“ศุภโชติ” ทวงมาตรการรื้อ-ลด-ปลด-สร้างราคาพลังงาน ทำไปถึงไหน ยันรัฐบาลทำได้มากกว่านี้เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟ ลดภาระประชาชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 26 เมษายน 2567 ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแก้ปัญหาค่าไฟแพงของรัฐบาลว่า เวลานี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยอากาศร้อนมาก จึงเป็นปกติที่ความต้องการใช้พลังงานจะสูงตาม ค่าไฟเลยสูงขึ้นไปด้วย ประชาชนบางคนต้องหาวิธีลดค่าไฟ เช่นกำหนดอุณหภูมิเปิดแอร์คู่กับเปิดพัดลม ตามที่เผยแพร่เป็นข่าว
ตนเห็นว่าการมีวิธีใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนหรือการสนับสนุนให้ประชาชนลดการใช้พลังงานเพื่อประหยัดทรัพยากร โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน แต่อีกมุมหนึ่งต้องไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเดียว ทั้งๆ ที่รัฐบาลสามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือค่าไฟของคนไทยตอนนี้ยังไม่มีความเป็นธรรม รัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เอาแต่ใช้มาตรการยืดหนี้ แบกหนี้ ทำให้ค่าไฟไม่สะท้อนความเป็นจริง ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งก็เท่ากับงวดปัจจุบัน ทั้งที่ต้นทุนค่าไฟที่แท้จริงที่ประชาชนควรได้รับนั้นไม่ถึง 4 บาทต่อหน่วย
ศุภโชติกล่าวว่า พรรคก้าวไกลพูดมาตลอดว่าการแก้ไขปัญหาค่าไฟอย่างยั่งยืนต้องแก้ที่โครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่ตั้งคำถามคือรัฐบาลอยู่ไปอยู่มาก็ใกล้จะครบ 1 ปี ตอนนี้เริ่มทำแล้วหรือยัง ที่ รมว.พลังงาน เคยประกาศแผน “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ตั้งเป้าว่าปี 2567 ราคาพลังงานต้องมั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืนนั้น ตอนนี้ทำไปถึงไหน จึงขอย้ำข้อเสนอของตนและพรรคก้าวไกลว่า “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ของแท้ ควรเป็นอย่างไร
"รื้อ" คือ ควรมีการรื้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน หยุดการนำเงินไปจ่ายให้กลุ่มทุนเจ้าของโรงไฟฟ้าฟรี ๆ เป็นหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งที่โรงไฟฟ้านั้นเดินเครื่องบ้าง ไม่เดินเครื่องบ้าง
"ลด" คือ วางแผนลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทฟอสซิล และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดผ่านการร่างแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ เพื่อลดความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงอย่างก๊าซธรรมชาติ และ มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
"ปลด" คือ ปลดโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่หมดอายุการใช้งานและไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนส่วนเกิน รวมถึงสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในภาคพลังงานได้ดียิ่งขึ้น
"สร้าง" คือ สร้างตลาดพลังงานเสรี ที่มีการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการผูกขาดภาคพลังงาน รวมไปถึงการปลดล็อกสายส่งที่จะเป็นการเพิ่มภาวะการแข่งขันในภาคพลังงาน และเป็นการสร้างตัวเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในการเข้าถึงไฟฟ้าที่มีราคาถูก
“ถ้ารัฐบาลทำเรื่องรื้อ ลด ปลด สร้าง นี้อย่างถูกวิธี ค่าไฟจะลดลงอย่างยั่งยืน รัฐบาลเองก็พูดได้เต็มปากว่านี่คือการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ที่ไม่ใช่แค่มาตรการระยะสั้นแบบที่ผ่านมา แต่ถ้าท่านไม่ทำ ประชาชนก็มีสิทธิ์คิดว่ามีอยู่เหตุผลเดียวเท่านั้น คือเสียงของกลุ่มทุนดังกว่าเสียงของประชาชน รัฐบาลนี้ไม่กล้าชนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน แต่กล้าที่จะให้ประชาชนถูกเอาเปรียบผ่านบิลค่าไฟไปเรื่อย ๆ” ศุภโชติกล่าว