วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

"ภูมิใจไทย" ยื่น ร่างกฎหมายต่อรัฐสภา พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช.

 


“ภูมิใจไทย” ยื่น ร่างกฎหมายต่อรัฐสภา พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช.


วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2567) นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สส.สระบุรี และนายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย แถลงข่าวภายหลังการยื่นร่าง พระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... ต่อ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร


นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มอบหมายให้ นายศุภชัย ใจสมุทร และทีมฝ่ายกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย ไปศึกษาในเรื่องของประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่เป็นอุปสรรคในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย และได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งจากการศึกษาประกาศ และคำสั่ง คสช. มีทั้งหมด 240 ฉบับ การยกเลิกต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งจะมีทั้งสิ้น 71 ฉบับ โดยศักดิ์ของกฎหมาย คำสั่ง และประกาศของ คสช. เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังนั้น ถ้าจะยกเลิกจะต้องทำเป็น พ.ร.บ.


ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คำสั่งของ คสช. ที่จะบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปนั้นมีทั้งหมด 37 ฉบับ ที่ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และกฎกระทรวงอย่างละ 2 ฉบับ เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 55 เรื่อง 


สำหรับร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ยื่นนี้ ยกร่างเอาไว้ 7 มาตรา เป็นกฎหมายพ่วงหลายฉบับแนบท้ายร่างที่นำเสนอ เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ประเทศของเราเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย แต่ยังมีเรื่องเป็นอุปสรรคในการไปแทรกแซงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชน รวมถึงสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม จึงอยากให้เพื่อนสมาชิก สส. ให้ความเห็นชอบและผ่านร่างกฎหมายนี้โดยเร็ว


ประเทศไทยในวันนี้ มีประกาศคณะปฏิวัติที่บังคับใช้อยู่ตั้งแต่ตอนต้นรวมกว่าพันฉบับ ซึ่งก่อนครบวาระสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 มีการพยายามทำกฎหมายโดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดทำประมวลกฎหมาย และกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยสะดวก แต่ก็ กมธ.ชุดนี้ดำเนินการไปเพียง 12 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ


อย่างไรก็ตาม การพยายามเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้สนับสนุนในเรื่องของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และก็ไม่ได้ตำหนิคำประกาศของคณะปฏิวัติแต่อย่างใด บางฉบับก็มีความจำเป็นในการปกครองประเทศ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อจากคำประกาศคณะปฏิวัติมาให้เป็นกฎหมาย ชื่อ พระราชบัญญัติหรืออย่างอื่น ดูดีในของชาวต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ภูมิใจไทย #พรบยกเลิกประกาศคำสั่งคสช