“หมอเหวง” ลั่น ทักษิณ-เพื่อไทย
ต้องทวงคืนความยุติธรรมคนเสื้อแดง แค่ปากท้องซื้อใจไม่ได้
ถอดจากรายการ
The
Politics ข่าวบ้านการเมือง มติชนทีวี
เผยแพร่เมื่อวันที่
22 ก.พ. 67
คำถาม : วินาทีแรกที่เห็นว่า “ทักษิณ”
ได้พักโทษออกมา ความรู้สึกส่วนตัวมีความรู้สึกอย่างไร?
ข้อแรก
ท่านอดีตนายกฯ ทักษิณไม่ควรได้รับโทษเลย
เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเนื่องจาก คมช. คปค.
ยึดอำนาจรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณและฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540
ซึ่งอันนี้เป็นความผิดตามมาตรา 113 มีโทษกบฏ
แต่ประเทศไทยถ้าหากว่าคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จเขาจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์
ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาทางกฎหมาย
ส่วนตัวผมอยากเสนอไปยังผู้เกี่ยวข้องว่าเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงได้ไหม? ถ้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฎฐาธิปัตย์
เขาก็จะรัฐประหารไปเรื่อย ๆ ประเทศไทยจะไม่มีวันปลอดพ้นจากการรัฐประหารได้
กลับมาเรื่อง
“ทักษิณ” เกิดขึ้นจาก คตส.
(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาแก่รัฐ) ซึ่ง คปค. คมช.
เป็นผู้แต่งตั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่เกลียดชังคุณทักษิณ การเอาคนเหล่านี้มาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและตั้งข้อกล่าวหาดำเนินการยื่นฟ้อง
มันไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น
ความเห็นส่วนตัวผมในการที่คุณทักษิณได้ตัดสินใจกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรม
และได้พระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ จาก 8 ปี เหลือ 1 ปี
และเป็นไปตามเกณฑ์ของกฎหมายทุกประการ เป็นผู้สูงอายุและมีการเจ็บไข้ได้ป่วย
ตรงนี้เป็นปัญหาที่ทำให้คนบ่นพึมพำ บางส่วนก็แสดงออก บางส่วนก็แสดงความโกรธแค้น
แสดงว่าในสังคมไทยคนที่โกรธแค้นอาฆาตมาดร้ายคุณทักษิณยังมีอยู่พอสมควร
ผมรู้สึกว่าดีใจแทนคุณทักษิณ-ครอบครัวคุณทักษิณ
และดีใจแทนคนที่นิยมชมชอบศรัทธาเชื่อมั่นคุณทักษิณอยู่
คำถาม : คุณทักษิณโดนกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ควรจะโดน
และคุณทักษิณใช้กระบวนการยุติธรรมกลับมาในลักษณะเช่นนี้ (อ้างอิงคำพูด
หนุ่มเมืองจันท์) จึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วพี่น้องเสื้อแดงที่เคยร่วมต่อสู้กันมา
หลายคนเจ็บ หลายคนติดคุก หลายคนลี้ภัย เขาจะยังไง?
อย่าลืมว่าการต่อสู้ปี
2553 มีคุณูปการอย่างมากต่อการได้รับการเลือกตั้งของ “ยิ่งลักษณ์”
พี่น้องเสื้อแดงเทคะแนนให้ยิ่งลักษณ์ ประเด็นสำคัญที่สุดคือต้องการลงโทษ ศอฉ.
ต้องการแก้แค้นแทนพี่น้อง 100 ศพที่ถูกฆ่าไป โดยการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
เลือกรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ฉะนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ควรจะดำเนินการนำเอาคนฆ่าและคนสั่งฆ่ามาโทษตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้
ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ทำจำนวนหนึ่งและมีการชดเชยเงินจำนวน 7.5 ล้าน
แต่เงินไม่สามารถซื้อชีวิตได้ เงินไม่สามารถซื้อคุณธรรมการต่อสู้ได้
ที่สำคัญมากกว่าเงินคือ คุณธรรมการต่อสู้ การพลีชีพเสียสละเพื่อประชาธิปไตย
ฉะนั้นต้องคืนความยุติธรรมให้กับคนที่เสียชีวิตในปี 2553
ในเมื่อวันนั้นยังทำไม่ได้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ชูคำขวัญ “แก้ไข ไม่แก้แค้น”
อันนี้พอฟังได้ระดับหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วไม่ถูก
ถ้าคุณไม่เอาคนฆ่าและคนสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษตามกฎหมาย
การฆ่าประชาชนจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ที่ถูกคือต้องยุติการฆ่าประชาชนสองมือเปล่ากลางถนนลงไปให้ได้
โดยเอาทหารที่ฆ่าและคนที่สั่งฆ่ามารับโทษตามกฎหมายให้ได้
แต่มันผ่านมาแล้วไง
“แก้ไข ไม่แก้แค้น” แล้วพยายามไปทำเรื่องเศรษฐกิจ
โดยหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจดีแล้วประชาชนจะนิยมชมชื่นเหมือนสมัยยุคทักษิณ
เวลาพิจารณาการเมืองหรือสถานการณ์ประเทศ ต้องเอาบริบทเป็นหลัก
ถ้าไม่เอาความเป็นจริงในสมัยโน้นเป็นหลัก
เที่ยวจับเอาแพะชนแกะมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะสถานการณ์ปี 2544 กับสถานการณ์ปี
2549 หรือสถานการณ์ปี 2553 หรือสถานการณ์ปี 2567 ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ผมยืนยันว่า
“เพื่อไทย” ยังมีหน้าที่ในการทวงความยุติธรรมให้กับวีรชนประชาธิปไตยที่เสียสละชีวิตในปี
2553 ถ้า “เพื่อไทย” อยากจะสร้างคะแนนนิยมในหมู่คนเสื้อแดงจริง ๆ
และประชาชนไทยทั้งประเทศจริง ๆ ต้องทวงความยุติธรรมคืนให้กับวีรชนประชาธิปไตยในปี
2553 ให้ได้
1.
ต้องเดินหน้าในการไต่สวนการตายอีก 62 ศพ ยื่นต่อศาลให้มีคำสั่งการตาย ผมเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยผลักดันเรื่องนี้ทันที
2.
ต้องแก้กฎหมาย กรณีทหารที่ทำผิดอาญาต่อพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือน
คำถาม
: พอดีกรณีคุณทักษิณขึ้นมา
ด้านหนึ่งทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกต่อพี่น้องคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่า
ท้ายที่สุดที่ต่อสู้มารู้สึกว่า ณ วันนี้เขาถูกทิ้ง หรือเปล่า?
มีจำนวนหนึ่งครับ
มีจำนวนไม่น้อยที่กำลังจับตาดูอยู่ว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองต่อเนื่องจาก
ไทยรักไทย - พลังประชาชน - เพื่อไทย และถ้าพูดกันตรงไปตรงมา
ผู้คนก็ยอมรับว่าคุณทักษิณเป็นผู้นำทางความคิด
หรือผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำไป ถ้าจะทำให้คนเสื้อแดงไม่ผิดหวังและไม่ตีตัวออกห่างจากพรรคเพื่อไทย
ผมว่าต้องทวงความยุติธรรมในปี 2553 ให้ได้
คำถาม : ปัจจุบันภาพรวมคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร?
นับตั้งแต่การเลือกตั้ง
14 พ.ค. 2566 แรก ๆ ผมเชื่อว่าคนเสื้อแดงทั้งประเทศเขาจับตาดูการหาเสียงของทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล
ซึ่งแรก ๆ เพื่อไทยเขามีความมั่นใจมากว่าจะได้เกินกว่า 300 ตอนหลังก็ประกาศตัวเลข
360
จนถึงขั้นเอาสีแดงมาเป็นโลโก้เพื่อดึงดูดให้คนเสื้อแดงมาเทคะแนนเสียงให้เพื่อไทย
เพื่อบอกว่าพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนของคนเสื้อแดงเพียงพรรคเดียว
ประเด็นคือต้องเข้าใจคำว่าสีแดงก่อน ต้องเข้าใจคำว่าคนเสื้อแดงก่อน
แก่นของมันก็คือต่อต้านรัฐประหารและสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้ายึดแก่นนี้ไว้ได้
คนเสื้อแดงก็จะอยู่กับคุณไปตลอด
ตอนต้น
ๆ พรรคเพื่อไทยไม่กล้าประกาศว่าไม่เอาสองลุง
แต่มาประกาศไม่เอาสองลุงภายหลังใกล้วันเลือกตั้ง
ทำให้ผู้คนสงสัยว่าพรรคเพื่อไทยต่อต้านรัฐประหารจริงหรือเปล่า?
หลังผลการเลือกตั้งออกมา “ก้าวไกล” ได้ 151 “เพื่อไทย” ได้ 141
คนก็ยังฝากความหวังให้สองพรรคนี้จับมือกันอย่างเหนียวแน่นที่สุดร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอื่นรวมเป็น
8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีก้าวไกลเป็นแกนนำ
แต่ก้าวไกลล้มเหลวในการได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ จนมาถึงคิวของเพื่อไทย
มาถึงจุดนี้
ส่วนตัวผมได้ส่งสัญญาณทางการเมืองไปยังเพื่อไทย ขอให้คุณจับกันให้เหนียวแน่น
รอจนถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ก็ได้ อย่าไปอ้างเรื่องเศรษฐกิจ
เพราะมาถึงวันนี้คุณเป็นรัฐบาลแล้ว เศรษฐกิจคุณแก้ได้ขนาดไหน?
คำถาม : เพื่อไทย กับ คุณทักษิณ
ยังมีโอกาสไหมสำหรับ คนเสื้อแดงบางส่วนที่จะเปิดใจรับเขากลับมา
ขึ้นอยู่กับการกระทำทางการเมืองและการตัดสินใจทางการเมือง
ถ้าเพื่อไทยตัดสินใจยืนหยัดในการต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำนาจนิยม
ยืนหยัดในการสร้างประชาธิปไตย
ผมเชื่อว่าคนที่เขาคลางแคลงใจจะเปลี่ยนใจกลับมาสนับสนุน แต่ว่าในช่วง 6
เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าเริ่มต้นก็สร้างความไม่สบายใจให้คนเสื้อแดงที่ไปจับมือกับสองลุง
เพราะสองลุงเป็นคีย์แมนของคณะรัฐประหาร
เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าคุณพร้อมที่จะหลอมละลายเป็นเนื้อเดียวกันกับพวกเขา
คุณภูมิธรรมบอกว่า “สลายขั้ว” ข้อแรก เป็นการสร้างความไม่สบายให้
ขัดข้องใจให้กับพี่น้องคนเสื้อแดง
ข้อสอง
ในระหว่างหาเสียง เพื่อไทยมีสัญญาประชาคมข้อหนึ่งว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้สสร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
แต่พอคุณเป็นรัฐบาลคุณตั้งคณะกรรมการประชามติเลย ใช้เวลาเป็นเดือน
แล้วผลของคณะกรรมการประชามติมีอยู่ประโยคหนึ่งคือ จะทำประชามติถามประชาชนว่า
ท่านเห็นชอบด้วยหรือไม่ ที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้หมวด 1
หมวด 2 แล้ว สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งประเทศไปไหนเสียแล้ว
ตรงนี้ก็สร้างความผิดหวังให้กับพี่น้องเสื้อแดงซ้ำสอง
ข้อสาม
เรื่องนิรโทษกรรม คุณก็ฟันธงเลยว่าจะไม่นิรโทษกรรม 112 ตอนหลัง อ.ชูศักดิ์
ถึงมาเป็นประธานคณะกรรมการนิรโทษกรรม และ
อ.ชูศักดิ์ยังบอกเลยว่าไม่รู้ว่าจะมีอำนาจจนกระทั่งร่างกฎหมายหรือเปล่า แรก ๆ
เบอร์ใหญ่ ๆ ในพรรคเพื่อไทย 4-5 คน บอกไม่เอานิรโทษกรรม 112
สมมุติว่าเพื่อไทยไปนิรโทษกรรม 112 ผมว่าพรรคร่วมรัฐบาลยุ่งแน่
เพราะพลังประชารัฐเขายืนยันว่าไม่เอา รวมไทยสร้างชาติก็ยืนยัน กลับมาที่ประเด็นคือ
ถ้าไม่นิรโทษกรรม 112 ก็ทำให้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งรับไม่ได้เหมือนกัน
คำถาม : สำหรับพี่น้องคนเสื้อแดงบางส่วน
ประเด็น 112 ก็สำคัญเหมือนกันใช่มั้ย?
คือเขามองว่าคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองกับอำนาจรัฐ
โดนลงโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ ถ้าหากว่าอยู่ในขอบข่ายของความเห็นขัดแย้งทางการเมือง
พวกนี้ควรจะได้รับนิรโทษกรรมทั้งหมด ผมเองก็มีกรอบนะ อย่างน้อย 3 ประการ คือ
ประเทศไทยต้องมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข,
ประเทศไทยต้องเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวอันแบ่งแยกไม่ได้,
องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงในฐานะสูงสุด ละเมิดมิได้
ผู้ใดจะฟ้องร้องหรือกล่าวโทษประการใดไม่ได้ ต้องอยู่ใน 3 กรอบนี้นะ ซึ่งผมพยายามดูบรรดาคนที่ถูกจับถูกและถูกคุมขังอยู่
ผมไม่เห็นใครอยากจะได้ระบอบสาธารณรัฐเลย ผมไม่เห็นใครที่อยากจะแบ่งแยกประเทศไทยเลย
ผมไม่เห็นใครที่อยากจะไปก้าวล่วงสถาบันสูงสุดของชาติเลย
เมื่อเป็นอย่างนี้ผมว่าเป็นกรอบที่เราจะต้องยอมรับและควรจะนิรโทษกรรมเขาด้วยครับ
คำถาม : ส่วนตัวคุณหมอในฐานะอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยและเป็นคนเสื้อแดงด้วย
ความรู้สึกต่อพรรคเพื่อไทยยังเหมือนเดิมมั้ย?
การไปเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเพราะผมยืนอยู่บนหลักการและอุดมการณ์ที่ต่อต้านรัฐประหารและสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง
และวันนั้นเวลาอยู่ในพรรคผมก็มีความเห็นทางการเมืองใหญ่ ๆ อย่างน้อย 2-3
ประการที่ผมไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย และผมก็ใช้สิทธิของผมในการสงวนไม่ลงคะแนน
คือตอนนั้น อ.ธิดา เป็นประธานนปช.
และอ.ธิดาเสนอเรื่องให้ประชาชนเลือกสสร.โดยตรงแล้วมายกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 100 คน
ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไปเลย เขาต้องการให้มีกรรมการชุดหนึ่งเป็นคนยกร่าง 22
คน แล้วให้เลือกสสร.จังหวัดละ 1 คน 77 จังหวัด รวมเป็น 99 คน มันผิด
คือคุณเป็นรัฐบาล มีเสียงข้างมากในสภา แล้วคุณจะกินรวบ
แล้วพรรคการเมืองอื่นเขาจะยอมได้อย่างไร ถึงแม้จะโหวตชนะ
แต่สุดท้ายก็สร้างความแตกแยกทางการเมือง นี่อันที่หนึ่ง
อันที่สองคือ
นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน
เพราะว่าถ้าคุณนิรโทษทั้งหมดก็แปลว่าคนสั่งฆ่าก็ได้รับการนิรโทษด้วย อ.ธิดา
ซึ่งเป็นผู้นำนปช.ตอนนั้นก็เลยเห็นประเด็นนี้บอกว่าให้นิรโทษเฉพาะประชาชนก่อน
คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเคลื่อนไหวทั้งหมดไม่ให้นิรโทษเลย ซึ่งหมายรวมถึงพวกผมด้วยนะ
หมายรวมถึงศอฉ. รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วย ตอนนั้นคุณวรชัย เหมะ มาขออนุญาต
อ.ธิดา เอาร่างนี้ไปดำเนินการต่อ อ.ธิดา ได้ย้ำว่าให้เสนอเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)
อย่าทำเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพราะถ้าทำเป็นพ.ร.บ.ก็จะมีการไปแก้กันเละเทะหมด
ต่อมาพ.ร.บ.ฉบับวรชัยผ่านวาระที่ 1 ไปวาระที่ 2 ก็แก้กันเละเลย
กลายเป็นนิรโทษเหมาเข่งสุดซอย สุดท้ายก็เลยเป็นการเปิดประตูให้กับ สุเทพ
เทือกสุบรรณ สามารถจุดประเด็น กปปส. ติดและนำมาสู่การรัฐประหาร
นี่เป็นเรื่องที่สองที่ผมไม่เห็นด้วยกับเขา
เรื่องที่สาม
ศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี เมษา-พฤษภา ปี 2553 อ.ธิดา
ในฐานะที่เป็นประธานนปช.ในสมัยนั้น อุตสาห์เดินทางไป ICC ที่เจนีวา
พร้อมกับ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม, อ.ธงชัย วินิจจะกูล, พะเยาว์ อัคฮาด
ไปคุยเรียบร้อยแล้ว ทางศาลอาญาระหว่างประเทศบอกว่าเขาเข้าใจเรื่องทั้งหมดเลย
เรื่องทั้งหมดอยู่ในแฟ้มแล้ว ซึ่งอัมสเตอร์ดัมมองว่าอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ
จะใช้สถานะนี้ยื่นและดำเนินเรื่องไป แต่ ICC บอกว่า
อภิสิทธิ์คนเดียวทำไม่ได้ ต้องให้ประเทศไทยประกาศรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี
เมษา-พฤษภา ปี 2553 ก่อน
และ
เมื่อ 1 พ.ย. 2555 Fatou
Bensouda อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เดินทางมาประเทศไทย ชี้แจงกับ
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
และผู้เกี่ยวข้องว่าสามารถทำได้โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนอื่นเลย
มีคนที่พยายามกังวลว่าถ้ารับรองเขตอำนาจศาลแล้วจะไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน
ไม่เกี่ยวเลย เพราะมันเฉพาะกรณี เมษา-พฤษภา ปี 2553 เกี่ยวข้องเฉพาะ
ศอฉ.และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่รัฐบาลเพื่อไทยไม่ยอมรับ
มาถึงตอนนี้
ความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่าพรรคเพื่อไทยได้ทำการตัดสินใจทางการเมืองที่พลาดไป
ที่สำคัญที่สุดคือการข้ามขั้วไปจับมือกับสองลุง
ทำให้ความรู้สึกของคนและเข้าใจว่าขณะนี้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไปแล้ว
คือจุดยืนอยู่ฟากเดียวกับฝ่ายรัฐประหาร ถึงแม้จะอ้างเรื่องเศรษฐกิจ
คือพรรคเพื่อไทยมีภาพติดใจว่าหากแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนได้เป็นผลสำเร็จ
คนก็จะกลับมานิยมชมชอบ ส่วนตัวผมในวันนี้ผมถือว่าพรรคเพื่อไทยเขาข้ามขั้วไปแล้ว
สำหรับผมก็รู้สึกเสียใจที่พรรคการเมืองที่ดีมากพรรคหนึ่งได้เปลี่ยนจุดยืนของตัวเองไปแล้ว
คำถาม :
ตอนนี้เพื่อไทยเป็นรัฐบาล นายกฯ ก็เป็นคนของเพื่อไทย
แล้วตอนนี้มีคุณทักษิณกลับมาอีก
ด้วยความเชื่อที่ว่าไอเดียคุณทักษิณจะถูกส่งมายังรัฐบาลและทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
คุณหมอเป็นอดีตคนเพื่อไทย รู้จักคุณทักษิณในจุดหนึ่ง
ประเมินว่าความคิดความเชื่อแบบนี้ยังตอบโจทย์มั้ย กับเพื่อไทยในยุคสมัยปัจจุบัน?
ความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่าไม่ตอบโจทย์
เพราะความขัดแย้งหลักของสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว ในสมัยทักษิณ
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแข็งแรงมากเพราะมีรัฐธรรมนูญฉบับ
2540 ความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในสมัยโน้นก็คือความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ
เพราะเศรษฐกิจหายนะจากกรณีของ “ต้มยำกุ้ง” คุณทักษิณเข้ามาได้ถูกจังหวะ
การเมืองนิ่งแล้ว แข็งแรงแล้ว
ในวันนั้นทุ่มกำลังทุ่มสติปัญญาลงไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนอยู่ดีกินดีประชาชนจะชื่นชมศรัทธานิยมมหาศาลถ้าทำได้สำเร็จ
ทักษิณใช้หนี้ IMF ภายใน 2 ปี
ทั้งที่คนดูถูกว่าหลายสิบชาติก็แก้ไม่ได้ ทักษิณจ่ายหนี้ IMF
และทำให้สถานภาพของประเทศไทยดีขึ้นในสายตาของชาวโลก
เงินทองไหลเข้ามาเพราะคนเขาเชื่อมั่นแล้ว นอกจากนี้ทักษิณยึดกุมปัญหาของคนจนได้
เพราะฉะนั้นก็เลยเทลงไป ธนาคารคนจน, หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ม
กองทุนหมู่บ้านม 30 บาทรักษาทุกโรค
กลับมาวันนี้ วันนี้ต่างกันเลย
วันนี้เป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหารปี 2549 จนถึงปัจจุบัน
ผลพวงของรัฐประหารยังไม่หมดไป เพราะยังมีรัฐธรรมนูญ 2560
ซึ่งยกร่างโดยคสช. แล้วอ้างว่าผ่านการทำประชามติ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
เป็นรัฐธรรมนูญที่ยังมีอำนาจของคณะรัฐประหารซึมซ่านอยู่แทบจะทุกอณู เพราะสว. 250
คนมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ สว. 250 คนมีอำนาจในการที่สนับสนุนเห็นชอบกับองค์กรอิสระทั้งหมด
รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้ อย่าลืมนะ องค์กรอิสระทั้งหมดรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจมากกว่าสส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศด้วย
พวกนี้ยังร่างจริยธรรมซึ่งนำมาใช้กับสส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ
ฉะนั้น
สถานการณ์การเมืองขณะนี้ความขัดแย้งหลักก็คือความขัดแย้งทางการเมือง
ถ้าคุณยังไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองได้
คุณไม่สามารถที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้
ปัญหาหลักตอนนี้ต้องทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่แข็งแรงก่อน เรื่องเศรษฐกิจตามมา
เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแรงแล้ว เทกำลังไปทำเรื่องเศรษฐกิจแบบสมัยทักษิณ
แต่นี่กลับตาลปัตรเลย คือไปมุ่งเน้นทางเศรษฐกิจก่อน
แล้วพูดตรงไปตรงมานะ ทิศทางใหญ่ ๆ
ทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยปัจจุบันผมเป็นห่วง
ผมภาวนาให้สำเร็จทั้งที่ผมไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยเยอะแยะ แต่ยังให้กำลังใจ
ยังเชียร์อยู่ลึก ๆ ให้ดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จ ให้แลนด์บริดจ์สำเร็จ
ให้ซอฟต์พาวเวอร์สำเร็จ ซึ่งผมดูแล้วไปยาก
คำถาม : ถ้ามองเฉพาะแง่ตัวบุคคล
บุคลิก-ลักษณะ-ความคิด-ไอเดีย ความเป็น “ทักษิณ” ยังขายได้มั้ยในยุคปัจจุบัน?
คือคนยังให้ความเชื่อมั่นศรัทธานายกฯ
ทักษิณ ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มันสมองล้ำเลิศ
เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าเขาสามารถแก้ปัญหา IMF ได้ภายในเวลา 2 ปี และโครงการใหญ่ ๆ ของเขาสำเร็จทุกโครงการ
ทำให้พี่น้องประชาชนเงยหน้าอ้าปากได้ แต่ว่าอย่างที่ผมบอกก็คือบริบททางการเมือง
บริบททางสังคม มันเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง มาถึงวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
แต่คนก็ยังคิดว่ามันสมองอันล้ำเลิศของทักษิณน่าจะยังใช้ได้อยู่นะ
แล้วทักษิณเขาอ่านหนังสือเยอะ คบหาสมาคมกับคนเยอะ รู้จักผู้นำประเทศเยอะ
โอกาสในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยได้เยอะ
ในวันนี้สถานภาพของทักษิณต่างไปแล้ว
ต้องถือว่าเขาเป็นนักโทษที่เข้ามารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม
ตรงนี้เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไป 10 ปี
วินาทีนี้มันมีความเห็นต่างและตั้งข้อสงสัยต่อคุณทักษิณเยอะ
เฉพาะหน้าถ้าออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผมว่าพรรคเพื่อไทยสะเทือนแน่
อย่างที่พรรคก้าวไกลได้พูดตั้งคำถามว่าตกลงประเทศไทยมีนายกฯ กี่คน? เศรษฐา ทวีสิน
ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่หรือเปล่า? สมมุตว่าทักษิณออกมาพูดสาธารณะนะ เขามีสิทธิ์นะ
ไม่ได้ห้ามนะ แต่ด้วยความปรารถนาดีต่อพรรคเพื่อไทยและต่อท่านอดีตนายกฯ ทักษิณนะ
ท่านนายกฯ ทักษิณ น่าจะโลว์โปรไฟล์เสียก่อน แต่ท่านมีความคิดเห็นได้
และความคิดเห็นของท่านสามารถที่จะส่งทอดได้อย่างเนียน ๆ โดยคุยกับอุ๊งอิ๊งก็ได้
เพราะฉะนั้น ความเชื่อมั่นต่อคุณทักษิณยังมีอยู่
แต่วิธีการแสดงออกจะแสดงออกอย่างไร และผมไม่แน่ใจนะว่าจะแก้ได้หรือเปล่า?
ผมดูนะว่าทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาไม่มีตัวเลือก
เพราะว่าก้าวไกลเขาได้ 151 เสียง ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่เอาเพื่อไทยมาร่วมด้วย
ซึ่งไม่ทราบว่ามีการตกลงก่อนหน้านี้หรือเปล่า ผมไม่รู้นะ
ฟังโดยซื่อว่าพรรคเพื่อไทยโดยคำสัมภาษณ์ของคุณภูมิธรรมบอกว่าเป็นห่วงเศรษฐกิจของประเทศจะเสียหายยับเยินมากกว่านี้
ก็เลยมีความจำเป็นในการที่ เขาเรียกของเขาว่าสลายขั้ว
แต่ผมเรียกว่าข้ามขั้วไปจับมือกับพวกนี้
แต่ความจริงคือฝ่ายโน้นเข้าพร้อมอ้าแขนรอรับเลย เพราะว่าทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาถือว่าก้าวไกลเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง
เขาจึงจำเป็นที่จะเอาส่วนหนึ่งที่แยกกับก้าวไกลได้มาผนวกร่วมเพื่อเป็นรัฐบาลได้
แล้วตอนนี้เขาได้สมใจแล้ว ฉะนั้นเชื่อว่าอายุรัฐบาลอยู่ครบ
เพราะว่าฝ่ายขวาเขาไม่มีทางเลือก ถ้าเขาจะเล่นงานรัฐบาลเศรษฐาเขาก็เล่นได้
แต่ผมเชื่อว่าเขาไม่เล่น เพราะทางเลือกนี้ดีกว่าที่จะให้ก้าวไกลขึ้นมาเป็นรัฐบาล
คำถาม :
ที่คุณหมอบอกว่าเพื่อไทยเป็นแม่น้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับ ข้ามไปอีกฝั่งแล้ว
แต่ถ้าสมมุตในอนาคตฝั่งตรงนั้นมันพังทลายลงมา ถูกยุบลงมา มันจะเป็นยังไง?
ผมยังมองไม่เห็นว่ามันจะพังทลายได้อย่างไร
เพราะว่าอำนาจอยู่ฝั่งโน้นหมด รัฐธรรมนูญเอื้อต่อพวกเขาเต็ม ๆ และผมเดานะ
ผมว่ารัฐธรรมนูญแก้อะไรไม่ได้มากหรอก แก้นิด ๆ หน่อย ๆ
โดยยังคงอำนาจซ่อนเร้นของคณะรัฐประหารอยู่ทุกอณูเหมือนเดิม
อย่าลืมว่าการเมืองเป็นการต่อสู้ของระบบคิดทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน ฝั่งขวา
ฝั่งอนุรักษ์นิยมเขาก็ต้องการมีอำนาจทางการเมือง ต้องการชนะการเลือกตั้ง
เขาต้องคิดทุกรูปแบบในการที่จะชนะการเลือกตั้ง
และคิดทุกรูปแบบที่จะให้โทษต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตัวเอง
ผมเชื่อว่าเขาอยู่ยาว รัฐธรรมนูญตัวนี้คงไม่ไปไหน แล้วนิรโทษก็ไม่ไปไหนด้วย
และผมเดาว่า 112 ไม่ได้รับนิรโทษ ส่วนที่ได้ประโยชน์คือ กปปส. ได้เต็ม ๆ
คำถาม : สมมุติว่า
“ก้าวไกล” เจอการยุบพรรคจริง ๆ
คุณหมอประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะออกมาเป็นอย่างไร?
ผมมองไปที่ประชาชนทั้งประเทศ
เพราะการเมืองคนชี้ขาดคือประชาชนไทยทั้งประเทศ ในวันนี้ดูจาก 151
เสียงของคนที่เลือกก้าวไกล อย่าไปคิดว่าเป็น “ด้อมส้ม” ไม่ใช่นะ
คนเลือกเพราะว่าก้าวไกลมีแนวทางนโยบายและอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ
เขาก็เลยไปเลือก
ถ้า “ก้าวไกล” ถูกยุบ
และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต
ผมยังเชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐประหาร เช่น
ปฏิรูปกองทัพ, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม,
ให้มีการเลือกตั้งตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมา สมมุติมีพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมานะ
จะเป็นพรรคชื่ออะไร แล้วจะมีส่วนของก้าวไกลมาร่วมด้วยหรือไม่
ผมเห็นว่าไม่ใช่เป็นปัจจัยสำคัญ แต่ปัจจัยสำคัญก็คือหลักนโยบาย
หลักอุดมการณ์ของพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่สอดรับกับความต้องการของประชาชนทั้งประเทศหรือเปล่า?
ถ้าสอดรับ คะแนนอาจจะ 300 ก็ได้นะ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นความหวังแล้ว
เพราะเขาไปจับมือกับสองลุง
คำถาม : แล้วคุณหมอไม่คิดว่า
“เพื่อไทย” เขาจะกลับมา
จะกลับมาได้ยังไง
เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญก็ดี เรื่อง 112 ก็ดี
เรื่องคุณไปจับมือกับสองลุงก็ดี มันรัดคอคุณอยู่ แล้วคุณจะกลับมายังไง?
ผมภาวนาให้เขากลับได้นะ แต่ผมดูแล้วไม่มีทาง
คำถาม : แต่คุณหมอประเมินมั้ยว่าสุดท้ายสำหรับ
“ก้าวไกล” จะต้องเจออะไรอีกเยอะ
ผมเดานะ
ว่าเป็นไปได้สูงที่ก้าวไกลจะถูกยุบพรรค
และเป็นไปได้สูงที่กรรมการบริหารจำนวนหนึ่งจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต
เพราะฝั่งขวา ฝั่งอนุรักษ์นิยม เขาเห็นแล้วว่าใครคือปฏิปักษ์ทางการเมืองของเขา
เขาเห็นแล้วว่าใครเป็นขุนพลมือฉมังของอีกฝั่งหนึ่ง วิธีการก็คือต้องลิดรอนพลังของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
คำถาม : แต่ถ้าถูกยุบ
ก็จะมีพรรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอีก
ใช่ครับ
เพราะว่ากระแสประชาธิปไตยเป็นกระแสโลกและเป็นกระแสของประชาชนไทยด้วยนะ
และไม่แต่เฉพาะเจนใหม่ ๆ นะ ผมว่าเจนผมจำนวนหนึ่งก็เริ่มตาสว่างนะ คนอายุหลักห้าสิบอัพเขาก็เริ่มเห็นแล้วว่าประชาธิปไตยสำคัญ
คำถามสุดท้าย : วันนี้ถ้ามีโอกาสจะพูดกับ
“คนเดือนตุลา” ในพรรคเพื่อไทย คุณหมอจะพูดอะไรกับคนเหล่านั้น
ถอนหายใจ เพราะคิดว่าความหวังมันริบหรี่
สภาวการณ์ในพรรคเพื่อไทยมันสลับซับซ้อน ผมเคยอยู่และผมรู้ จริง ๆ
ความสามารถในการตัดสินใจทางการเมืองเบามาก
มันมีศูนย์อำนาจที่เขาตัดสินใจทางการเมืองมาแล้ว
จะบอกให้คนเดือนตุลาในพรรคเพื่อไทยกลับมา ริบหรี่ครับ อย่าว่าแต่ในพรรคเพื่อไทย
คนเดือนตุลาที่เขามีเสรีภาพในการตัดสินใจทางการเมือง 14ตุลา16 หรือ 6ตุลา19 ไปพันธมิตรฯ
ก็เยอะนะ ไปกปปส.ก็เยอะ แล้วพวกนี้จะกลับมาได้มั้ย? ไม่ได้ กลับมาไม่ได้
เขาก็มีแนวคิดอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเราอยู่ร่วมกันโดยสันติได้
ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินว่าประชาชนเขาชอบแนวคิดของคุณหรือเปล่า
เหมือนกัน
คนเดือนตุลาที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย
ในวันนี้ก็ให้ประชาชนทั้งประเทศเขาตัดสินว่าคนเดือนตุลาที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยเขาทำคุณประโยชน์ต่อประชาชนได้สมดังใจที่ประชาชนปรารถนาหรือเปล่า?
ถ้าสมดังใจที่ประชาชนปรารถนา ประชาชนก็จะเลือกเขากลับมา แต่ถ้าไม่สมดังใจประชาชนปรารถนา
ประชาชนก็จะทอดทิ้งพวกเขา ถ้าจะให้ผมหวัง ผมริบหรี่ ไม่มีอะไรจะฝาก
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทักษิณ #เพื่อไทย #หมอเหวง #ทวงความยุติธรรม