วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ปิดท้ายเดือนสีรุ้ง! “นายกฯ” โบกธงปล่อยพาเหรด “LOVE PRIDE ♡ PARADE 2024” ส่งท้ายเดือนแห่ง pride ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญคนทุกกลุ่ม ขอทุกคนร่วมผลักดันไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ขณะ “ศุภลักษณ์” ขอทุกคนให้กำลังใจ “เศรษฐา” เหตุทำงานหนักไปทุกหนทุกแห่ง

 


ปิดท้ายเดือนสีรุ้ง! “นายกฯ” โบกธงปล่อยพาเหรด “LOVE PRIDE ♡ PARADE 2024” ส่งท้ายเดือนแห่ง pride ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญคนทุกกลุ่ม ขอทุกคนร่วมผลักดันไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ขณะ “ศุภลักษณ์” ขอทุกคนให้กำลังใจ “เศรษฐา” เหตุทำงานหนักไปทุกหนทุกแห่ง


วันที่ 30 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Love Pride ♡ Parade 2024 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ (ศุภชลาศัย) ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ไทยสู่การเป็น Pride Friendly Destination ต่อยอดผลักดันไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030  ถือเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้าย Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงาน


นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า งานครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม  LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่รัฐบาลไม่เคยละเลยและตั้งใจเต็มที่ในการยกระดับสิทธิขั้นพื้นฐาน  ซึ่งปีนี้แตกต่างจากปีก่อนๆ เพราะพรบ.สมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว ถือเป็นความน่าปลาบปลื้มใจ


นอกจากนี้รัฐบาล ยังพร้อมให้การสนับสนุนงานคล้ายให้เป็นเฟสติวัลที่สำคัญ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีศักยภาพสูง รัฐบาลสนับสนุนให้มีการจัดเทศกาลPrideทั่วประเทศ เพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิทธิ ความเสมอภาคและความหลากหลายทางเพศ และจะผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพการจัดเวิลด์ไพรด์ 2030


แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายขั้นตอน เราต้องช่วยกันผลักดันอีกหลายพรบ.เพื่อทำให้ประเทศไทยเข้าเป็นแคนดิเดตให้ได้ งานวันนี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทยในด้านความเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวทั่วโลก ยังสามารถส่งต่อแนวคิดสร้างสรรค์ซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านขบวนพาเหรดที่สื่อความหลากหลายของประเทศทั้งเทศกาล ประเพณี แฟชั่น อาหารและกีฬา


ทั้งนี้ตนขอขอบคุณภาครัฐภาค เอกชนและภาคีเครือข่าย ที่ร่วมกันจัดงานวันนี้ ให้เป็นวาระของการสื่อสารความหมายของการเท่าเทียมทางสังคม


ขณะที่นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในฐานะรองประธานภาคีเครือข่ายภาคเอกชน กล่าวบนเวทีว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเหนื่อยมาก ไปทุกหนทุกแห่ง เพิ่งลงจากเครื่องบิน แล้วเดี๋ยวก็จะกลับไปอีสานต่อ ขอให้เชียร์ท่านนายกฯ เยอะฯ ท่านทำงานหนักมาก ท่านจะได้มีกำลังใจ ท่านเศรษฐา การจัดงานในครั้งนี้ เราจะช่วยกันทำให้ประทับใจ มีความหวังให้ได้ ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันสมัครสมานสามัคคีกัน เราก็มีศรัทธาประเทศไทยจึงไปรอดและไปได้ดี


จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะได้ร่วมปล่อยขบวนพาเหรดที่ยาวที่สุดในเอเชีย 6 กิโลเมตร  ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีรุ้ง โดยตกแต่งขบวนพาเหรดตามแนวคิดการสนับสนุนยุทธศาสตร์ Soft Power ในหลากหลายมิติ อาทิ การปลุกกระแสแฟชั่นผ้าขาวม้าไทยสู่ระดับโลก แสดงถึงความรัก ความเท่าเทียม และความเสมอภาค


โดยขบวนจะเคลื่อนจาก สนามกีฬาแห่งชาติ ไปตามถนนพระราม 1 ผ่านย่านปทุมวัน สยาม ราชประสงค์ เพลินจิต อโศก สุขุมวิท ไปสิ้นสุดที่อุทยานเบญจสิริ ระหว่างเวลาประมาณ 16.00 - 18.30 น.


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #PrideMonth 















“พิธา” ชี้ ผลนิด้าโพลความนิยมอันดับ 1 ขอยกความดีความชอบให้ทุกคนในพรรค ที่ทำให้ประชาชนไว้วางใจ พร้อมให้กำลังใจ “เศรษฐา”

 


“พิธา” ชี้ ผลนิด้าโพลความนิยมอันดับ 1 ขอยกความดีความชอบให้ทุกคนในพรรค ที่ทำให้ประชาชนไว้วางใจ พร้อมให้กำลังใจ “เศรษฐา”


วันที่ 30 มิ.ย. 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษา​หัวหน้า​พรรค​ก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึง ผลโพลไตรมาส 2 ที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลได้คะแนนอันดับ 1 เป็นการตอกย้ำว่าหากยิ่งยุบพรรค จะยิ่งโตหรือไม่ ว่า ไม่ได้ตอกย้ำตรงนั้น ซึ่งการได้คะแนนนิยมเป็นอันดับ 1 ต้องยกความดีความชอบให้เพื่อนๆพรรคก้าวไกลทุกคน รวมถึงทีมงานจังหวัด ทีมพื้นที่ พนักงาน สมาชิกพรรค ว่าที่ผู้สมัคร และ สส. ที่ทำงานกันอย่างหนัก พิสูจน์ตัวเองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจ


อย่างที่สองตนต้องขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณพ่อแม่พี่น้องประชาชน ที่ร่วมทำโพล และให้ความไว้วางใจ พรรคก้าวไกลเราจะไม่ทำให้ทุกท่านต้องผิดหวัง และเป็นเครื่องเตือนใจว่าเรายิ่งต้องทำงานให้หนักขึ้นสมกับความคาดหวัง ยิ่งคาดหวังเยอะ เราก็ต้องทำงานหนักเต็มที่


อย่างที่สาม ตนไม่ได้คิดว่าต้องมาดูตัวเลขไตรมาสต่อไตรมาส มันต้องดูความต่อเนื่อง อัตราการเพิ่มหรือลด ที่กังวลก็คือคนที่มาเป็นที่ 2 คือยังหาบุคคลที่เหมาะสมไม่ได้ 20% ตนคิดถึงปี 2565-2566 ช่วงก่อนหน้า ตัวเลขนี้แค่ประมาณ 18% ไม่ถึง 20% มันแสดงออกอะไรได้หลายอย่าง


“ผมก็ต้องไปนั่งคิด เตรียมกระบวนการทำงาน เพื่อที่จะเข้าใจว่า 20% อะไรที่ทำให้เขานอนไม่หลับ แล้วทำให้ 20 % นี้ มารวมกับ 45-50% ของผมให้ได้ เพื่อที่จะเปลี่ยนใจให้เขารู้ว่าผมคือตัวแทนของเขา ผมคือแคนดิเดตของเขา” นายพิธา กล่าว


นายพิธา ระบุว่า ผลคนโหวตหาบุคคลเหมาะสมไม่ได้ สะท้อนว่าการเมืองทั้งระบบไม่ตอบโจทย์ ซึ่งก็ตรงกับที่อภิปรายงบประมาณ ตนไม่ได้เล่นคำ Ignite กับ Ignore ให้เป็นวาทกรรม แต่ตนรู้สึกว่ามีคนที่ถูกทอดทิ้งในระบบการเมืองไทยจริงๆ มีคนไม่มีปากเสียงในระบบการเมืองไทยจริงๆ แล้วตนอยากรู้ว่าตัวเลข 20% ที่ขึ้นลง สะท้อนอะไรบ้างเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา


เมื่อถามว่าตามโพล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มาเป็นอันดับ 3 มองปรากฎการณ์อย่างไรนายพิธา กล่าวว่า ตนคงจะพูดในมุมที่อยากจะพูดกับตนเองเหมือนกัน ว่าต้องพิสูจน์ตัวเองในการทำงานหนัก ไม่ได้ต้องรู้สึกผิดหวังจากตัวเลขที่ลดลง ตนก็เคยโพลลดลง มันก็ไม่ได้ทำให้ย่อท้อหรือรู้สึกว่าอยากจะทำงานการเมืองน้อยลง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกว่าเสียกำลังใจ เพราะในช่วงที่บ้านเมืองลำบากยากแค้นขนาดนี้ ต้องมีกำลังใจดีและพร้อมที่จะทำงานเพื่อประชาชนอยู่เสมอ ตนขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรี


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #นิด้าโพล

“พิธา” ย้ำ กกต. กำลังสร้างสองมาตรฐาน ทำผิดขั้นตอน ไม่เปิดโอกาสชี้แจงคดียุบพรรคก่อนส่งศาล ยกคำวินิจฉัยปี 53 ศาลรัฐธรรมนูญเคยปัดตกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ กกต. ทำผิดขั้นตอนเช่นกัน

 


พิธา” ย้ำ กกต. กำลังสร้างสองมาตรฐาน ทำผิดขั้นตอน ไม่เปิดโอกาสชี้แจงคดียุบพรรคก่อนส่งศาล ยกคำวินิจฉัยปี 53 ศาลรัฐธรรมนูญเคยปัดตกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ กกต. ทำผิดขั้นตอนเช่นกัน

 

วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าจากการแถลงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 พรรคก้าวไกลมีข้อต่อสู้ทั้งหมด 9 ข้อ ในประเด็นว่าด้วยเขตอำนาจและกระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ โดยเน้นย้ำในประเด็นว่ากระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย, คำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันกับการพิจารณาคดีนี้ และโทษยุบพรรคเป็นมาตรการสุดท้ายที่ใช้เมื่อจำเป็นฉุกเฉินและไม่มีวิธีแก้ไขอื่น

 

ส่วนการแถลงในวันนี้เป็นเรื่องความคืบหน้าต่อเนื่อง ซึ่งตนจะขอเน้นย้ำถึงกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้กระบวนการยุบพรรคมีสองมาตรฐาน เพราะ กกต. อ้างว่าในกรณีของพรรคก้าวไกลใช้แค่มาตรา 92 ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคได้ เพราะ “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ทั้งที่มาตรา 93 เขียนไว้ชัดเจนว่าต้องต่อเนื่องจากมาตรา 92 ถ้าตีความอย่างเคร่งครัดคือไม่สามารถใช้แยกกรณีกันได้ ถ้าใช้แยกกรณีกันเมื่อใดหมายความว่ามีสองมาตรฐานในการยื่นยุบพรรคทันที บางพรรคที่อยากให้เร็วก็ใช้เฉพาะมาตรา 92 แต่พรรคใดที่อยากให้ช้าหน่อยก็ใช้มาตรา 92 ประกอบกับ 93 ถ้าปล่อยให้ใช้แยกกันย่อมหมายความว่าจะเป็นการส่งพรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วน แต่พรรคอื่นไปทางธรรมดา เป็นสองมาตรฐานที่ต้องตั้งคำถามว่า กกต. สามารถใช้ดุลยพินิจเช่นนี้ โดยไม่ต้องมีการถ่วงดุลและมีส่วนร่วมได้ด้วยหรือ

 

พรรคก้าวไกลจึงยืนยันว่า กกต. ไม่สามารถตีความมาตรา 92 แยกออกจากมาตรา 93 ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดสองมาตรฐานทันที ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน และทุกพรรคการเมืองควรได้รับสิทธิในกระบวนการที่ กกต. กำหนดขึ้นมาเอง โดยต้องเปิดโอกาสให้พรรคที่ถูกร้องได้รับทราบข้อเท็จจริงและต่อสู้ทางกฎหมายในชั้น กกต. ไม่สามารถปล่อยให้การยุบพรรคมีสองช่องทางได้

 

ขณะเดียวกัน เมื่อมาตรา 93 ระบุว่า กกต. ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กกต. จึงออกระเบียบเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 92 และ 93 ขึ้น โดยสรุปได้ว่าต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องมีโอกาสรับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งด้วยหลักฐานในชั้น กกต. ซึ่งระเบียบดังกล่าวทำให้คดียุบพรรคก้าวไกลกับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติที่เกิดขึ้นก่อนการออกระเบียบดังกล่าวไม่เหมือนกัน

 

เรื่องนี้ถูกตอกย้ำโดยเอกสารคำอธิบายกระบวนการที่ กกต. จัดทำขึ้นมาเองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ระบุว่าในกระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรคต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบและมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้น กกต. ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีทางด่วนและทางธรรมดา ทุกอย่างต้องลงมาในกระบวนการเดียวกันทั้งหมด ไม่มีข้อใดที่ระบุว่าเพียง “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ก็สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องโต้แย้งในชั้น กกต.

 

พิธากล่าวต่อไปว่า การทำคำร้องยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ กกต. มีวัตถุคดีชิ้นเดียว คือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่าไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้ ด้วยเหตุว่าเป็นคนละข้อหากัน เพราะคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นข้อกล่าวหาตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนคดีปัจจุบันเป็นข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 และ 93

 

นอกจากคนละข้อหากันแล้ว ความหนักของโทษก็ต่างกัน คือสั่งให้เลิกการกระทำ กับสั่งให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค การที่ กกต. ออกมาแถลงว่าคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าและเป็นวัตถุคดีเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้โต้แย้ง จึงเป็นวัตถุคดีที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

 

พิธาแถลงต่อไปถึงความคืบหน้าล่าสุด ซึ่งสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลทำบันทึกถ้อยคำภายใน 7 วัน เพื่อตอบ 2 คำถามสำคัญสำหรับใช้ในการนัดพิจารณาครั้งถัดไปคือวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 และการนัดคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 กรกฎาคม 2567

 

2 คำถามที่พรรคก้าวไกลได้รับมาคือ 1) พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งต่อ กกต. ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต. หรือไม่ และ 2) การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่

 

โดยคำถามข้อที่ 1 คำตอบคือ ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งในชั้น กกต. จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคก้าวไกลจะเรียกร้อง กกต. ให้ทำตามกระบวนการ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดหน้าที่ให้พรรคต้องโต้แย้งในกรณีที่ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการ

 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีความคล้ายคลึงกัน คือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ 15/2553 ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยยกคำร้องเพราะ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการมาแล้ว ด้วยเหตุว่านายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ทำความเห็นส่งไปยัง กกต. ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคที่น้อยกว่ากระบวนการยุบพรรคก้าวไกลวันนี้ด้วยซ้ำ แต่ศาลก็ยกคำร้อง

 

ความผิดเพียงเล็กน้อยศาลยังยกคำร้อง ดังนั้นในกรณีของพรรคก้าวไกลที่ กกต.ข้ามขั้นตอน ปิดโอกาสในการชี้แจงซึ่งเป็นความผิดพลาดที่มากกว่า ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้นว่าควรยกคำร้อง” พิธากล่าว

 

ส่วนในคำถามที่ 2 พรรคก้าวไกลตอบไปว่า พรรคไม่สามารถตอบต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะข้อกล่าวหาคำว่า “การกระทำเป็นการล้มล้างและอาจเป็นปฏิปักษ์” เป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/2567 ที่กล่าวหาว่า “ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ” เพียงอย่างเดียว

 

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ แต่ในเมื่อเป็นคนละข้อหาและเป็นประเด็นใหม่ ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต. ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน แต่ในเมื่อ กกต. ปิดประตูใส่ พรรคก้าวไกลก็ไม่มีโอกาสได้ไปชี้แจง ไม่มีช่องทางในการท้วงติง และในเมื่อเป็นประเด็นใหม่และขอบเขตใหม่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยกระบวนการใหม่เท่านั้น

 

ถ้าเกิดมันมีสองมาตรฐานแบบนี้ได้ ถ้า กกต. อยากยุบพรรคไหนเป็นพิเศษก็ส่งขึ้นทางด่วน ใช้ 92 อย่างเดียว พรรคไหนไม่อยากยุบเร็ว อยากประวิงเวลาให้ก็ส่งไปทางธรรมดา ใช้มาตรา 93 เข้ามาช่วย คุณเลือกใช้แบบนี้ไม่ได้ มันทำให้เกิดสองมาตรฐานในประเทศไทย รวมถึงไม่สามารถบอกว่าคดีนั้นจบก็ถือว่าเอาคดีนั้นมาผูกพันกับคดีนี้ ถือเป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ซึ่งเป็นเรื่องดุลยพินิจล้วน ๆ เรื่องที่โทษรุนแรงขนาดนี้ไม่สามารถที่จะใช้ดุลพินิจโดยไม่มีการถ่วงดุลได้” พิธากล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #กกต #ยุบพรรค




“รมช.มท.เกรียง” มอบแนวทางกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขยายตลาดไทย-เทศ สร้างเงินล้าน ปลุกศักยภาพกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ รุกแพลตฟอร์มออนไลน์ - เผยรัฐบาลเตรียมยกระดับกองทุนฯ พัฒนาทักษะต้นน้ำจนปลายน้ำ


“รมช.มท.เกรียง” มอบแนวทางกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขยายตลาดไทย-เทศ สร้างเงินล้าน ปลุกศักยภาพกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ รุกแพลตฟอร์มออนไลน์ - เผยรัฐบาลเตรียมยกระดับกองทุนฯ พัฒนาทักษะต้นน้ำจนปลายน้ำ


วันที่ 30 มิถุนายน 2567 นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการมอบแนวทางการดำเนินงาน “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” พร้อมให้กำลังใจผู้เข้าร่วมโครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกโครงการตัวอย่าง ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจัดโดยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยตั้งแต่ปี 2555 สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดและนโยบาย ในเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี อยากให้สตรีมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับสร้างงาน สร้างอาชีพ สามารถเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว จึงมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้น ซึ่งในเริ่มแรก สตรีจะต้องรวมกลุ่มกัน กลุ่มละ 5 คน สามารถกู้ได้ 100,000 บาท ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลในขณะนั้น ได้ย้ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้กำกับดูแล และปรับปรุงระเบียบ ให้สามารถรวมกลุ่มกันได้ 3 คน และกู้ได้ 200,000 บาท


นายเกรียง ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสให้กับประชาชน โดยเพิ่มวงเงินกู้ในกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มขึ้น และทำให้กองทุนใหญ่ขึ้นจากการกู้ 3 คน เป็น 5 คน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน รัดกุม รวมถึงได้มีการฝึกอาชีพ


"ขอเป็นกำลังใจให้สตรีทุกท่านที่มาร่วมในการอบรมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีพลังสตรีขับเคลื่อนประเทศในวันนี้ ท่านคือตัวอย่างของกลุ่มสตรี ที่ใช้เงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไปประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จ บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องการให้หญิงชายเท่าเทียมกัน หรือแม้กระทั่งกลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มเยาวชนสตรี ได้มีโอกาสในสังคม ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ พวกเราต้องช่วยกันเป็นกระบอกเสียง เพื่อป่าวประกาศให้รู้ว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ของพวกเรายังอยู่ เราเคยทำโครงการดีๆสำเร็จมาแล้ว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และจะทำต่อไปในอนาคต กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คือโอกาสดีๆ ที่รัฐบาลพร้อมเปิดรับ และสามารถช่วยผู้หญิงอีกจำนวนมาก ให้ยืนบนลำแข้งตัวเอง และยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้ชาย ให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้พลังสตรี เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายเกรียง กล่าว


ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังได้บรรยายให้ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับทราบแนวทางการยกระดับกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมเสวนาให้ความรู้ “อนาคตของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” โดยนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ผู้แทนคณะร่างนโยบายกองทุนสตรีแห่งชาติ และนายอรรฆรัตน์ นิติพน หรือ “ก้อง อายุน้อยร้อยล้าน”


ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกโครงการตัวอย่าง แก่ผู้ที่รวมกลุ่มดำเนินโครงการ นำเงินกองทุนฯ ไปต่อยอด จนประสบความสำเร็จแล้ว จังหวัดละ 3 โครงการ รวม 231 โครงการ มาร่วมประชุม อบรม และแข่งขันกัน เพื่อต่อยอดตลาดใหม่ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และหาอินฟลูเอ็นเซอร์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งจะมีการตัดสินผลรางวัลในเดือนสิงหาคม โดยตัดสินจากยอดขาย ยอดการเข้าถึง (Engagement) รวมถึงการสร้างความประทับใจแก่กรรมการผู้ตัดสิน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้ที่ประสบความสำเร็จ ไปขยายผลกับสมาชิกกองทุนในแต่ละจังหวัด และเพื่อสร้างการรับรู้ความสำเร็จ และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และเพื่อให้กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีช่องทางการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สามารถสร้างการรับรู้เป็นที่รู้จักของสาธารณชน รวมถึงสร้างการรับรู้ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่สามารถยกระดับสตรีได้จริง


ทั้งนี้ ภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมอบรม จะได้รับความรู้ แนวคิด และขั้นตอนการปฏิบัติจากอินฟลูเอนเซอร์ ทั้ง “เล่าเรื่องอย่างไรให้มีราคา” โดยนางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ แขก คำผกา ผู้ประกาศ/ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย, “ทำ Content อย่างไรให้ปัง” โดยนางสาวปัญจพร พันธเสน” บริษัท กุเลาทองแม่แป้น จำกัด, การบรรยายการใช้ Tik Tok สร้างยอดขายทะลุล้าน หรือ “Tik Tok Seller ทะลุล้าน” โดยก้อง อรรฆรัตน์ นิติพน หรือ ก้องอายุน้อยร้อยล้าน


นอกจากนั้น ผู้เข้าอบรมจะแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ (Work Shop) การพลิกโฉมสินค้าบ้าน ๆ เป็นของที่ทุกคนต้องมี โดยทีมวิทยากรจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, แบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการสร้างร้านค้าบน Tik Tok เป็นต้น 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี




“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจของประชาชน “พิธา-ก้าวไกล” ยังครองใจประชาชน ทิ้งห่าง “เศรษฐา-เพื่อไทย”

 


“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจของประชาชน “พิธา-ก้าวไกล” ยังครองใจประชาชน ทิ้งห่าง “เศรษฐา-เพื่อไทย”


วันที่ 30 มิถุนายน 2567 “นิด้าโพล” เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง "การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2-2567" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง ดังต่อไปนี้


เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า


อันดับ 1 ร้อยละ 45.50 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล)

อันดับ 2 ร้อยละ 20.55 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 

อันดับ 3 ร้อยละ 12.85 นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) 

อันดับ 4 ร้อยละ 6.85 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ)  

อันดับ 5 ร้อยละ 4.85 นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) 

อันดับ 6 ร้อยละ 3.40 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)  

อันดับ 7 ร้อยละ 2.05 นายอนุทิน ชิญวีรกูล(พรรคภูมิใจไทย) 


ร้อยละ 3.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) พลตำรวจเอกทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย)


และร้อยละ 0.55 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า


อันดับ 1 ร้อยละ 49.20 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล

อันดับ 2 ร้อยละ 16.85 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ 3 ร้อยละ 15.00 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 4 ร้อยละ 7.55 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ

อันดับ 5 ร้อยละ 3.75 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 6 ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย

อันดับ 7 ร้อยละ 1.75 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ

อันดับ 8 ร้อยละ 1.55 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย


ร้อยละ 1.05 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคไทยภักดี


และร้อยละ 1.10 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิด้าโพล #ก้าวไกล #เพื่อไทย



‘ก้าวไกล’ แถลงความคืบหน้าคดียุบพรรคพรุ่งนี้ (30 มิ.ย. ) ‘พิธา’ ยันไม่กดดัน - ชี้นำศาล รธน. ย้ำเป็นพรรคตัวแทนของประชาชน มีหน้าที่ต้องชี้แจงกระบวนการให้ประชาชนทราบ

 


‘ก้าวไกล’ แถลงความคืบหน้าคดียุบพรรคพรุ่งนี้ (30 มิ.ย. ) ‘พิธา’ ยันไม่กดดัน - ชี้นำศาล รธน. ย้ำเป็นพรรคตัวแทนของประชาชน มีหน้าที่ต้องชี้แจงกระบวนการให้ประชาชนทราบ


วันที่ 29 มิถุนายน 67 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแถลงความคืบหน้าการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ในวันพรุ่งนี้ว่า รายละเอียดจะขอแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.)ครั้งเดียว แต่ก็มีความคืบหน้า หลังจากที่มีการแถลงเปิดข้อต่อสู้เมื่อครั้งก่อน ซึ่งเมื่อมีความคืบหน้าพรรคก้าวไกล ก็ต้องการจะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ


นายพิธายืนยันว่า การแถลงข่าววันพรุ่งนี้ ไม่ได้เป็นการชี้นำหรือกดดันศาล แต่เมื่อมีความคืบหน้า พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน มีหน้าที่ในการชี้แจงให้ทราบว่า กระบวนการนั้นดำเนินไปถึงไหนแล้ว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้


เมื่อถามย้ำถึงความคาดหวังถึงผลการประชุมพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ จะให้เปิดการไต่สวนหรือไม่ นายพิธา ระบุว่า เท่าที่ตัวเองทราบจากข่าว ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการพิจารณาคดีอย่างไรต่อ ส่วนวันที่ 9 กรกฎาคม เป็นการนัดตรวจพยานหลักฐานของผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง ซึ่งตัวเองจะอธิบายว่า ก่อนที่จะไปถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนั้น มีความคืบหน้าที่พรรคดำเนินการอยู่ แต่จะขอยกยอดอธิบายในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากหากอธิบายนิด ๆ หน่อย ๆ อาจเข้าใจผิด


#UDDnews  #ยูดีดีนิวส์  #ก้าวไกล #ศาลรัฐธรรมนูญ #กกต #พิธาลิ้มเจริญรัตน์

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ก้าวไกลร่วมขบวน “ไทยแลนด์ไพรด์” เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียมในฐานะก้าวแรกของความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมผลักดันก้าวต่อไปให้กฎหมาย “คำนำหน้าตามสมัครใจ” เป็นวาระหลักของสังคม

 



ก้าวไกลร่วมขบวน “ไทยแลนด์ไพรด์” เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียมในฐานะก้าวแรกของความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมผลักดันก้าวต่อไปให้กฎหมาย “คำนำหน้าตามสมัครใจ” เป็นวาระหลักของสังคม

 

วันที่ 29 มิถุนายน 2567 พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนความหลากหลายทางเพศ พร้อมด้วย สส.ของพรรคกว่า 50 คน ร่วมขบวน “ไทยแลนด์ไพรด์” (Thailand Pride) เพื่อยืนยันในสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ และร่วมเฉลิมฉลองให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศหลังจากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว

 

ขบวนเริ่มต้นจากหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผ่านถนนเสรีไทยและถนนลาดพร้าว ไปสิ้นสุดที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์บางกะปิ โดยพรรคก้าวไกลอยู่ในชุดขบวน “Alliances & LGBTQ Friends” เพื่อยืนยันถึงการเป็นแนวร่วมสำคัญของพี่น้องผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อ “คืนสิทธิ์ คืนศักดิ์ศรี ให้เราเท่ากัน” ผ่านการแก้กฎหมายและสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคม โดยระหว่างทางมีประชาชนร่วมส่งเสียงให้กำลังใจอย่างคึกคัก

 

ธัญวัจน์กล่าวว่า งานไพรด์คือพื้นที่ที่ทุกคนจะแสดงความภาคภูมิใจในตัวเอง เป็นพื้นที่ของเสียงที่สังคมไม่เคยให้ความสำคัญและได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศหรือการเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องอื่นๆ ดังนั้น ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สส.พรรคก้าวไกลได้เดินทางไปร่วมขบวนไพรด์ที่จัดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จนกระทั่งเวียนมาบรรจบที่งานไทยแลนด์ไพรด์วันนี้ เพื่อร่วมยืนยันว่าเราได้ยินเสียงของผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใดในประเทศนี้ก็ตาม

 

งานไพรด์ในปีนี้จัดขึ้นมากกว่า 23 จังหวัดทั่วประเทศ และในปีถัดไปจะจัดเพิ่มอีกหลายจังหวัด แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องร่วมยืนยันกันให้หนักแน่นคือ งานไพรด์เป็นพื้นที่ของทุกคน เป็นพื้นที่ของการสะท้อนเสียงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่พื้นที่สำหรับการเพิ่มยอดขายหรือหาประโยชน์ส่วนตัวอย่างไม่ถูกต้อง หากยืนยันร่วมกันได้เช่นนี้ ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเดินหน้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้มแข็งต่อไปแน่นอน” ธัญวัจน์กล่าว

 

ธัญวัจน์กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้วันนี้ร่าง พ.ร.บ.สมรมเท่าเทียมจะผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาและเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายภายในปีนี้แล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของความเท่าเทียมทางเพศที่ทุกภาคส่วนต่อสู้มายาวนานหลายทศวรรษ แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นความเท่าเทียมที่เราต้องร่วมกันผลักดันต่อ โดยในก้าวต่อไป พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้าตามสมัครใจ” เข้าสู่สภาฯ อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อคืนสิทธิการเลือกคำนำหน้านามให้สอดคล้องกับเจตจำนงและอัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละบุคคล ลดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตและการยืนยันตัวตนในงานทะเบียนราษฎรต่างๆ รวมถึงเตรียมผลักดันกฎหมายอื่นๆ ในประเด็นการคุ้มครองอาชีพผู้ให้บริการทางเพศ (Sex Worker) การสอนเพศศึกษาในโรงเรียน การสนับสนุนสุขภาพทางเพศ และการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศในสังคมต่อไป

 

ขณะที่พิธากล่าวว่า ขอขอบคุณประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน พรรคการเมือง และทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมให้สำเร็จได้ ถือเป็นก้าวแรกในการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย โดยพรรคก้าวไกลพร้อมก้าวไปต่อกับทุกคนด้วยชุดกฎหมายที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพเสมอภาคเท่าเทียมกัน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ไทยแลนด์ไพรด์ #สมรสเท่าเทียม


















วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2567

จดหมายจากเรือนจำ 28 มิ.ย. 67 “ขนุน - สิรภพ” เขียนด้วยความเคารพ จิตวิญญาณราษฎร ความเชื่อที่ว่า “เราทำได้” สู่จุดเปลี่ยนในชีวิต ที่ทำให้เข้าถึงคำว่า “รัฐศาสตร์ คืออะไร”

 


จดหมายจากเรือนจำ 28 มิ.ย. 67 “ขนุน - สิรภพ” เขียนด้วยความเคารพ จิตวิญญาณราษฎร ความเชื่อที่ว่า “เราทำได้” สู่จุดเปลี่ยนในชีวิต ที่ทำให้เข้าถึงคำว่า “รัฐศาสตร์ คืออะไร” 


วันนี้ (28 มิ.ย. 67) เฟสบุ๊ค panusaya sithijirawattanakul โพสรูปจดหมายและข้อความในจดหมายระบุว่า 


สวัสดีครับผมขนุน-สิรภพ คงเป็นคำพูดประจำที่ผมมักไว้ใช้เพื่อแนะนำตัว แต่ถ้ามองย้อนกลับไปยังภูมิหลังของผมคงพูดได้ว่าน้อยคนนักที่จะรู้ ไม่ว่ารู้หรือไม่ผมเคยเรียนศิลป์ญี่ปุ่น ใครจะรู้บ้างว่าผมเคยไม่ตั้งใจเรียนมาก่อน แล้วสิ่งใดล่ะที่ทำให้ผมพลิกผันได้ถึงเพียงนี้ละ ถ้าย้อนกลับไปในสมัยม.4 อย่างที่บอกไป ผมไม่เอาไหนด้านการเรียน ทุกคนรู้ผมไม่เอาไหน แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในวันที่โรงเรียนเปิดรับสมัครประธานนักเรียน/กรรมการนักเรียน


ผมหันไปพูดเล่น ๆ กับเพื่อนว่าคิดว่าพวกเราจะทำได้มั้ยวะ เพื่อนผมพูดว่ามีแค่พวกสายวิทย์เท่านั้นนะที่ได้ ผมพูดว่าแล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ และใช่ผมกับเพื่อนรวมตัวกันเพื่อลงสมัครและชนะได้ในที่สุดจากการเชื่อว่า “เราทำได้” แต่ทุกความฝันที่อยากจะเปลี่ยนโรงเรียนจบลงด้วยที่ว่าว่าระเบียบอย่างงั้นอย่างงี้ แต่ชีวิตของผมไม่ได้จบลงแค่นี้ เพราะจุดเปลี่ยนของชีวิตผมเริ่มต่อจากนี้


ในช่วง ม.6 ผมได้เล่น FB ตามปกติ แต่มีโพสต์หนึ่งเด่นชัดสะดุดสายตา นั่นคือโพสต์เชิญชวนเข้าร่วมงาน “เปิดบ้านรัฐศาสตร์ จุฬา” คำถามแรกที่เกิดขึ้นภายในภายในหัวคือว่า “รัฐศาสตร์ คืออะไร” และไม่รีรอที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ในวันงานมีกิจกรรมมากมายทั้งเสวนา วงพูดคุยแลกเปลี่ยน และที่สำคัญสภาจำลอง กิจกรรมนี้เองที่เปลี่ยนอนาคตผมไปตลอดกาล ในสภาจำลองผมได้เจอผู้คนต่าง ๆ มากมายและเรื่องราวมากมายเช่นกันที่ผมไม่เคยรับรู้ วินาทีนั้นผมรู้สึกว่าตัวเอง “โง่” มาก แต่สิ่งที่แปลกไปถ้าผมอยู่ในระบบการศึกษาปกติจะถูกทบถมต่าง ๆนานา


แต่พี่คนหนึ่งเดินเข้ามาอธิบายอย่างเป็นมิตรว่า “ไม่รู้ไม่ผิด เรามาเรียนเรียนรู้กันได้” นับแต่นั้นมาผมเลยเปลี่ยนตัวเอง เปิดรับความรู้ใหม่ ๆ อ่านหนังสือ เข้าร่วมงานวิชาการเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และที่สำคัญคือการได้เข้าร่วมกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท (ELS) ความรู้และประสบการณ์ของผมเติบโตอย่างรวดเร็ว เร็วเสียจนผมกระพริบตาอีกที ผมก็ได้เข้ามาเรียน รัฐศาสตร์ การปกครองเสียแล้วที่ มศว.


เวลาผ่านไปจนถึงปี 2020 ที่สังคมขับเคลื่อนครั้งยิ่งใหญ่ ถึงทุกวันนี้ผมยังภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพลังที่เกิดขึ้น ขอบคุณทุกเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนชีวิตของผม หากไม่มีเรื่องราวข้างต้นคงไม่มีผมในทุกวันนี้ ถึงแม้ในวันนี้ความรุนแรงทางกระบวนการที่เกิดขึ้นจะกัดกินจิตวิญญาณของผมมากเพียงใด แต่ในเมื่อวันนี้ที่ผมยังสามารถกลับมาทบทวนที่มาของตนเองได้อยู่ ก็วางใจกันได้นะว่าผมคนนี้ยังคงยืนอยู่บนเส้นทางเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หวังว่าผมจะได้ออกไปในเร็ววัน


แด่ เพื่อนมัธยม เพื่อน มศว เพื่อน ELS และอาจารย์ เพื่อนพี่ชาว CU โดยเฉพาะเนติวิทย์


ด้วยความเคารพ จิตวิญญาณราษฎร

สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ


สำหรับ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน เคยจัดกิจกรรมกลุ่ม ‘มศว คนรุ่นเปลี่ยน’ ปัจจุบันอายุ 23 ปี จบการศึกษาจาก ภาควิชารัฐศาสตร์สาขาการเมืองการปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งแต่ 25 มีนาคม 2567 ในคดีมาตรา 112 ซึ่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 


โดยมีการยื่นขอประกันตัว 5 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการพิจาณาปล่อยตัว ซึ่งครั้งล่าสุด ศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ม.ธรรมศาสตร์ ประกาศวางเดิมพัน โดยใช้ตำแหน่งวิชาการ ยื่นขอสิทธิประกัน 'ขนุน สิรภพ' ให้กลับไปเรียนปริญญาโทต่อและให้เหตุผลที่เชื่อว่าขนุน ไม่คิดหนีแน่นอน แต่ที่สุดก็ถูกยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลระบุว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ซึ่งการไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ส่งผลให้ 'ขนุน สิรภพ' ขาดโอกาสในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ขนุนสิรภพ #มาตรา112 #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน

“รังสิมันต์” จี้รัฐไทยให้ชัด กรณีรัฐทหารเมียนมาใช้ธนาคารไทยโอนถ่ายเงินซื้ออาวุธ ย้ำขณะที่นานาชาติกำลังคว่ำบาตร เราจะปล่อยให้ไทยเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทหารในการปราบปรามประชาชนไม่ได้


รังสิมันต์” จี้รัฐไทยให้ชัด กรณีรัฐทหารเมียนมาใช้ธนาคารไทยโอนถ่ายเงินซื้ออาวุธ ย้ำขณะที่นานาชาติกำลังคว่ำบาตร เราจะปล่อยให้ไทยเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทหารในการปราบปรามประชาชนไม่ได้

 

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการเปิดเผยรายงานจากผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาได้เปลี่ยนมาใช้ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารอื่นๆ ในประเทศไทยในการโยกย้ายโอนถ่ายเงิน เพื่อจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการปราบปรามประชาชน

 

โดยรังสิมันต์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ธนาคารประเทศสิงคโปร์ในการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นหลัก แต่ภายหลังถูกรัฐบาลสิงคโปร์กดดันหนัก และขณะนี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้สั่งปิดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมาทั้งหมดแล้ว จึงจำเป็นต้องย้ายประเทศโอนถ่ายเงิน ซึ่งผลนั้นก็ตกมาอยู่ที่ประเทศไทย

 

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้นานาประเทศกำลังคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมาและเรียกร้องให้เมียนมากลับสู่ระบบประชาธิปไตยโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมถึงไทยก็ได้บรรลุฉันทามติ 5 ข้อต่อสถานการณ์ในเมียนมาไปแล้วเมื่อปี 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อเปิดพื้นที่เจรจาร่วมกันของทุกฝ่าย ดังนั้น เราจึงไม่สามารถปล่อยให้ประเทศไทยกลายเป็นเครื่องมือของกองทัพรัฐบาลทหารในการซื้อขายอาวุธต่อไปได้ และรัฐบาลไทยต้องมีนโยบายที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว

 

ทั้งนี้ รังสิมันต์กล่าวว่า ตนจะใช้กลไกของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป จึงขอให้ประชาชนร่วมกันจับตาและติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รังสิมันต์โรม #ก้าวไกล

'ไอลอว์' เปิดข้อค้นพบเลือกสว.ระดับประเทศ 8 จังหวัด ใครตัวจริงใครตัวโหวต จี้ กกต.สอบหลายรายอาจขาดคุณสมบัติ - สมัครไม่ตรงกลุ่ม

 


'ไอลอว์' เปิดข้อค้นพบเลือกสว.ระดับประเทศ 8 จังหวัด ใครตัวจริงใครตัวโหวต จี้ กกต.สอบหลายรายอาจขาดคุณสมบัติ - สมัครไม่ตรงกลุ่ม

 

วันนี้ (28 มิถุนายน 2567) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU LAW) ร่วมกับ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และ เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง หรือ We Watch เปิดเวทีสรุปบทเรียนและข้อสังเกตจากวันเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยกระบวนการเลือก สว. แบ่งออกเป็นสองขั้นตอน คือ รอบเลือกกันเอง ให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน เลือกกันจนได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 คนแรก เพื่อเข้ารอบต่อไป และรอบเลือกไขว้ ที่จะต้องแบ่งผู้สมัครออกเป็นสี่สาย ได้แก่ สาย ก. สาย ข. สาย ค. และสาย ง. ในแต่ละสายจะมีผู้สมัครห้ากลุ่ม และต้องลงคะแนนเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันจนได้ สว. ตัวจริง คือผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก และห้าตัวสำรอง ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 11-15 ซึ่งกระบวนการดังกล่าวแล้วเสร็จในเวลา 04.52 น. ของวันที่ 27 มิถุนายน 2567 กินเวลาประมาณ 21 ชั่วโมง

 

จากการสังเกตการณ์กระบวนการเลือก สว. ในระดับประเทศ โดยองค์กรเครือข่าย senate67 และจากการสืบค้นข้อมูลผู้สมัคร สว. ที่เข้าสู่รอบระดับประเทศ จำนวน 800 คนจาก 20 กลุ่ม ผ่านเอกสารข้อมูลผู้สมัคร (สว. 3) ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลอื่นประกอบเพิ่ม มีข้อสังเกตและข้อค้น ว่า

 

ใน 8 จังหวัดที่มีผู้ผ่านเข้ารอบไขว้ 258 คน และได้เป็น สว.จริง 52 คน โดยในรอบแรกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, บุรีรัมย์, สตูล มีผู้ผ่านเข้ารอบ 38 คน จังหวัดอ่างทอง, เลย 37 คน จังหวัดอำนาจเจริญ 36 คน จังหวัดยโสธร 34 คน จังหวัดสุรินทร์ 28 คน จังหวัดนครนายก และตรัง 19 คน เมื่อเทียบสัดส่วนของ สส.พรรคภูมิใจไทย

 

และใน8 จังหวัด พบว่า พระนครศรีอยุธยามี สส.ภูมิใจไทย 3 จากทั้งหมด 5 คน บุรีรัมย์ยกจังหวัด 10 คน สตูล, อำนาจเจริญ และอ่างทองยกจังหวัด 2 คน เลย มี สส.ภูมิใจไทย 1 จากทั้งหมด 4 คน ยโสธรมี สส.ภูมิใจไทย 2 คน จากทั้งหมด 3 คน และสุรินทร์ 5 คน จาก ทั้งหมด 8 คน

 

เมื่อดูจากผลคะแนนการเลือก สว. ระดับประเทศ มีแปดจังหวัดที่ส่งผู้สมัคร สว. ผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ได้ถึง 258 คน ลำดับที่หนึ่ง ได้แก่ อยุธยา บุรีรัมย์ และสตูล ซึ่งมีผู้สมัครผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ถึง 38 คน อันดับสอง คือ อ่างทองและเลย มีผู้สมัคร สว. ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ 37 คน อันดับสาม อำนาจเจริญ มีผู้ผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ 36 คน ตามมาด้วยยโสธร ที่มีผู้ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ 34 คน และสุรินท์ มีผู้ผ่านเข้ารอบ 28 คน หากดูเชิงพื้นที่ของจังหวัดดังกล่าว พบว่าหลายจังหวัด เช่น อยุธยา บุรีรัมย์ สตูล อ่างทอง อำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ เป็น “จังหวัดภูมิใจไทย” กล่าวคือ เป็นจังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยครองพื้นที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เกินครึ่งหรือทั้งจังหวัด

 

ซึ่งหากดูจำนวนของผู้ได้เป็น สว. จากทั้งแปดจังหวัด รวมแล้วมี 52 คน หรือคิดเป็นหนึ่งในสี่ของวุฒิสภาชุดใหม่ซึ่งมีจำนวน 200 คน

 

เมื่อดูผลคะแนนของผู้สมัครที่ผ่านรอบเลือกกันเองเพื่อไปต่อรอบเลือกไขว้ยัง “เกาะกลุ่ม” ไล่เลี่ยกันอยู่บ้าง ไม่ได้ปรากฏชัดว่ามีผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงทิ้งโดดจากผู้สมัครคนอื่นๆ ที่มาจากจังหวัดเดียวกัน แต่ในรอบเลือกไขว้ กลับแตกต่างออกไป โดยปรากฏให้เห็นว่ามีผู้สมัครที่ได้เป็น สว. ได้คะแนนสูงโดด ขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆ จากจังหวัดเดียวกันได้คะแนนน้อย เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ ในทุกกลุ่ม ผู้ที่ได้เป็น สว. ได้คะแนนสูงโดด โดยภาพรวมได้คะแนนที่ประมาณ 50 คะแนนขึ้นไป ผู้ที่ได้เป็น สว. ที่ได้คะแนนน้อยที่สุด อยู่ที่ 26 คะแนนด้านผู้ได้คะแนนสูงสุด อยู่ที่ 72 คะแนน ขณะที่ผู้ที่ตกรอบได้คะแนนน้อยเพียงหลักหน่วยเท่านั้น ทำนองเดียวกัน ผู้สมัคร สว. จากจังหวัดเลยที่ได้รับเลือกเป็น สว. ผลคะแนนในรอบเลือกไขว้สูงโดด ขณะที่ผู้ตกรอบไปได้คะแนนเพียงหลักหน่วยเท่านั้น

 

กล่าวโดยสรุปคือ จากการวิเคราะห์ผลการลงคะแนน พอจะมองเห็นได้ว่าใครที่เข้ารอบมาเป็นผู้เลือก (voter) ซึ่งจะได้คะแนนน้อยมากๆ และใครที่เข้ามาเป็นผู้สมัคร สว. ตัวจริง จะได้คะแนนสูงโดด

 

ทั้งยังพบว่าผู้สมัครบางรายอาจขาดคุณสมบัติ สมัครไม่ตรงกลุ่ม-มีลักษณะต้องห้ามการสมัคร สว. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. ไว้หลายประการ และยังกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่รู้ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกและยังสมัครรับเลือก มีโทษจำคุกหนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 74)

 

จากการสืบค้นข้อมูลผู้สมัคร สว. ที่เข้าสู่รอบระดับประเทศ จำนวน 800 คนจาก 20 กลุ่ม ผ่านเอกสารข้อมูลผู้สมัคร (สว. 3) ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลอื่นประกอบเพิ่ม พบว่ามีผู้สมัคร สว. ระดับประเทศบางรายที่อาจขาดคุณสมบัติ ดังนี้

 

กรณีแรก ขาดคุณสมบัติ เพราะมีลักษณะต้องห้าม ตัวอย่างเช่น ปุณณภา จินดาพงษ์ จังหวัดเลย กลุ่ม 12 ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับเลือกเป็น สว. จากการสืบค้นข้อมูล พบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ฉบับที่ 433/2563 พบชื่อของปุณณภาเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ซึ่งใน พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 14 (24) กำหนดลักษณะต้องห้ามผู้สมัคร สว. ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ยกเว้นจะพ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก หรือพูดง่ายๆ คือ ต้องเว้นวรรคมาห้าปี ถึงจะสมัคร สว. ได้ หากดูกรณีของปุณณภา อาจยังเว้นวรรคไม่ครบห้าปี จึงมีลักษณะต้องห้ามไม่สามารถสมัคร สว. ได้ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องตรวจสอบเรื่องนี้

 

กรณีที่สอง ขาดคุณสมบัติ เพราะสมัครไม่ตรงกลุ่ม พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 13 (3) กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร สว. ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี หากดูข้อมูลผู้สมัครที่เขียนในเอกสาร สว. 3 พบว่าผู้สมัครบางกลุ่ม อาจสมัครไม่ตรงกลุ่ม ซึ่ง กกต. ควรจะต้องตรวจสอบว่าผู้สมัครเหล่านั้นมีประสบการณ์ในด้านที่สมัครถึง 10 ปีจริงหรือไม่

 

ตัวอย่างเช่นผู้สมัครในกลุ่ม 5 ทำอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก จิรวุธ บุญรินทร์ ผู้สมัคร สว. จากจังหวัดสตูล ระบุประวัติการทำงานที่ต้องเขียนไม่เกินห้าบรรทัด ในเอกสาร สว. 3 มาว่า ทำสวนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่อาชีพทำสวน ถูกจัดไว้อีกกลุ่ม คือกลุ่ม 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง อีกรายคือ สมพร ชำนาญดง เขียนในเอกสาร สว. 3 ว่า มีอาชีพปลูกผักกินเองและจำหน่ายเป็นอาชีพหลัก ซึ่งควรจะลงกลุ่ม 6 สองคนนี้ไม่ได้เป็น สว. แต่ได้ลงคะแนนเลือกคนอื่น ถ้าหากเขียน สว. 3 มาเพียงเท่านี้ กกต. ก็ควรจะตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติหรือไม่

 

ผู้สมัครในกลุ่ม 6 ทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง วิชิต สุขกำเนิด ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่าเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีคำอธิบายว่าทำไมถึงสมัครกลุ่มทำสวนได้ คำผอง พิลาทอง เขียน สว. 3 ว่าปลูกอ้อย ซึ่งควรจะไปลงสมัครกลุ่ม 5 มากกว่า

 

ผู้สมัครในกลุ่ม 17 ประชาสังคมและองค์กรสาธารณประโยชน์ ชาญชัย ไชยพิศ ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่าเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นนายกสมาคมผู้บริหารและรับราชการครู แต่ไม่ได้เขียนมาว่าเคยประกอบอาชีพหรือมีประสบการด้านประชาสังคมอย่างไร

 

จากกรณีตัวอย่างของผู้สมัครที่อาจขาดคุณสมบัติในการสมัคร สว. บุคคลเหล่านี้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครอื่นจนได้ว่าที่ สว. แล้ว กกต. จึงควรเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรวมถึงผู้ได้รับเลือกเป็น สว.

 

ข้อมูล : ไอลอว์

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สว67