“พิจารณ์” กังวลสถานะ ททบ.5 ไม่ได้เป็นทั้งนิติบุคคลและส่วนราชการ
พบขาดทุนต่อเนื่อง 6 ปี อาจเป็นภาระทางการคลังในอนาคต
แนะดึงเอกชนผู้เชี่ยวชาญมาบริหาร
วันที่
20 กุมภาพันธ์ 2567 พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ
ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ให้ความเห็นแก่ผู้สื่อข่าวหลังจากการประชุมครั้งที่ 4 แล้วเสร็จ
โดยพิจารณ์กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกที่มีการพิจารณาธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากคลื่นโทรทัศน์วิทยุ
ได้มีการเชิญสถานีวิทยุกองทัพบก (ททบ.5) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
(สตง.) และสมาคมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
พิจารณ์เผยว่า
ธุรกิจในส่วนของวิทยุยังไม่ได้มีการพูดคุย แต่การประชุมนัดนี้
เริ่มพูดคุยในส่วนของโทรทัศน์ก่อนเป็นอันดับแรก หลังการพูดคุย
ตนยังคงมีข้อสงสัยว่า ททบ.5
มีสถานะทางกฎหมายเป็นอะไรกันแน่
โดยเข้าใจว่าไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ส่วนราชการ
ทางด้านผู้ชี้แจงกล่าวว่ามีลักษณะเป็นหน่วยงานรัฐ
โดยอ้างคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ทำให้ตนสรุปได้ว่า ที่ผ่านมา สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5 หรือ ททบ.5 ไม่ได้มีกฎหมายรองรับสถานะของตนเอง
พิจารณ์
กล่าวว่า หาก ททบ. 5
เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กองทัพบก
ก็มีสิ่งที่สถานีต้องปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น
การใช้พื้นที่ราชพัสดุย่านสนามเป้า 11 ไร่
ต้องทำสัญญาเช้ากับกรมธนารักษ์ ไม่สามารถอ้างว่าใช้ในราชการได้ เพราะ ททบ.5
ไม่ได้เป็นส่วนราชการ
กล่าวคือต้องมีการทำสัญญากับกรมธนารักษ์เพื่อขอใช้พื้นที่
และหากเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้กองทัพบก หมายความว่า รายได้ ทรัพย์สิน
หนี้สิน ของสถานี ต้องถูกผนวกเข้ากับงบการเงินของกองทัพบกด้วย
ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปรากฏสิ่งเหล่านี้ และที่สร้างความสับสนจนถึงปัจจุบัน
คือผู้แทนจาก สตง. ที่ร่วมประชุมในวันนี้
กล่าวว่าไม่ได้มีการตรวจสอบบัญชีงบการเงินของสถานีมาก่อน
จะเริ่มทำการตรวจสอบอย่างจริงจังในรอบบัญชีของปี 2566 แม้ทางผู้ชี้แจงฝั่ง
ททบ.5 จะกล่าวว่าเคยมีการตรวจสอบแล้ว1ครั้งในปี
2542
นอกจาก
ททบ.5 ก็ยังมีหน่วยงานที่ทาง กมธ. ได้เชิญมาเข้าประชุม ได้แก่ สตง. กสทช.
และสมาคมภาคเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับทีวีดิจิทัล
หลังจากสอบถามสถานการณ์การทำธุรกิจวิทยุโทรทัศน์ในปัจจุบัน
ทำให้ทราบว่าธุรกิจทีวีดิจิทัลมีการแข่งขันสูงและเป็นช่วงขาลง สืบเนื่องจาก Technology
Disruption และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ซึ่งแม้แต่มืออาชีพยังยอมรับว่าการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างยาก
ขณะเดียวกันในปี
2560 ททบ.5 มีกำไร 180 ล้านบาท
แต่ระหว่างปี 2561-2566 มีการรายงานว่าขาดทุน
แต่ไม่ได้รายงานว่าขาดทุนเท่าไร ตนจึงกังวล แม้ว่า ททบ.5 จะดำเนินธุรกิจเป็นทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคง
แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ แม้ ททบ.5 มีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับดูแลตัวเองได้
เพราะไม่เคยของบประมาณแผ่นดินมาก่อน
แต่หากไม่นำมืออาชีพมาบริหารและปรับปรุงโครงสร้างภายในให้กลับมามีกำไรในอนาคต
ก็อาจจะส่งผลให้เป็นภาระงบประมาณต่อรัฐบาลในอนาคตได้
โดยสรุป
พิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าหาก ททบ.5 มีความจำเป็นที่จะต้องมีสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อสื่อสารด้านความมั่นคง
ก็อาจพิจารณาแบ่งผังเวลาที่เป็นในเชิงธุรกิจ
โอนออกมาให้มีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
เพื่อสร้างรายได้ให้กับสถานี และกันผังเวลาสำหรับออกอากาศส่วนของความมั่นคง
และจัดสรรงบประมาณเพื่อส่วนดังกล่าว ขณะที่ส่วนที่เหลือให้เอกชนมาบริหาร
เพื่อให้ธุรกิจสามารถทำกำไรและไม่ให้เกิดภาระกับงบประมาณแผ่นดินในอนาคต
พิจารณ์ทิ้งท้ายว่า
จากการประชุมวันนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากยังไม่เห็นงบการเงินของสถานี
ตนจึงรอตรวจสอบเพื่อจะได้เห็นปัญหา หนี้สิน ลูกหนี้ และรายละเอียดอื่น ๆ ต่อไป