วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พวงทอง ภวัครพันธุ์ : ทะลวงกรอบ ทลายกรง รัฐความมั่นคงของไทย


พวงทอง ภวัครพันธุ์ : ทะลวงกรอบ ทลายกรง รัฐความมั่นคงของไทย


งานปิดนิทรรศการ “วิสามัญ ยุติธรรม”

โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน #10ปีรัฐประหาร57

26 พฤษภาคม 2567


สวัสดีค่ะทุกท่าน มันเป็นเรื่องยากมากนะคะที่มาพูดหลังจาก 5 ท่านก่อนหน้านี้ เพราะว่าฟังทั้ง 5 ท่านแล้วไม่ว่าจะเป็นพี่น้อย, หนูหริ่ง, ไผ่, รุ้ง และทนายด่าง ก็รู้สึกว่ามันจุกอยู่ที่อก


หัวข้อวันนี้ที่ได้รับมอบหมายมาพูดในเวลา 30 นาที ก็เลือกที่จะพูดเรื่อง รัฐความมั่นคงของไทย คือจริง ๆ แล้วคำเต็ม ๆ ของมันก็คือ National Security State รัฐความมั่นคงแห่งชาติ มันเป็นไปด้วยความมั่นคงของชาติ วันนี้ท่านอาจจะได้ยินศัพท์วิชาการหลาย ๆ คำ ก่อนหน้านี้อาจารย์ธงชัยใช้คำว่า Prerogative State หรือ รัฐอภิสิทธิ์ ซึ่งมันมีหลายอย่างที่คล้ายกัน คาบเกี่ยวกัน แต่ว่าอาจารย์ธงชัยจะเน้นไปที่ระบบกฎหมาย ความยุติธรรม ดิฉันในวันนี้จะพูดถึงกองทัพ


ทำไมถึงเลือกที่จะพูดหัวข้อนี้ “ทะลวงกรอบ ทลายกรง รัฐความมั่นคงของไทย” ขอเรียกสั้น ๆ ว่า รัฐความมั่นคงของไทย ให้เข้าใจว่านี่คือความมั่นคงระดับชาติ เพราะว่าดิฉันมองว่าคนไทยเราได้ยินคำว่าความมั่นคงของชาติบ่อยมาก มันกรอกหูเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อะไร ๆ ก็เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ เรื่องราวที่ท่านเห็นในนิทรรศการวิสามัญฆาตกรรมที่อยู่ข้างนอก มันเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นในนามของความมั่นคงแห่งชาติทั้งนั้น หรือแม้กระทั่งเราย้อนกลับไปในเหตุการณ์ 6ตุลา การสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยมทารุณในครั้งเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 หรือแม้กระทั่งการสังหารคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 ก็กระทำในนามความมั่นคงของชาติเช่นกัน การพยายามทำให้คนคิดแบบเดียวกัน เชื่อแบบเดียวกัน อย่าตั้งคำถาม การพยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่อของรัฐผ่านกลไกต่าง ๆ ทั้งการศึกษา ทั้งเครือข่ายสื่อของรัฐ ก็กระทำในนามความมั่นคงของชาติ แม้แต่คนที่ทำรัฐประหารก็ตั้งชื่อตัวเองว่าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ


นอกจากนี้ ถ้าเราไปเปิดดูเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติ เราจะพบว่าทุกวันนี้กองทัพรวมเอาสารพัดปัญหาเป็นภัยความมั่นคงของชาติไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการค้ามนุษย์ คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาโลกาภิวัตน์ คือเรียกว่านับไม่ถ้วน แต่ดิฉันสงสัยว่าพวกเรา คนไทยส่วนใหญ่รู้หรือไม่ว่าเรื่องเหล่านี้มันถูกจัดให้เป็นภัยมั่นคงแห่งชาติไปแล้ว หรือว่าเรารู้แต่เราไม่สนใจ เพราะเราได้ยินเรื่องความมั่นคงแห่งชาติบ่อยเสียจนเรารู้สึกเคยชิน ไม่มีปัญหากับมัน ซึ่งอันนี้เป็นอันตราย ความเคยชินคืออันตรายและมันเป็นปัญหามาก ๆ


สิ่งที่จะพูดในวันนี้จะเป็น 3 ประเด็นหลัก ก็คือ ทำไมเรื่องสารพัดชนิดที่ว่ามา เรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จึงถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปัญหาความมั่นคงแห่งชาติไปได้ ประเด็นที่ 2 เวลาที่ประเด็นเหล่านี้ถูกทำให้เป็นปัญหาความมั่นคงแห่งชาติมันมีความหมายอย่างไร มันมีสถานะอย่างไร มันมีความพิเศษอย่างไร ประเด็นที่ 3 อะไรเป็นผลกระทบของมัน


ประเด็นแรกเรื่องสารพัดชนิดที่ถูกทำให้เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติไปได้ คือภัยความมั่นคงบางเรื่องมันก็อยู่กับเรามานานเลย เพราะว่าตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น อย่างเช่นในยุคของที่รัฐไทยต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น การดำรงอยู่ของคอมมิวนิสต์ก็ถูกอธิบายว่ามันเป็นภัยคุกคามที่จะทำให้ชาติไทยมันล่มสลายถึงขั้นสิ้นชาติ เพราะว่าคอมมิวนิสต์ต้องการที่จะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองในระดับถึงรากถึงโคน ฉะนั้นเราก็จำเป็นที่จะต้องมีความสามัคคีกัน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ยิ่งจงรักภักดีมากเท่าไรก็ยิ่งแสดงว่าชาตินั้นมั่นคงมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือการสร้างอุดมการณ์ราชาชาตินิยมผ่านกลไกสารพัดจนกลายมาเป็นลัทธิกษัตริย์นิยมล้นเกินในปัจจุบัน แล้วทำให้สถานบันกษัตริย์กลายเป็นหัวใจของความมั่นคงของชาติในปัจจุบัน นี่ก็เป็นมรดกที่ตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น


แต่ภัยคุกคามบางอย่างหลายเรื่องมันเกิดขึ้นหลังยุคสงครามเย็น หลังยุคที่ภัยคอมมิวนิสต์หมดไปแล้ว แต่รัฐก็ต้องสร้างศัตรูตัวใหม่ขึ้นมา สร้างภัยคุกคามตัวใหม่ขึ้นมา ในกรณีของไทย ด้านหนึ่งก็เพื่อทำให้กองทัพยังคงมีบทบาทและอำนาจในสังคม ในพื้นที่ทางการเมืองต่อไปด้วย ฉะนั้น หลังจากที่คอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ไปไม่นาน มันก็เกิดคำอธิบายใหม่โดยชนชั้นนำจารีตว่ามันมีภัยคุกคามอย่างอื่นนะ ที่มันน่ากลัวกว่าคอมมิวนิสต์ นั่นก็คือภัยคุกคามเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะว่ามันแทรกซึมไปทั่วทุกหัวระแหง พอไปเรียกความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ ทหารก็บอกว่าฉันจะต้องเข้ามามีบทบาทในการที่จะจัดการกับเรื่องเหล่านี้


ดังนั้นเราก็จะพบโครงการเศรษฐกิจมากมายของทหาร ซึ่งเดี๋ยวดิฉันจะอธิบายต่อไปว่าเช่นโครงการอะไรบ้างที่เป็นโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งมันอยู่ในมือของทหาร อยู่ในนามของความมั่นคงภายในของชาติ


ความมั่นคงภายในบางเรื่อง มันก็เกิดจากการหยิบฉวยเอาคอนเซ็ปทางวิชาการของตะวันตกเข้ามา แล้วก็มาปรับใช้ให้มันเป็นแบบไทย ๆ ให้มันเป็นแบบทหาร ให้ทหารเข้ามามีบทบาทในการที่จะบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น หลายท่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า Human security ความมั่นคงมนุษย์ และอีกคำคือความมั่นคงแบบใหม่ซึ่งมันจะซ้อนทับกัน 2 คำนี้ ความมั่นคงมนุษย์เป็นศัพท์ที่นักวิชาการตะวันตกคิดขึ้นมาในยุคหลังสงครามเย็น เช่น ปัญหาเรื่องความขัดแย้งชาติพันธุ์ ศาสนา ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ การย้ายถิ่นฐาน ผู้อพยพ โรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เหล่านี้


ที่จริงแนวคิดความมั่นคงมนุษย์มันมีเจตนาที่ดี เจตนาที่จะทำให้รัฐโยกงบประมาณ โยกสรรพกำลัง ความรู้ ความสนใจของรัฐไปสู่เรื่องอื่น ๆ ที่มันกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์ของคนปกติธรรมดามากยิ่งขึ้น เพราะว่าในช่วงสงครามเย็น ปัญหาเรื่องการรุกราน ปัญหาการสะสมอาวุธ มันดึงเอางบประมาณของประเทศชาติเป็นจำนวนมาก แล้วมันทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทในพื้นที่การเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายแหล่


ฉะนั้น ประเด็นของเรื่องความมั่นคงมนุษย์มันต้องการลดบทบาททหาร ลดงบประมาณทหาร และเพิ่มบทบาทของพลเรือนให้จัดการปัญหามนุษย์ให้หน่วยงานพลเรือนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องต่าง ๆ เข้ามาแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น แต่กรณีสังคมไทยมันกลับตาลปัตร กรณีสังคมไทยมันกลายว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ทหารสามารถเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ในมิติใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้นด้วย จากจุดประสงค์เดิมที่ต้องการที่จะลดบทบาททหาร (demilitarized) แต่กรณีสังคมไทยเรากลับพบว่าพอไปใส่เรื่องพวกนี้ รับเอาคอนเซ็ป Human security เข้ามาว่าเป็นเรื่องภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ เรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มันถูก militarized มากยิ่งขึ้น ทหารเข้ามามีบทบาท วิธีคิดในการจัดการปัญหามันเป็นแบบทหารมากยิ่งขึ้น ทหารตั้งงบประมาณในการจัดการมากยิ่งขึ้น


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการ militarized ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดิน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ก็คือนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ถูกประกาศใช้ทันทีไม่ถึง 1 เดือนของการทำรัฐประหารคสช. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร ปัญหาเรื่องที่ดินคือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ มันมีการเจรจาต่อรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลานานแล้ว มันมีการอะลุ้มอล่วยกันเยอะ มีความพยายามเข้าใจว่าพื้นที่หลายส่วนนั้นชาวบ้านเข้าไปใช้ก่อนที่จะมีการประกาศว่าพื้นที่นั้นเป็นป่าอนุรักษ์ แต่พอทหารเข้ามาไม่ถึงเดือน กวาดเขาออกจากที่ดินทันที ทำลายพืชผลที่เขาทำไว้ ไม่เปิดโอกาสให้เขาจะเก็บเกี่ยวพืชผลเลยด้วยซ้ำไป ทหารมองว่าคนเหล่านี้กำลังเป็นภัยคุกคามแห่งชาติ ฉะนั้นจะอะลุ้มอล่วยกันไม่ได้ ประณีประนอมไม่ได้ ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด มีตัวอย่างอีกเยอะแยะที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อทหารเข้ามาแล้วมันถูก militarized มันถูกทำให้เป็นวิธีการแบบทหารในการจัดการปัญหามากขึ้น


ในปัจจุบันนี้ถ้าเราไปดูโครงการต่าง ๆ ในมือกองทัพ ทุกเหล่าทัพ บก เรือ กองบัญชาการกองทัพไทย กองบัญชาการสูงสุดที่เราคุ้นเคยกันในอดีต และ กอ.รมน. มันจะมีโครงการที่เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจสังคมการเมืองเต็มไปหมดในนามของความมั่นคงของชาติ โครงการเหล่านี้กลายเป็นงานส่วนใหญ่ของกองทัพ คือถ้าไปนับจำนวนโครงการ 10 โครงการ 7 ใน 10 นั้น เป็นเรื่องความมั่นคงภายใน เป็นเรื่องยาเสพติด ความมั่นคงมนุษย์ สิ่งแวดล้อมอะไรทั้งหลายแหล่ทั้งสิ้น ซึ่งอันนี้มันทำให้เรียกได้ว่าในปัจจุบันนั้นภารกิจหลักของกองทัพไม่ใช่เรื่องการปกป้องดินแดน ไม่ใช่ปกป้องอธิปไตยเอกราชจากภัยคุกคามจากภายนอก ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นมานานแล้วนะ อย่างน้อยที่สุดคิดว่าตลอดช่วงสงครามเย็นเอง ความมั่นคงภายในคือภารกิจของกองทัพ ถ้าไม่มีเรื่องความมั่นคงภายในสารพัดชนิด

 

โดยเฉพาะในปัจจุบัน กองทัพจะไม่มีงานทำ นายพลทั้งหลายแหล่ก็จะไม่มีงานทำ มันเป็นสิ่งที่มารองรับการเติบโตของกองทัพไทยเลยก็ว่าได้


เวลาที่ปัญหาประเด็นเรื่องเศรษฐกิจสังคมการเมืองมันถูกทำให้เป็นปัญหาความมั่นคงของชาติ มันมีนัยยะและผลกระทบอย่างไร ดิฉันจะพูดประเด็นที่ 2 ที่ 3 ควบคู่กันไป มันมีศัพท์ทางวิชาการคำหนึ่งคือคำว่า securitization มันหมายถึงการยกสถานะของปัญหาหนึ่ง ๆ ให้กลายมาเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติ ระดับชาติ ทำให้มันสำคัญมากยิ่งขึ้น จากที่มันอาจจะเป็นปัญหาระดับท้องถิ่นหรือปัญหาที่เรารู้สึกว่าถ้าเป็นปัญหาเศรษฐกิจก็ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจออกมา อย่าไปมองว่าเป็นภัยคุกคามน่ากลัว แต่ว่าพอมันถูกยกระดับ ถูกยกว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ มันมีความพยายามที่จะสร้างคำอธิบายสร้างความชอบธรรมขึ้นมาว่าภัยคุกคามนั้นมันคุกคามต่อการดำรงอยู่ของรัฐและชาติและประชาชนในประเทศ มันเป็นภัยคุกคามระดับ existential threats คำว่า existence มันหมายถึงการดำรงอยู่ ภัยคุกคามในระดับที่มันจะทำให้ชาตินั้นอยู่ไม่ได้ เช่นกรณีวาทกรรมเกี่ยวกับเรื่องภัยคุกคามคอมมิวนิสต์เป็นต้น ฉะนั้นต้องจัดการอย่างเด็ดขาดรวดเร็วฉับพลัน ไม่งั้นชาติจะอยู่ไม่ได้จะพินาศย่อยยับ


เมื่อเราอธิบายว่าปัญหาเรื่องนั้น ๆ มันสำคัญต่อชีวิตของชาติ รัฐจำเป็น รัฐจึงต้องทุ่มเทงบประมาณและสรรพกำลังเข้าไปแก้ไขมัน บางครั้งก็ต้องอาศัยวิธีการพิเศษ วิธีการพิเศษนั้นอาจจะหมายถึงการละเมิด rule of law ละเมิดนิติรัฐ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็จำเป็นต้องทำ และมักอนุญาตให้รัฐทำโดยไม่ต้องรับผิด แม้ว่าการกระทำนั้นจะผิดกฎหมาย อนุญาตให้มีการลอยนวลพ้นผิด หรืออภิสิทธิ์ต่อความผิด Impunity ซึ่งลักษณะแบบนี้ การลอยนวลพ้นผิด มันเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติของรัฐความมั่นคงแบบไทย


เงื่อนไขเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการจัดการกับภัยความมั่นคงของชาติ วาทกรรมเรื่องภัยความมั่นคงของชาติจะเสมอ ถ้าไม่ใช้แนวทางที่รวดเร็วฉับพลันเด็ดขาด ภัยคุกคามนั้นจะลุกลามบานปลายจนควบคุมไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือการทำปัญหาหนึ่งให้เป็นปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงของชาติก็คือการอนุญาตให้การจัดการปัญหานั้นอยู่ในสภาวะยกเว้น และบ่อยครั้งในกรณีสังคมไทยสภาวะยกเว้นนั้นดำเนินต่อเนื่องจนกลายเป็นสภาวะถาวร เช่นกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือบางทีก็ใช้มันนานเกินเหตุเช่นกรณีโควิดที่ใช้กันถึง 2 ปี กรณีการปราบเสื้อแดงปี 53 ใช้กันถึง 7 เดือน เป็นต้น


รัฐไทยเองก็จัดอยู่ในรัฐความมั่นคงแห่งชาติ มีคุณสมบัติที่ว่านี้ทั้งหมด รูปธรรมก็คือการดำรงอยู่ของกฎหมายสารพัดชนิดทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่รัฐส่วนใหญ่มี แต่ในสังคมประชาธิปไตยมันจะถูกจำกัดให้ใช้ในเฉพาะสภาวะที่จำเป็นจริง ๆ และในระยะสั้น ในบางประเทศประกาศให้ใช้แค่ 3 วัน ถ้าคุณจะต่อคุณต้องไปขอรัฐสภา แต่ในสังคมไทยประกาศกันต่อเนื่องยาวนาน หรือแม้กระทั่งการดำรงอยู่กฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทยที่ผ่านมาก็ฟ้องตัวมันเองชัดเจนว่ามันอยู่ในสภาวะยกเว้น ทั้งเรื่องการไม่ให้ประกัน การลงโทษหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความกฎหมายที่ว่าต่อให้สิ่งที่พูดเป็นความจริงก็ถือว่าผิดอย่างเดียว และไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูดนั้นจริงหรือไม่ ในกฎหมายปกติข้อความในลักษณะนี้เป็นไปไม่ได้


มาตรา 112 จึงถูกยกให้มีสถานะพิเศษเหนือระบบการเมืองและกฎหมายปกติมานานแล้ว สถานะพิเศษนี้เรียกร้องให้ทุกองคาพยพของสังคมต้องช่วยกันทำงานอย่างแข็งขัน ต้องอนุญาตให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องกล่าวโทษได้ เป็นหูเป็นตาให้กับรัฐได้ เรารู้กันใช่มั้ยคะว่างบประมาณปกป้องสถาบันกษัตริย์นั้นจัดอยู่ในหมวดการรักษาความมั่นคงภายในแห่งชาติ ถ้าคุณไปดูงบทหารมันจะอยู่ในกลุ่มของงบความมั่นคงภายในแห่งชาติ ฉะนั้นมาตรา 112 จึงเป็นสภาวะที่เป็นภัยคุกคาม มันเป็น forever existential threats มันเป็นภัยคุกคามการดำรงอยู่แบบถาวรตลอดไป นอกจากนี้รัฐความมั่นคงยังถือว่าการปฏิบัติการลับเป็นเรื่องปกติด้วย ไม่ต้องมีการตรวจสอบ ไม่ต้องมีความโปร่งใสใด ๆ ในอดีตเรามีเงินราชการลับมหาศาล ในปัจจุบันรัฐมีระบบสอดแนม ใช้ spyware แอบฟังโทรศัพท์ ไปจนถึงการทำ IO สร้าง fakenews


นอกจากนี้ดิฉันอยากย้ำให้เห็นปัญหาของรัฐความมั่นคง คือในปัจจุบันการที่ประเด็นปัญหาภายในประเทศถูกทำให้เป็นปัญหาความมั่นคงภายในของชาติ คือจริง ๆ แล้วมันก็เกิดขึ้นในหลายสังคม ในประเทศอื่น ๆ ก็มี แต่ปัญหาก็คือเวลาที่มันเกิดในสังคมที่มันไม่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่ทหารมีอำนาจมาก ประชาชนจะถูกคุมคาม เพราะเวลาที่คุณบอกว่าเรื่องภายในประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความแตกต่างทางความคิดเป็นภัยคุกคามมันเกี่ยวข้องกับประชาชนภายในชาติแทบทั้งนั้น มันไม่ใช่เรื่องภายนอกแล้ว


การทำปัญหาปกติให้กลายเป็นความมั่นคงระดับชาติคือการทำให้ประชาชนกลายเป็น enermy of the state ทำให้ประชาชนเป็น “พวกมัน” รัฐเป็น “พวกเรา” คนที่ยืนข้างรัฐเป็น “พวกเรา” คนที่ยืนตรงข้ามคือประชาชนเป็น “พวกมัน” ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด รัฐความมั่นคงยังเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ได้มาด้วย โดยไม่ตระหนักถึงอคติที่ครอบงำตัวเองอยู่ อคติที่มองประชาชนเป็นภัยคุกคาม ความแตกต่างคือภัยคุกคาม อคติที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจและจะประณีประนอมไม่ได้ และจะไม่พยายามทำความเข้าใจ ความแตกต่างก็คือความแตกต่าง ไม่จำเป็นต้องเข้าใจมัน


ฉะนั้นอำนาจของรัฐความมั่นคงไม่ใช่แค่อำนาจทางกฎหมายและกลไกบริหาร ไม่ใช่แค่อำนาจของหน่วยราชการ กองทัพ และตำรวจ แต่มันเป็นอำนาจที่ครอบงำความคิดของผู้คนในสังคมด้วย มันคือแว่นที่รัฐใช้ และรัฐก็พยายามที่จะทำให้แว่นนั้นเป็นแว่นตาของประชาชนทั่วไปด้วย เพื่อสนับสนุนความเชื่อเรื่องภัยคุกคาม คำถามคือในปัจจุบันการที่บรรดาปัญหาสารพัดที่ถูกทำให้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติมัน make sense หรือไม่ มัน make sense จริง ๆ หรือคะ ความแตกต่างทางความคิดจะทำให้ประเทศนี้มันพังทลายจริง ๆ หรือ หรือเป็นเพียงความพังทลายของบางกลุ่มอำนาจเท่านั้น


ดิฉันอยากจะเล่าประสบการณ์บางอย่างด้านหนึ่งมาจากการทำงานวิจัย ด้านหนึ่งมาจากการที่ได้เข้าไปร่วมอยู่ในกรรมาธิการวิสามัญของสภาที่ศึกษาธุรกิจของกองทัพซึ่งมีพรรคก้าวไกลเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ คือเราพบเหตุการณ์พิลึกพิลือในนามของการรักษาความมั่นคงแห่งชาติบ่อยมาก เมื่อกี้อย่างที่บอกในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาทุกเหล่าทัพมีโครงการเศรษฐกิจมากมายในนามของการรักษาความมั่นคงภายในของชาติ อันนี้เป็นหนึ่งในโครงการความมั่นคงภายในของชาติ เรียกว่าโครงการ ARMY LAND เป็นแหล่งท่องเที่ยวในค่ายทหาร ปัจจุบันมีมากกว่า 170 แห่งทั่วประเทศ สร้างขึ้นโดยภาษีของประชาชน ภายในค่ายก็มีกิจกรรมประเภทแบบปีนหน้าผาจำลอง กระโดดหอ ยิงปืน ให้ดูอาวุธยุทธภัณฑ์ รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวีรประวัติของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตและปัจจุบัน เราจะบอกว่านี่เป็นการท่องเที่ยวแบบทหาร ด้านหนึ่งมันช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของทหารในสายตาประชาชน แต่ด้านหนึ่งมันช่วยส่งเสริมอุดมการณ์หลักของชาติ แต่ด้านที่สำคัญคือมันใช้งบประมาณของเราไป ที่จริงว่าง ๆ เราน่าจัดทัวร์


จากเว็บไซต์ที่ดิฉันเข้าไปดูโครงการ ARMY LAND พบว่ามันมีนักเรียนนิสิตนักศึกษาเข้าไปชมเป็นหมู่คณะด้วย รวมถึงนิสิตของจุฬาฯ เกษตร แล้วก็ มศว.ประสานมิตรด้วย เพราะว่า 3 มหาวิทยาลัยนี้มีคอส 2 คอสที่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของชาติ แล้วเชิญทหารมาเลคเชอร์ 100% อันนี้ก็เป็นการพยายาม militarized การศึกษาไทย การพยายามที่จะครอบงำเยาวชนไทยในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของรัฐ นี่เป็นอีกมิติหนึ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังกลายเป็นที่ตั้งของกองทัพ ของทหาร หรือของอุดมการณ์หลักของชาติไปแล้ว มันมีข้อมูลอีกเยอะเลยที่จะชี้ให้เห็นถึงการพยายามที่จะเข้ามาควบคุมมหาวิทยาลัยในหลาย ๆ ด้าน


นอกจากโครงการ ARMY LAND แล้ว ยังมีโครงการเศรษฐกิจ เช่น พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ทหารมีงบประมาณนี้ดิฉันนั่งดูของกองทัพเรืออย่างเดียวเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกือบหมื่นล้าน โครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โครงการสร้างความสุขให้ประชาชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เขตทหาร โครงการเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับความมั่นคงของชาติ? มันไม่เกี่ยวค่ะ แต่เขาทำให้มันเกี่ยว เพราะเขาอ้างว่าในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า การพัฒนาประเทศต้องมุ่งให้เกิดความมั่นคง ฉะนั้นทหารก็มองว่าทหารก็ต้องมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย และนี่กลายมาเป็นข้ออ้างความชอบธรรมทางกฎหมาย ไม่ต้องถามว่าทหารมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรื่องเศรษฐกิจเหล่านี้มั้ย? เพราะมันไม่สำคัญ ตราบเท่าที่เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจก็เพื่อความมั่นคงของชาติ ทหารก็ต้องมีภารกิจ ต้องมีงบประมาณเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ด้วย


มันยังมีสิ่งพิลึกพิลั่นอีก เมื่อกี้บอกไปว่าการมีความลับ ความไม่โปร่งใส ไม่ต้องมีการตรวจสอบเป็นคุณสมบัติสำคัญของรัฐความมั่นคง ความมั่นคงเป็นข้ออ้างที่จะไม่ต้องโปร่งใส ฉะนั้นปัญหาใหญ่ที่กรรมาธิการศึกษาธุรกิจกองทัพประสบก็คือเราไม่ค่อยได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของกองทัพ โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องสถานะการเงิน ในบรรดาหน่วยงานทั้งหมดกองทัพบกจะมีธุรกิจเยอะที่สุด มีที่ดินมากที่สุด ครอบครองที่ดินมากที่สุด มักจะไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขบัญชีรายรับรายจ่าย ธุรกิจจำนวนมากถูกจัดอยู่ในสวัสดิการเพื่อคนในกองทัพ ธุรกิจพวกนี้ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยสตง. กองทัพตรวจสอบกันเอง หรือไม่ก็ไปจ้างบริษัทเอกชนให้มาตรวจสอบ แต่พอเราขอดูปัญชีก็ไม่ให้


ส่วนธุรกิจที่กำหนดว่าต้องให้สตง.ตรวจสอบ ก็พบว่าตัวแทนสตง.ที่เข้าไปร่วมประชุมด้วยก็บอกว่าไม่เคยเข้าไปตรวจสอบเลยค่ะ ไม่เคยได้เลยค่ะ เช่น รายได้ของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 และบริษัทลูก รายได้จากการเช่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์จากกองทัพ เราก็ยังไม่ได้ นี่คือสภาวะยกเว้นทางเศรษฐกิจ เราไม่ได้มีแต่สภาวะยกเว้นทางการเมือง ทางกฎหมาย เรามีสภาวะยกเว้นทางเศรษฐกิจในนามของความมั่นคงแห่งชาติด้วย และมีแต่กองทัพเท่านั้นที่ได้อภิสิทธิ์นี้ หน่วยงานอื่นไม่ได้ นอกจากนี้ความมั่นคงแห่งชาติยังถูกใช้เพื่อให้กองทัพสามารถครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาลของประเทศ ที่ดินของรัฐทั้งประเทศมี 12.5 ล้านไร่ อยู่ในมือกองทัพไปแล้ว 7.5 ล้านไร่ จำนวนมากถูกเอาไปทำสนามกอล์ฟ โรงแรม บ้านพักตากอากาศ แหล่งท่องเที่ยว


ยังมีเรื่องพิลึกกึกกืออีกอันคือปัญหาการให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่สัตหีบ ที่ชลบุรี ที่ดำเนินการโดยกองทัพเรือ รายได้จากการขายไฟฟ้านี้ปีละร้อยกว่าล้านบาทเข้าสวัสดิการกองทัพเรือ ไม่ได้เข้าคลัง เรื่องนี้เป็นปัญหาขึ้นมาเมื่อชาวบ้านใน 5 ตำบลในอำเภอสัตหีบร้องเรียนว่าต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าราคาปกติ และไฟก็ดับบ่อยมาก ๆ คนในกรุงเทพฯ อย่างพวกเราปกติที่ซื้อไฟจากการไฟฟ้า เราจ่ายที่ยูนิตละประมาณ 4 บาทเศษ ๆ ชาวบ้านที่นั่นจำนวนมากหลายครัวเรือนจ่าย 6-7 บาทต่อยูนิต แล้วก็ดับบ่อยมาก กรรมาธิการเสนอว่าให้กองทัพจัดการรับผิดชอบเฉพาะไฟฟ้าที่ใช้ในค่ายทหาร หน่วยทหาร ส่วนอื่น ๆ นั้นขอให้ซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เอาเข้าจริง ๆ เขาไม่ได้ผลิตเองนะคะ คือเราเข้าใจผิดมาตลอดจนกระทั่งมานั่งกรรมาธิการนี้ เราเข้าใจกันว่ากองทัพเรือผลิตไฟฟ้าเอง มีโรงไฟฟ้าปั่นไฟเอง ปรากฏว่าไม่ใช่ ซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วมาขายต่ออีกทีหนึ่ง แต่เขาอ้างว่าพื้นที่อำเภอสัตหีบทั้งหมด บางส่วนของบ้านฉางด้วย เพราะว่าสนามบินอู่ตะเภาตั้งอยู่ที่บ้านฉาง พื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ของทหาร เป็นพื้นที่ความมั่นคง ฉะนั้นกองทัพก็จะต้องดูแลเรื่องไฟฟ้าในพื้นที่นี้ด้วย พื้นที่นี้ประกอบด้วยอะไรบ้างถ้าคุณเข้าไปดู มีโรงแรม มีรีสอร์ท ร้านอาหาร มีสวนน้ำ มีคอนโดมิเนียม มีปั๊มน้ำมัน มีร้านกาแฟเต็มไปหมดเลย นี่ไม่ใช่พื้นที่ทหารแล้วค่ะ แต่เขาอ้างว่าความมั่นคงภายในและยังไม่ยินยอมที่จะคืนพื้นที่หรือสิทธิในการที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาคเข้าไปเป็นผู้บริหารจัดการไฟฟ้าในพื้นที่นั้น


ฉะนั้นความมั่นคงแห่งชาติมันจึงกลายเป็นยาสารพัดชนิดให้กับกองทัพและชนชั้นนำไว้ปราบปรามประชาชนก็ได้ ไว้ทำธุรกิจก็ได้ ไว้ตั้งงบประมาณสูง ๆ เพื่อให้บรรดานายพลมีงานทำก็ได้


คำถามว่าแล้วเราจะทลายกรงของรัฐความมั่นคงได้อย่างไร?


คนมักจะพูดกันว่าการที่ระบอบประยุทธ์สามารถอยู่ในอำนาจมาได้ถึง 8 ปีกว่านั้น เพราะคนไทยโกรธไม่พอ ดิฉันไม่เชื่อ ดิฉันคิดว่าทุกวันนี้เราโกรธจนไม่รู้จะโกรธอย่างไรแล้ว ถามตัวเองดิฉันเชื่อว่าทุกคนรู้ว่าโกรธจนไม่รู้จะโกรธยังไงแล้ว แต่ปัญหาคือเราไม่ได้มีแต่ความโกรธ เรามีความกลัวด้วย พูดแบบนี้ไม่ได้จะดูถูกกัน ดิฉันก็กลัว แต่ต้องถามว่ากลัวอะไร ดิฉันไม่คิดว่าคนกลัวปืน ดิฉันไม่คิดว่าคนกลัวตาย ในอดีตที่ผ่านมาหรือแม้กระทั่งเร็ว ๆ นี้ เราเห็นการเสียสละชีวิตของผู้คน แม้กระทั่งเหตุการณ์ปี 53 คนเสื้อแดง แต่คนพร้อมที่จะเสียสละชีวิตตัวเอง ความสุขสบายของตัวเองถ้าเขามีความหวัง แต่ถ้าคุณเสียสละแล้วคุณตายฟรี คุณเสียสละแล้วคุณรู้สึกว่ามันไม่เกิดอะไรขึ้น ระบอบเดิมก็ยังคงอำนาจอยู่เหมือนเดิม หรืออาจจะมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเสียอีก ผู้ที่ตายก็ตายไป เจ็บก็เจ็บไป คนจำนวนมากทุกข์ยากจากความบาดเจ็บล้มตายของคนในครอบครัว ขณะที่คนที่ทำร้ายประชาชนสังหารประชาชนกลับได้ดี ได้รางวัล ได้เลื่อนขั้น แต่ประชาชนกลับถูกลงโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันคือภาวะสิ้นหวังที่คนรู้สึกว่าแล้วจะสู้ไปทำไม


ภาวะสิ้นหวังนี้มันเกิดจากภาวะ Impunity การลอยนวลพ้นผิด ไม่ต้องรับผิด มันคือการที่บอกว่าถ้าคุณทำ/ตอบสนองนโยบายของรัฐคุณจะได้รับรางวัล ถ้าคุณกล้าท้าทาย คุณจะถูกลงโทษอย่างแสนสาหัส นี่ต่างหากที่คนกลัว การลอยนวลพ้นผิดต่างหากที่คนกลัว สู้แล้วไม่มีหวังคุณจะสู้ทำไม กระนั้นก็ตาม ดิฉันคิดว่าในหลายปีที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นความกล้าหาญของคนจำนวนมากของเยาวชนตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา ของคนที่เสียชีวิตไป คนที่ยังติดคุกอยู่ คนที่ยังมีสารพัดข้อหาติดตัวอยู่ทุกวันนี้ เห็นความกล้าหาญของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดิฉันคิดว่าหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงความพยายามที่จะท้าทายความมันคงของรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งคำถามกลับมาเรื่อย ๆ ไม่เคยมีครั้งไหนที่ดิฉันคิดว่าประชาชนจะตั้งคำถามกับความชอบธรรมของสถาบันทางอำนาจที่ดำรงอยู่มากเท่านี้อีกแล้ว เราตั้งคำถามไปจนถึงว่าทางอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ ระบบอาวุโส ล้วนถูกดันเพดานขึ้นไป


ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะทำลายความมั่นคง ความชอบธรรมของรัฐความมั่นคง เราต้องตั้งคำถามไปให้ถึงที่สุด ดิฉันอยากจะเสนอก็คือว่า เราต้องตั้งคำถามแม้กับสิ่งที่อ้างว่าเป็นความมั่นคงของชาติทุกชนิด แม้แต่สิ่งที่ดูเหมือนจริงแท้แน่นอนสำหรับคนไทยมาตลอดชีวิตก็ควรตั้งคำถามได้ ดิฉันอยากยกตัวอย่างหนึ่งที่คิดว่าคนไทยหลายชั่วอายุคนทีเดียวเชื่อว่ามันจริง ก็คือภัยคอมมิวนิสต์ คนที่โตมาในยุคสงครามเย็นก็จะอยู่กับคำอธิบาย อยู่กับวาทกรรมคำว่าภัยคอมมิวนิสต์นั้นจะทำลายชาติทำลายความเป็นไทย ทำลายสถาบันหลักของประเทศ จะเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ฉะนั้นก็ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด การสังหารนักศึกษาประชาชนเมื่อวันที่ 6ตุลาคม ก็วางอยู่บนวาทกรรมแบบนี้


แต่ดิฉันมองว่าวาทกรรมนี้แหละที่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ผิดพลาด มันเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงของรัฐเผด็จการที่ไม่สามารถที่จะรับมือกับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดด้วยสันติวิธีได้ เพราะในความเป็นจริงในสังคมประชาธิปไตยหลายสังคมทีเดียวที่คอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นภัยความมั่นคงของชาติ คอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐอย่างฝรั่งเศส นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก ประเทศเหล่านี้อนุญาตให้คอมมิวนิสต์ถูกกฎหมายได้ สู้กันในระบบรัฐสภา สู้กันด้วยนโยบาย แล้วให้ประชาชนตัดสินว่าเขาเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณว่าจะตัดสินได้ เลือกผิดก็เลือกใหม่ เขาเริ่มจากการไม่มองว่าประชาชนเป็นพวกโง่จนเจ็บตัดสินใจเองไม่ได้ เริ่มจากการมองว่าประชาชนไม่ได้เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ


ฉะนั้น แม้สิ่งที่มันดูจริงแท้แน่นอนในความเป็นจริงแล้วอาจจะมีปัญหาเยอะมาก ๆ ที่จะให้ตั้งคำถามได้ ดิฉันอาจจะบอกว่าเราต้องตั้งการ์ดไว้สูงทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าความมั่นคงของชาติ ต้องระแวงไว้ก่อน สงสัยไว้ก่อน นอกจากนี้คำว่าความมั่นคงของชาติบางทีมันก็มาในคำอื่น มาในศัพท์อื่นด้วยเหมือนกัน เราก็ควรที่จะต้องตั้งคำถามกับมันได้ เช่น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศัพท์คำนี้ดิฉันว่าความหมายของมันก็คือความมั่นคงของชาติ ถ้าคุณกล้าท้าทายมัน คุณคือภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ


ประโยคสุดท้ายที่ฝากไว้ ต้องทำให้เรื่องความมั่นคงของชาติทั้งหมดกลายเป็นเรื่องไร้ความหมาย ไร้ความน่าเชื่อถือ ถ้ามันเป็นปัญหาเศรษฐกิจก็บอกว่ามันเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ถ้ามันเป็นปัญหายาเสพติดก็เรียกมันว่าปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาผู้ลี้ภัยก็เรียกมันว่าเป็นปัญหาผู้ลี้ภัย อย่าไปยอมรับคำว่าความมั่นคงแห่งชาติง่าย ๆ เพราะคำ ๆ นี้มันปิดปากเรา และมันอนุญาตให้รัฐใช้อำนาจอย่างเกินเลยในการที่จะกดปราบปรามประชาชน ขอบคุณค่ะ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วิสามัญยุติธรรม #10ปีรัฐประหาร #10ปีศูนย์ทนายฯ