“พริษฐ์” อภิปรายงบ 68 เสนอ 3 แพ็กเกจเปลี่ยนเกม “งบเรียนรู้ตลอดชีวิต” อัดฉีดงบให้ท้องถิ่นดูแลเด็กเล็ก 1,000 วันแรก แนะ ลงทุนเมกะโปรเจกต์ด้านทักษะ อุดหนุนคูปองให้คนทุกช่วงวัย
วันที่ 20 มิถุนายน 2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ในวาระที่ 1 เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับทักษะให้กับประชาชน โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “วิกฤตทักษะ” ตั้งแต่เกิดจนแก่ เห็นได้จากข้อมูลสถิติว่าเด็กไทย 1 ใน 4 คนยังมีพัฒนาการไม่สมวัย นักเรียนไทย 2 ใน 3 คนยังไม่สามารถนำความรู้ในห้องเรียนมาใช้งานได้จริง แรงงานไทย 3 ใน 4 คนยังขาดทักษะดิจิทัลพื้นฐาน รวมถึงผู้สูงอายุไทย 1 ใน 3 คนต้องอยู่คนเดียวหรือกับคู่รักกันเพียงลำพัง ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีทักษะในการดูแลตนเองทั้งทางกายและใจที่ดีขึ้น
แน่นอนว่าหากประเมินจากเพียงคำพูด รัฐบาลก็ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับวิกฤตทักษะนี้ แต่การกระทำเสียงดังกว่าคำพูดเสมอ และการกระทำที่บ่งบอกได้ดีที่สุดว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร มาก-น้อยเพียงใด คือการสังเกตดูว่ารัฐบาลลงทุนงบประมาณเท่าใด ไปกับเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งจากการที่ตนได้สำรวจและวิเคราะห์ทั้ง 5,631 โครงการในงบประมาณปี 2568 ก็ค้นพบว่างบประมาณที่ถูกจัดสรรให้กับการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะของประชาชน จะอยู่ที่ประมาณ 510,000 ล้านบาท กระจายไปตาม 175 หน่วยรับงบประมาณและ 14 กระทรวง ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงบเด็กเล็ก งบเด็กโต งบคนทำงาน หรืองบผู้สูงอายุ จะเห็นว่าการลงทุนเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ในประเทศไทยมี 3 ปัญหาหลักๆ ที่เหมือนกัน คือ
1. เรากำลังลงทุนใน “งบเรียนรู้ ที่ไม่เน้นเรียนรู้” กล่าวคือ เป็นงบที่ใช้ไปกับโครงการที่มีชื่อหรือวัตถุประสงค์ฟังดูดี แต่มีบางส่วนที่ไม่น่าจะส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้ได้จริง เช่น “โครงการพลิกโฉมผลิตภาพแรงงานไทย” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสูงสุดในปีนี้ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คือ 381 ล้านบาท แต่เกือบร้อยละ 20 ของงบ (72 ล้านบาท) กลับถูกใช้ไปกับการ “พลิกโฉมอาคาร” มากกว่า “พลิกโฉมแรงงาน” ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานมูลค่า 14 ล้านบาท หรืออาคารพักอาศัยข้าราชการอีก 12 ล้านบาท
2. เรากำลังลงทุนแบบ “ต่างคนต่างทำ” ทำให้โครงการของแต่ละหน่วยงานซ้ำซ้อนกัน จนคาดเดาแทบไม่ออกว่าโครงการใดเป็นของหน่วยงานใด เช่น หน่วยงานที่ของบ 16 ล้านบาทมาทำโครงการยกระดับทักษะดิจิทัลระดับสูง กลับไม่ใช่กระทรวงดิจิทัลฯ ที่น่าจะมีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมากที่สุด แต่กลายเป็นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในทางกลับกัน หน่วยงานที่ของบ 32 ล้านบาทมาทำโครงการ “แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน” กลับไม่ใช่กระทรวงแรงงานที่น่าจะรู้เรื่องแผนกำลังคนในตลาดแรงงานได้ดีที่สุด แต่กลายเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จากกระทรวงดิจิทัลฯ
หรือหากขยับมาดูในส่วนของโลกออนไลน์ ปัจจุบันเรามีแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยมากกว่า 12 แพลตฟอร์มของหน่วยงานรัฐที่ซ้ำซ้อนและไม่เชื่อมโยงกัน โดยไม่ได้เป็นระบบ “Single Sign-On” ที่ลงทะเบียนครั้งเดียว เรียนได้ทุกคอร์ส แต่เป็นระบบ “Endless Silos” ที่เราต้องลงทะเบียนหลายครั้ง กว่าจะได้ดูแค่คลิปเดียว
“ถ้าแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของเอกชนแต่ละเจ้าจะมีเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกันบ้าง หรือมีระบบที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อกันหลังบ้าน ผมเข้าใจได้ แต่ที่เรื่องนี้ให้อภัยได้ยากก็เพราะว่าความ ‘ซ้ำซ้อน’ และ ‘ความสะเปะสะปะ’ ที่เราเห็นนี้กำลังเกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของหน่วยงานรัฐ ที่อยู่ภายใต้ ‘รัฐเดียวกัน’ บริหารโดย ‘รัฐบาลเดียวกัน’” พริษฐ์กล่าว
3. เรากำลังลงทุนในลักษณะที่ “คนเรียนไม่ได้เลือก คนเลือกไม่ได้เรียน” เพราะกระทรวงศึกษาธิการมักคิดแทนโรงเรียนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวคือ โรงเรียนยังมีอำนาจน้อยมากในการตัดสินใจเรื่องงบประมาณที่ถูกใช้ในโรงเรียนของตนเอง โดยในส่วนของงบอุดหนุนการจัดการศึกษา แม้งบก้อนนี้จะถูกส่งไปที่โรงเรียน แต่ก็ถูกบังคับให้แบ่งออกเป็น 5 ก้อน ซึ่งสร้างข้อจำกัดโดยไม่จำเป็นหากโรงเรียนใช้งบก้อนหนึ่งไม่หมด และอยากนำงบที่เหลือมาใช้สำหรับอีกก้อนหนึ่ง เช่น หากโรงเรียนแห่งหนึ่งต้องการจะยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน และนำเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบมาเป็นการอุดหนุนค่าอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนทุกคนแทน ก็ไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของงบลงทุน โรงเรียนใดจะได้รับงบลงทุนมาก-น้อย หรือจะลงทุนไปกับเรื่องอะไรระหว่างอาคารเรียน อาคารกีฬา หรือส้วม ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของส่วนกลาง
นอกจากนี้ กระทรวงฯ คิดแทนโรงเรียนเช่นใดในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รัฐก็คิดแทนคิดตลาดเช่นนั้นในการยกระดับทักษะแรงงาน โดยเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าโครงการอัปสกิล-รีสกิลของทุกหน่วยงานของรัฐที่เราเห็นกันในวันนี้ เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการจริง ในเมื่อบางโครงการเน้นไปที่ตัวชี้วัดที่วัดว่าอบรม “เสร็จ” หรือไม่ (มีคนร่วมกี่คน) มากกว่าวัดว่าอบรม “สำเร็จ” หรือไม่ (มีคนได้งานเพิ่มขึ้นกี่คน หรือรายได้เพิ่มขึ้นกี่บาท) ทำให้หลายโครงการมุ่งเป้ากับการหาหรือเกณฑ์คนมาอบรมเพื่อให้ถึงเป้า มากกว่าการวัดผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการอบรม
จากปัญหาข้างต้น พริษฐ์ได้เสนอทางออกสำหรับการจัดงบการเรียนรู้และการยกระดับทักษะตลอดชีวิตให้ตอบโจทย์ โดยต้องผลักดัน “ตัวเปลี่ยนเกม” 3 ตัว คือ
1. อัดฉีดงบให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลเด็กเล็กใน 1,000 วันแรก เพราะเด็กในวัย 3 เดือน - 2 ปีเป็นช่วงอายุที่ถูกหลงลืมจากรัฐเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่อายุ 3 เดือนสิทธิลาคลอดจะสิ้นสุดลง พ่อแม่จะต้องกลับไปทำงาน แต่ถ้าจะฝากเด็กไว้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็ต้องรอไปอีก 21 เดือน เพราะส่วนใหญ่พร้อมรับเด็กตั้งแต่ 2 ขวบเป็นต้นไป ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องปลดล็อกและสนับสนุนให้ท้องถิ่นเข้ามารับภารกิจสำคัญนี้ โดยในด้านกฎหมาย เราจำเป็นต้องแก้ระเบียบต่างๆ เพื่อให้ท้องถิ่นสบายใจและมั่นใจว่าสามารถรับเด็กต่ำกว่า 2 ปีมาดูแลในศูนย์ของตนเองได้ โดยไม่เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางและได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง
ส่วนในด้านงบประมาณ เราจำเป็นต้องอัดฉีดงบอย่างน้อย 20,000 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนท้องถิ่นให้ขยายวัน-เวลาเปิดของศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้วให้ทั้งนานขึ้นในแต่ละวัน (เพื่อให้พ่อแม่มารับลูกช้าลงได้) และให้เปิดได้ตลอดปีไม่มีปิดเทอม (เพราะพ่อแม่ทำงานตลอดปี) รวมถึงขยายช่วงอายุเด็กที่ส่วนกลางจะอุดหนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นได้ จากเดิมที่สนับสนุนแค่เด็ก 2 ขวบขึ้นไป ให้ขยายมาครอบคลุมเด็กต่ำว่า 2 ขวบด้วย
2. ระเบิดงบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อแก้ไขประสิทธิภาพการใช้งบที่มีอยู่แล้ว และกระจายงบให้ถึงมือโรงเรียน-ครู-นักเรียน โดยในส่วนงบโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการควรเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบอุดหนุนการจัดการศึกษาจากการส่งให้โรงเรียนเป็น 5 ก้อน มาเป็นก้อนเดียวที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้โรงเรียนตัดสินใจเองว่าจะใช้กับอะไร รวมถึงพิจารณาจัดสรรงบลงทุนเป็นเงินก้อนให้โรงเรียนที่พร้อมและประสงค์เป็นคนตัดสินใจเองว่าจะลงทุนในด้านใด ส่วนงบครู เราควรระเบิดงบของโครงการอบรมครูจากส่วนกลางหลักร้อยล้านถึงพันล้านบาท มาเป็น “คูปอง” ให้ครูและโรงเรียนเป็นคนร่วมกันเลือกเองว่าอยากใช้ไปกับการอบรมด้านใด และในส่วนของงบนักเรียน เราก็ควรระเบิดงบของโครงการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนบางโครงการมาเป็น “คูปองเปิดโลก” ที่ให้เด็กและเยาวชนเป็นคนเลือกเองว่าอยากใช้ไปกับกิจกรรมนอกห้องเรียนแบบใด
3. ลงทุนในเมกะโปรเจกต์ด้านทักษะของคนทุกช่วงวัย ด้วยการเพิ่มงบ 5-10 เท่าจาก 5,000-10,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ที่มีประชากรแค่ 5-6 ล้านคน แต่มีการลงทุนในโครงการ SkillsFuture มากว่า 10 ปี โดยปีที่แล้วก็ได้รับงบประมาณ 25,000 ล้านบาท ส่วนอินโดนีเซียก็มีการริเริ่มโครงการ Prakerja ในช่วงปี 2563 โดยเริ่มลงทุนไปถึง 44,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาทักษะประชาชน 5.5 ล้านคน
พริษฐ์กล่าวว่า แน่นอนว่าถ้าจะลงทุนมหาศาลขนาดนี้ เราจะเดินหน้าลงทุนด้วยวิธีการแบบเดิมต่อไปไม่ได้ เพราะจะไม่ต่างอะไรกับการเทน้ำเข้าไปในถังน้ำที่รั่ว เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการลงทุนด้วยเช่นกัน กล่าวคือ
3.1 เราต้องเปลี่ยนจากการลงทุนแบบ “เบี้ยหัวแตก” ที่ทำให้ต่างหน่วยงานต่างมีงบแค่กะปริบกะปรอยมาทำคอร์สอบรมหรือแพลตฟอร์มของตัวเองแบบกระจัดกระจายและซ้ำซ้อนกัน มาเป็นการลงทุนแบบ “บาซูก้า” ที่รวมพลัง รวมทรัพยากรทั้งหมดอัดฉีดไปที่โครงการเดียว และดึงทุกหน่วยงานมาทำงานบนแผนเดียวกัน บนแพลตฟอร์มเดียวกัน คือ “แพลตฟอร์มทักษะแห่งชาติ (National Skills Platform)”
3.2 เราต้องเปลี่ยนจากการลงทุนแบบ “supply-side” ที่อุดหนุนไปที่หน่วยงานรัฐซึ่งวางตนเองเป็น “คุณพ่อรู้ดี คุณแม่รู้ดี” ว่าจะจ้างใครมาอบรมและเกณฑ์ใครมาเรียน มาเป็นการลงทุนแบบ “demand-side” ที่ยิงตรงไปที่ผู้เรียน ใครจะเรียนคอร์สใด เมื่อใด ก็ให้เขาไปเลือกซื้อเองในตลาด
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มทักษะแห่งชาติต้อง (1) มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ทำเนื้อหาเองเป็นหลัก แต่รวบรวมคอร์สอบรมต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายและมีคุณภาพในตลาดมาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียน ค้นหาและเลือกเรียนได้ง่าย (2) ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่มีเอไอซึ่งเข้าใจความต้องการของแต่ละบุคคล แนะนำคอร์สที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และวัดผลและบันทึกผลการเรียน และ (3) ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่นำไปสู่การจับคู่ผู้เรียนที่กำลังหางานที่ชอบ กับผู้ประกอบการที่กำลังหาคนที่ใช่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์ รัฐจำเป็นจะต้องใช้งบส่วนใหญ่ไปกับการอุดหนุนให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้เพิ่มทักษะผ่าน “คูปองฝึกทักษะ” 3 ประเภท ซึ่งครอบคลุม
(1) ทักษะพื้นฐาน (foundational skills) เช่น ทักษะภาษาและการอ่านจับใจความ ทักษะดิจิทัลพื้นฐาน ทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งรัฐจัดสรรเป็นคูปองให้ประชาชนวัยทำงานทุกคน เพื่ออุดหนุนค่าเรียน
(2) ทักษะเชิงลึก (advanced skills) ซึ่งเฉพาะเจาะจงสำหรับคนในสาขาอาชีพต่างๆ ที่รัฐต้องการส่งเสริม เช่น ทักษะสำคัญสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐอาจจัดสรรเป็นคูปองให้ประชาชนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งอาจครอบคลุมทั้งเงินที่นำไปใช้ในการอุดหนุนค่าเรียนและเงินที่ชดเชยค่าเสียเวลาให้กับผู้เรียนเมื่อเรียนจบ โดยอาจอุดหนุนไปทั้งที่ผู้เรียนโดยตรง หรือผู้ประกอบการที่ต้องการส่งพนักงานมาอบรมก็ได้
(3) ทักษะชีวิต (life skills) ที่เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิต เช่น ทักษะการสังเกตอาการสุขภาพจิตของคนรอบข้าง ทักษะการเท่าทันข่าวปลอมสำหรับผู้สูงอายุ หรือทักษะการเลี้ยงดูลูกสำหรับพ่อแม่มือใหม่ ที่อาจพึ่งกลไกตลาดได้ยาก แต่ต้องหาวิธีการอื่นในการจูงใจให้คนมาเรียน เช่น การลดหย่อนภาษี การเพิ่มการสมทบเงินออม ส่วนลดสินค้าหรือบริการ
“ผมยืนยันว่าเมกะโปรเจกต์เรื่องทักษะที่ผมพูดมานี้เป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้เริ่มทำ รัฐบาลอาจจะมีแพลตฟอร์มการเรียนรู้อยู่บ้างที่พอต่อยอดได้ แต่ก็ยังไม่ได้รวบหรือเชื่อมทุกแพลตฟอร์มมาเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ทำหน้าที่ทั้ง 3 อย่างข้างต้นได้ รัฐบาลอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคนในหลายอุตสาหกรรม แต่แนวทางที่เลือกเดินส่วนใหญ่ยังคงเป็นแนวทางที่รัฐคิดแทนตลาดและผู้เรียน มากกว่าให้ตลาดนำและผู้เรียนเลือก ส่วนถ้าใครกังวลว่าแล้วเราจะหางบ 50,000 ล้านมาจากไหน ผมก็ได้ข่าวมาว่ามันน่าจะมีโครงการหนึ่งในปีนี้ที่ใช้งบสูงกว่าที่ผมเสนอถึง 10 เท่า โดยอ้างว่าจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ถ้าจะใช้งบเทียบเท่ากับแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของโครงการนั้น เพื่อมาเพิ่มทักษะให้คนเราแข่งกับโลกได้ ผมก็หวังว่าคงจะไม่ได้เป็นการขอมากจนเกินไป” พริษฐ์กล่าว
พริษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า หากจะกล่าวโดยสรุป งบประมาณปี 2568 สะท้อนให้เห็นชัดว่ารัฐไทยและรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินยังคงเลือกลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ถนนหนทาง ไปจนถึงอาคารสำนักงาน ส่วนสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนๆ ก็มีเพียงแค่การลงทุนแจกเงินผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ก็คือการลงทุนกับการยกระดับทักษะคนในประเทศเรา ดังนั้น การลงทุนกับงบประมาณบูรณาการการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ เพื่อติดอาวุธทักษะให้ประชาชนตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เพื่อปลดล็อกศักยภาพของคนไทยในทุกช่วงวัย และศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลก