วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“ภคมน” ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล วางแนวทางอนาคตส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชนไม่ให้ถูกละเมิด หลังเกิดเหตุจับกุมนักข่าว-ช่างภาพ ย้ำเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน

 


ภคมน” ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล วางแนวทางอนาคตส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชนไม่ให้ถูกละเมิด หลังเกิดเหตุจับกุมนักข่าว-ช่างภาพ ย้ำเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน

 

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี เรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน โดยนายกฯ มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบแทน

 

ภคมนกล่าวว่า การละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในยุครัฐบาลเผด็จการและยุครัฐบาลสืบทอดอำนาจ แต่จากกรณีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่มีการจับกุมสื่อมวลชน 2 คนตามหมายจับศาลอาญาลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เชื่อมโยงว่าสื่อมวลชนเหล่านั้น “ร่วมสนับสนุนการกระทำผิดในคดีอาญา” จากการทำข่าวกิจกรรมพ่นสีบนกำแพงวัดพระแก้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ตนมองว่าการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการทำข้ามขั้นตอน เพราะไม่มีการส่งหมายเรียกก่อน จึงฝากคำถามไปยังรัฐบาลว่า ปล่อยให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นได้อย่างไร และจะแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร

 

ดิฉันมีความเป็นห่วง เพราะในสังคมที่มีความเห็นต่าง กระบวนการยุติธรรมต้องเชื่อถือได้และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ดิฉันไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนี้ปิดปากหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่เราจำเป็นต้องนำเรื่องนี้มาพูดคุยกัน ว่ากระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน เราจะแก้ไขอย่างไร” ภคมนกล่าว

 

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ตนมีความกังวลเนื่องจากบริบทสื่อมวลชนในประเทศไทย สื่อไม่สามารถมีอิสระได้อย่างเต็มที่ เพราะธุรกิจสื่อต้องพึ่งพาแหล่งทุน ทำให้การที่รัฐกดดันสื่อและปิดปากสื่อผ่านการสร้างความกลัว ทำได้ง่ายมาก เพราะท้ายที่สุด ทุนจะไปกดดันสื่อต่อ ไม่มีทุนไหนพร้อมแบกความเสี่ยงโดยการทำให้รัฐไม่พอใจ เมื่อรัฐออกหมายจับ เมื่อถูกตีตราว่าผิด ต้นสังกัดที่ต้องพึ่งพาทุน ก็ต้องปกป้องตัวเองและเลือกผลักไสแรงงานสื่อเหล่านี้ออกไป

 

กรณีแบบนี้เกิดหลายครั้ง เป็นการสร้างความหวาดกลัวในยุคเผด็จการ แต่วันนี้ในยุครัฐบาลพลเรือน เราจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นต่อไปอย่างนั้นหรือ ดังนั้น คำถามที่ 2 ที่จะถามรัฐบาลคือ ในยุครัฐบาลพลเรือน จะมีการคุ้มครองเสรีภาพสื่ออย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย มีประเด็นล่อแหลม เช่น การชุมนุมทางการเมือง

 

ภคมนย้ำว่า สิ่งที่รัฐต้องตระหนักอยู่เสมอ คือสื่อไม่ใช่ PR หรือ IO ของรัฐ เมื่อใดก็ตามที่สื่อหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพ หยิบปากกาขึ้นมาบันทึกสถานการณ์ ข้อเท็จจริงออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ หน้าที่หลักของสื่อไม่ใช่การนำเสนอความเห็นเพื่อเทิดทูนและสร้างความราบรื่นให้แก่รัฐ แต่เป็นการสะท้อนปรากฏการณ์ สะท้อนความจริง ไม่ว่าความจริงนั้นจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายไหน

 

ภคมนกล่าวว่า ตนอยากเห็นภาพที่แตกต่างไปจากช่วงรัฐบาลเผด็จการ ที่ผ่านมาสื่อมวลชนถูกกดให้หลังขดหลังงอ เราจะทำอย่างไรให้สื่อสามารถยืนหลังตรงได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง ประเด็นที่แหลมคมในสังคม ท่านเป็นตัวแทนรัฐบาลพลเรือน ควรภาคภูมิใจที่สังคมกล้าขับเคลื่อนประเด็นที่ก้าวหน้า ไม่ใช่แค่การทำข่าวดราม่า ข่าวฆาตกรรม พอเป็นข่าวแบบนี้ รัฐแทบไม่เคยยุ่ง แต่เมื่อไรที่เป็นเรื่องทางสังคม เรื่องการเมือง รัฐจะต้องสอดมือเข้ามาทันที

 

ดังนั้นคำถามสุดท้าย ในภาพใหญ่ รัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมเสรีภาพของสื่ออย่างไรไม่ให้ถูกละเมิดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ไม่ให้สื่อถูกเซ็นเซอร์ ไม่ให้ถูกฟ้องปิดปาก และรัฐบาลจะการันตีได้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ลิดรอนเสรีภาพสื่อ จะเป็นครั้งสุดท้าย

 

ในฐานะคนเคยทำสื่อ ยืนยันว่าเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน ดิฉันขอใช้พื้นที่สภาฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย คุยกันถึงหลักการในอนาคต ดิฉันยังหวังว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้ จะสลัดรอยต่อของรัฐบาลเผด็จการ คืนศักดิ์ศรีคืนเสรีภาพให้สื่อมวลชน” ภคมนกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล