วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ศาลยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกฉบับของวันที่ 18 มิ.ย. 67 ทั้ง 13 คน ยังไม่ได้รับการประกันตัว ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

 


ศาลยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกฉบับของวันที่ 18 มิ.ย. 67 ทั้ง 13 คน ยังไม่ได้รับการประกันตัว ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม


วันนี้ (21 มิ.ย. 67) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ยังยกคำร้องขอประกันตัว #ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกฉบับ รวม 13 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ขนุน สิรภพ, อารีฟ วีรภาพ, จิรวัฒน์, อัฐสิษฎ, กัลยา, ไพฑูรย์, สุขสันต์, ถิรนัย, ชัยพร, ขจรศักดิ์, คเชนทร์ และประวิตร ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 


ภายหลังจากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ทนายความได้เข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ม.112 จำนวน 6 คน และคดีที่มีมูลสืบเนื่องจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอีก 7 ราย ที่ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลจังหวัดนราธิวาส


ทั้งนี้ในข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ในข้อที่ 24 ได้ระบุไว้ว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม


หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งประกันได้ โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการประกันในระหว่างพิจารณา หรือใช้เงื่อนไขประกันที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลสูงเป็นผู้สั่งเอง


แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวโน้มของการพิจารณาคำสั่งประกันตัวในคดีการเมืองหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ของจำเลยหลายคนไม่ถูกสั่งในศาลชั้นต้น แต่จะถูกส่งให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาทันทีภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว


การใช้ดุลยพินิจของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้การขอประกันตัวจำเลยในคดีการเมืองมีแนวโน้มยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากในช่วงหลัง ศาลสูงมีแนวโน้มจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 หรือคดีเกี่ยวกับวัตถุระเบิด แม้จำเลยจะไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับเมื่อคำสั่งประกันตัวในครั้งแรกหลังมีคำพิพากษา ถูกสั่งโดยศาลที่สูงกว่าแล้ว การขอประกันตัวในครั้งถัด ๆ ไปก็จะถูกส่งไปพิจารณาโดยศาลสูงเช่นเดิม


ที่มา : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน