในการดำเนินการ FTA กับสหภาพยุโรป สร้างความสง่างาม ความมั่นใจในการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กรรมาธิการแรงงาน