กมธ.ติดตามงบประมาณฯ สัมมนาความท้าทายการบริหารงบ รพ.สต. ชี้ 3 ปัญหาหลังถ่ายโอน ขาดคน-ขาดเงิน-ตัวชี้วัดเยอะเพราะเจ้านายหลายคน แนะรัฐบาลกำหนดโรดแมปให้ชัด หวั่นกระทบความเชื่อมั่นประชาชนต่อการกระจายอำนาจ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาหัวข้อ "การบริหารงบประมาณ รพ.สต. ในมือท้องถิ่น ความท้าทายในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ” โดยมีตัวแทนข้าราชการและตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าร่วมรับฟัง
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธาน กมธ.ติดตามงบประมาณฯ กล่าวเปิดสัมมนาความตอนหนึ่งว่า เป้าหมายของ กมธ. ชุดนี้คือการปฏิรูปกระบวนการงบประมาณใหม่ ซึ่งงบท้องถิ่นเป็นหนึ่งในเสาหลัก ตนมองว่างบท้องถิ่นมีคุณสมบัติที่น่าสนใจ จะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวคือท้องถิ่นมีขนาด “เล็กพอ” ที่จะสามารถลองผิดลองถูก อปท. แต่ละแห่งมีความต้องการและบริบทต่างกัน ถ้ามีผู้บริหารท้องถิ่นที่เอาจริงเอาจัง จะทำให้ท้องถิ่นมีบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นก็มีขนาด “ใหญ่พอ” ที่จะสร้างผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศได้ เช่น ถ้ามี อปท. ที่เป็นต้นแบบความสำเร็จ จะสามารถขยายผลหรือถอดบทเรียนไปยังที่อื่นๆ ได้ด้วย
จากนั้น กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.สาธารณสุข กล่าวหัวข้อ “สถานการณ์การถ่ายโอน รพ.สต. - คน งบ ตัวชี้วัด บทเรียนความสําเร็จและความท้าทาย” ว่าข้อดีของการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขไปยังท้องถิ่น คือสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่ สร้างความรับผิดชอบของผู้นำท้องถิ่นต่อประชาชน เพิ่มความยืดหยุ่นคล่องตัวในการแก้ปัญหาสุขภาพ และประชาชนสามารถเรียนรู้และพัฒนาสุขภาพของตนเองได้
พร้อมกับยกตัวอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ประสบความสำเร็จในบางพื้นที่ ได้แก่ รพ.สต.ตำบลแม่เหียะ จ.เชียงใหม่ ที่สามารถพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ลงบน Google Maps ว่าแต่ละที่มีผู้ป่วยโรคอะไรบ้างเพื่อความสะดวกในการลงพื้นที่และให้การสนับสนุนด้านการแพทย์
กัลยพัชร กล่าวต่อว่า หากการถ่ายโอน รพ.สต. ไม่สำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ รพ.สต.ด้อยคุณภาพเมื่อเทียบกับสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนต้องเดินทางไกลเพื่อไปโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่กว่า และขาดระบบการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ Primary Care นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนเสียความเชื่อมั่นในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นจะสูญเสียความเชื่อมั่นว่าท้องถิ่นมีศักยภาพในการดูแลตัวเองได้
สำหรับปัญหาจากการถ่ายโอน รพ.สต. ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 3 ด้านหลักคือ ขาดบุคลากร ขาดงบประมาณ และมีตัวชี้วัด (KPI) มากมาย ทั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกระทรวง สาธารณสุข สำหรับเรื่องกำลังคนนั้น ปัจจุบันไม่เป็นไปตามคู่มือการถ่ายโอน จำนวนคนทำงานใน รพ.สต. โดยเฉลี่ยมีเพียงครึ่งเดียว เช่น รพ.สต. ขนาดเล็กควรมีบุคลากร 7 คน แต่หลังจากถ่ายโอน มีเพียง 4 คน ขนาดกลาง ควรมี 12 คน แต่มีจริงเพียง 5 คน ส่วนงบประมาณ ตามคู่มือฯ ระบุต้องได้ 1-2 ล้านบาทต่อปี แต่ความเป็นจริงก็ได้เพียงครึ่งเดียว และด้านตัวชี้วัด (KPI) เมื่อมีกำลังคนน้อยแต่ต้องไปทำงานเอกสาร จึงไม่มีเวลาพัฒนาปรับปรุงการบริการผู้ป่วย ทำให้สถานการณ์ปัจจุบัน ถ่ายโอน รพ.สต. ได้เพียง 43% และมีเพียง อบจ. 11 แห่งเท่านั้น ที่สามารถถ่ายโอนได้ครบทั้งจังหวัด
ตนเห็นว่าปัญหาดังกล่าวมาจาก (1) ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลขาดเจตจำนงและโรดแมปที่ชัดเจน (2) ขาดมาตรการจูงใจสนับสนุน รพ.สต. ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งคือการให้ความเติบโตแก่คนทำงาน และเพิ่มงบประมาณให้เพียงพอ และ (3) ไม่ได้แก้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคแก่ผู้ปฏิบัติงาน
กัลยพัชรยังกล่าวถึงข้อเสนอที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา เช่น การให้ประชาชนแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมกำหนดตัวชี้วัด, การให้ อบจ. ที่มีกำลัง สามารถเติมงบประมาณเข้า รพ.สต. เพิ่มเติมจากคู่มือฯ ได้, การมีผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์เฉพาะทาง เภสัชกร เป็นที่ปรึกษาของ อบจ. เป็นต้น
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธติดตามงบประมาณ #รพสต