วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เปิดผลโพล สถาบันพระปกเกล้า “ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี 1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566” คนไทยเทใจเลือก “ก้าวไกล” หากเลือกตั้งตอนนี้ ส่วน “เพื่อไทย” คะแนนนิยมวูบฮวบ ๆ

 


เปิดผลโพล สถาบันพระปกเกล้า “ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี 1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566” คนไทยเทใจเลือก “ก้าวไกล” หากเลือกตั้งตอนนี้ ส่วน “เพื่อไทย” คะแนนนิยมวูบฮวบ ๆ


สถาบันพระปกเกล้า โดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง 76 จังหวัด ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี : 1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566” จำนวน 1,620 ตัวอย่างทั่วประเทศ


โดยทำการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-18 พฤษภาคม 2567 ผ่านวิธีการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) พบว่า


เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า “ถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต”


35.7% ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล

18.1% ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

11.2% ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย

9.2% ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ

7.8% ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ

5% ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

1.6% ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา

1.2% ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคประชาชาติ


ขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าจะลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคอื่น ๆ หรือยังไม่ตัดสินใจเลือกใครในตอนนี้ รวมกันอีก 10.2%


เมื่อสอบถามว่า “แล้วในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคใด” ผู้ตอบแบบสอบถาม 44.9% ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล


44.9% ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล

20.2% ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย

10.9% ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรครวมไทยสร้างชาติ

3.5% ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคภูมิใจไทย

3% ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์

1.3% ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคประชาชาติ

0.7% ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคชาติไทยพัฒนา


นอกจากนี้ น่าสนใจว่า ยังมีผู้ตอบที่ระบุว่าจะลงคะแนนให้พรรคการเมืองอื่น ๆ หรือไม่ต้องการลงคะแนนให้พรรคใดเลยในตอนนี้ รวมกันถึง 12.6%


อย่างไรก็ตามเมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นมี 2 พรรค คือ พรรคก้าวไกลและพรรคประชาชาติ โดยพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็น 9.67% ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นถึง 49 ที่นั่ง


ส่วนพรรคประชาชาติได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น คิดเป็น 0.35% ซึ่งอาจทำให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง


ขณะที่มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลดลง จำนวน 6 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมลดลง 7% และอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสเสียที่นั่งที่มีอยู่เดิมไปราว 28 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนิยมลดลง 3.41% มีโอกาสเสียที่นั่ง 11 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย คะแนนนิยมลดลง 2.64% มีโอกาสเสียที่นั่ง 10 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมลดลง 1.13% มีโอกาสเสียที่นั่ง 3 ที่นั่ง


สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติที่ได้รับคะแนนนิยมลดลง 0.47% และพรรคชาติไทยพัฒนาที่ได้รับคะแนนนิยมลดลง 0.02% นั้น คะแนนนิยมที่ลดลงดังกล่าวยังไม่มากพอที่จะส่งผลให้พรรคการเมืองทั้งสองมีที่นั่งลดลง 


ส่วนของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พบว่า มีพรรคการเมือง 5 พรรคได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น คือ พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็น 8.33% พรรคพลังประชารัฐ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น 1.62% พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น 0.66% พรรคภูมิใจไทย ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น 0.6% และพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น 0.19%


อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้พรรคก้าวไกลมีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 8 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง เพียงสองพรรคเท่านั้น ส่วนคะแนนที่เพิ่มขึ้นของอีกสามพรรคยังไม่มากพอที่จะทำให้ได้ที่นั่งเพิ่ม


ขณะที่มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อลดลง จำนวน 3 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนนิยมลดลง คิดเป็น 7.49% พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็น 1.18% และพรรคประชาชาติ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็น 0.24% 


คะแนนนิยมที่ลดลงดังกล่าวมีผลให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อน้อยลง 8 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติมีโอกาสได้น้อยลง 2 ที่นั่ง และพรรคประชาชาติมีโอกาสได้ที่นั่งน้อยลง 1 ที่นั่งตามลำดับ


เมื่อนำตัวเลขประมาณการที่นั่งที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีโอกาสได้รับจากการเลือกตั้งทั้งสองระบบมารวมกัน พบว่า หากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลานี้ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีโอกาสได้ที่นั่งมากที่สุด รวม 208 ที่นั่ง


รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย 105 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 61 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ 34 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 30 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง และพรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง ตามลำดับ ส่วนที่นั่งที่เหลือจะกระจายไปยังพรรคการเมืองอื่น ๆ รวม 21 ที่นั่ง


เมื่อสอบถามว่า “ถ้าเลือกได้ อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มากที่สุด”


46.9% ระบุว่า อยากให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

17.5% ระบุว่า อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

10.5% ระบุว่า อยากให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

8.7% ระบุว่า อยากให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมตรี

3.3% ระบุว่า อยากให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรี

1.7% ระบุว่า อยากให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

0.4% ระบุว่า อยากให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี


นอกจากนี้ ยังมีผู้ตอบที่ระบุชื่อคนอื่น ๆ รวมกับที่ยังไม่เห็นว่ามีคนที่เหมาะสมอีก 10.9%  


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สถาบันพระปกเกล้า #ก้าวไกล #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #เลือกตั้ง