“ศิริกัญญา” อภิปรายงบ 67 วาระ 2 ขอ “ตัดงบกลาง 3 หมื่นล้าน”
เหตุที่ผ่านมารัฐบาลเบิกจ่ายงบใช้ไปพลางไม่เต็มประสิทธิภาพ
กังวลแนวโน้มจัดเก็บรายได้พลาดเป้ากว่า 1 แสนล้าน
แถมตั้งใจตั้งงบส่วนอื่นให้ขาด เพื่อนำงบกลางสำรองฉุกเฉินไปจ่ายชดเชย
วันที่
20 มีนาคม 2567 ในการพิจารณาร่าง
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วาระ 2 ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณฯ
เสียงข้างน้อย อภิปรายขอสงวนความเห็นในมาตรา 4 (งบประมาณภาพรวม)
และมาตรา 6 (งบกลาง) เพื่อขอปรับลดงบประมาณลง 3 หมื่นล้านบาท
ศิริกัญญากล่าวว่า
เหตุผลแรกที่ควรตัดลดงบในภาพรวมลง 3 หมื่นล้านบาท
เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลเศรษฐาเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ
ซึ่งไม่ได้เกิดจากการที่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ออกล่าช้า
เพราะจากงบจำนวน 3.48 ล้านล้านบาท
สำนักงบประมาณได้อนุมัติให้รัฐบาลใช้ไปพลางก่อนแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท
แต่ก็ยังเกิดการเบิกจ่ายล่าช้าเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดการเบิกจ่าย
จากงบประมาณที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ไปพลางก่อน
1.8 ล้านล้านบาท ข้อมูลจนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2567
รัฐบาลเบิกจ่ายรายจ่ายประจำไปแค่ร้อยละ 79 เท่านั้น
ส่วนรายจ่ายลงทุนที่จัดสรรไว้ 1.5 แสนล้านบาทก็มีการเบิกจ่ายไปเพียง
8.5 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 55 เท่านั้น
รวมทั้งสองส่วนรัฐบาลเบิกจ่ายไปแค่ร้อยละ 76.9 ดังนั้น
ตนจึงคิดว่าถ้ารัฐบาลจะขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณขนาดนี้
ก็ไม่สมควรที่จะนำงบประมาณไปใช้ทั้ง 3.48 ล้านล้านบาท
และเห็นควรให้ตัดลดลง 3 หมื่นล้านบาท
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า
อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องตัดลดงบประมาณในภาพรวม คือการประมาณการรายได้ที่สูงเกินไป
เนื่องจากรัฐบาลได้ออกนโยบายที่จะกระทบกับรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น
นโยบายไม่เก็บภาษีการขายหุ้น นโยบายลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน Thai ESG นโยบายลดการนำส่งรายได้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
รวมถึงนโยบายลดภาษีสรรพสามิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันให้ประชาชน ซึ่ง 4 เดือนแรกก็เสียรายได้ไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้
รายได้จากภาษีเงินได้ก็อาจจะจัดเก็บได้น้อยลง
เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยขณะที่กำลังจัดทำงบประมาณ 2567 มีการประมาณการว่า
Nominal GDP หรือจีดีพีที่เป็นตัวเงินของปี 2567 ซึ่งรวมเงินเฟ้อแล้วจะโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 แต่ล่าสุดจากการประมาณการของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
Nominal GDP น่าจะโตเพียงแค่ร้อยละ 4 เท่ากับรายได้ของรัฐบาลจะหายไปแล้วร้อยละ
1 หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
เมื่อรวมทุกปัจจัยแล้ว
รัฐบาลจึงมีความเสี่ยงที่จะจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้กว่า 1 แสนล้านบาท
ปัญหาคือ ณ วันนี้รัฐบาลมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลแล้วกว่า 6.93 แสนล้านบาท แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย
เราจะมีช่องว่างที่จะกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มเติมได้เพียงแค่ไม่ถึง 1 แสนล้านบาท จากเพดานเต็ม 7.9 แสนล้านบาทเท่านั้น
หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจะทำอย่างไร
รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่หน่วยงานใดทำโครงการก่อนได้งบประมาณก่อน
หน่วยงานใดทำงบประมาณทีหลังได้งบประมาณทีหลัง ดังนั้น
จึงควรมีการจัดลำดับความสำคัญกันใหม่ ปรับลดงบประมาณลงสักเล็กน้อย เพื่อที่จะทำให้สถานะทางการคลังของประเทศไม่สะดุดลงหรือมีปัญหา
นอกจากนี้
ศิริกัญญายังได้อภิปรายต่อในมาตรา 6 (งบกลาง) ว่า
งบประมาณที่ตนขอตัดลด 3 หมื่นล้านบาทนั้นอยู่ในส่วนของงบกลาง
หมวด “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น”
เพราะมองว่างบในหมวดนี้ควรสำรองไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินจำเป็นเท่านั้น
แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับตั้งใจตั้งงบส่วนอื่นให้ขาด
แล้วใช้เงินสำรองฉุกเฉินจำเป็นไปจ่ายทดแทน ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้มีการถอดบทเรียนจากรัฐบาลที่ผ่านมาในการปรับปรุงการจัดทำงบกลางให้มีประสิทธิภาพและตรงกับเป้าประสงค์
ตัวอย่างเช่น
งบกลางในส่วนของเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญข้าราชการ
และค่ารักษาพยาบาลของบุคลากรภาครัฐ ปีนี้เป็นปีที่สามแล้วที่รัฐบาลตั้งงบไว้ขาด
โดยสำหรับกรณีเบี้ยหวัดและบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ปีที่แล้วมีการเบิกจ่ายเกือบ 3.6 แสนล้านบาท
ในขณะที่ปีนี้ตั้งงบไว้เพียงแค่ 3.3 แสนล้านบาท
เท่ากับว่าหากมีจำนวนราชการที่เกษียณอายุ เสียชีวิต
หรือลาออกจากราชการจำนวนเท่าเดิม ก็จะขาดงบประมาณที่จะใช้ในส่วนนี้ราว 3 หมื่นล้านบาท
เช่นเดียวกับค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐ
ปีที่แล้วใช้ไป 9.6
หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลตั้งงบปีนี้ไว้เพียงแค่ 7.6 หมื่นล้านบาท ทั้งที่คนที่จะมาใช้บริการรักษาพยาบาลมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ เท่ากับว่าถ้ามีการเบิกจ่ายเท่ากับปีที่ผ่านมาก็จะขาดงบประมาณสำหรับส่วนนี้ไปอีก
2 หมื่นล้านบาท
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า
จากที่ตนใช้เวลาเกือบสองเดือนอยู่ในคณะกรรมาธิการงบประมาณ
ก็ยังพบอีกหลายรายการที่รัฐบาลตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ
และต้องใช้งบกลางในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นไปจ่ายทดแทนรวมเกือบแสนล้านบาท
เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ต้องใช้เงินสำรองฉุกเฉินจำเป็นไปทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
หรือมาตรการช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใดแล้วใช่หรือไม่
ดังนั้น
เพื่อยืนยันว่าเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นควรจะต้องใช้เมื่อมีความฉุกเฉินและจำเป็นจริง
ๆ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลตั้งใจตั้งงบไม่เพียงพอ แล้วรอจะมาใช้เงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น
จึงเสนอให้ตัดลดงบกลางเงินสำรองฉุกเฉินจำเป็น 3 หมื่นล้านบาท
ดังที่ตนได้อภิปรายไปข้างต้น
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชุมสภา #งบ67 #อภิปรายงบ