วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2567

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยื่นหนังสือ UN เรียกร้องให้หนุนรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่ายรวม ม.112 เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างฯ 1-14 กุมภาพันธ์ นี้

 


เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยื่นหนังสือ UN เรียกร้องให้หนุนรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่ายรวม ม.112 เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างฯ 1-14 กุมภาพันธ์ นี้

 

วันนี้ (22 มกราคม 2567)เวลา 10.30 น. ที่หน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย พูนสุข พูนเจริญสุข ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, น.ส.แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้สนับสนุนรัฐบาลไทย ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน

 

สำหรับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรทางกฎหมาย นักวิชากร องค์กรภาคประชาสังคม และ นักกิจกรรมทางสังคมกว่า 23 องค์กรนำโดย พูนสุข พูนเจริญสุข ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ(UN) เพื่อขอให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน

 

โดยระบุถึง ความกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย และประชาชน จำนวนมากกว่า 1,400 ราย สืบเนื่องจากการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสันติ

 

อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ทั้งการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงการชุมนุมของกลุ่มราษฎร

 

มีประชาชนไม่ต่ำกว่า 6,000 คนที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งภายหลังการทำรัฐประหารในปีพ.ศ. 2557 ยังมีบุคคลกว่า 2,400 รายที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ยิ่งไปกว่านั้นแล้วภายหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563 จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีผ่านการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ อย่างน้อย 1,938 คน ซึ่งเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่น้อยกว่า 286 คน รวมกว่า 1,264 คดี

 

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ภายใต้รัฐบาลผสมชุดใหม่ที่มีเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้นยังปรากฏการดำเนินคดีทางการเมืองต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือน ก.ย. และ ธ.ค. 2566 ศาลได้มีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ คดีมาตรา 112 ในทั้งหมด 31 คดี โดยคดีที่ศาลลงโทษจำคุกทั้งหมด 28 คดี หรือคิดเป็น 90% ของช่วงเวลาดังกล่าว และมีคดีมาตรา 112 ที่จำคุกมากที่สุดถึง 50 ปี

 

เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชนจากทุกฝักฝ่ายทางการเมืองในทุกมิติอย่างจริงจัง จะส่งผลเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการสร้างความปรองดองทางการเมือง

 

จึงมีความประสงค์ให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจต่อการสร้างความปรองดองทางการเมืองและความมุ่งมั่นต่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการผ่านการสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมไปถึงมาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) แห่งประมวลกฎหมายอาญา สำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนการเลือกตั้งในเดือน ต.ค. 2567 พร้อมขอเรียกร้องให้สหประชาชาติ

 

1. สนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติตามข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

2. สนับสนุนให้รัฐบาลไทยระงับไว้ซึ่งการดำเนินคดีต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุม

 

3. สนับสนุนให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษทางความคิด โดยรวมไปถึงเยาวชนที่ถูกคุมขังสืบเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง

 

4. สนับสนุนให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวสอดคล้องกับข้อแนะนำภายใต้กระบวนการพิเศษแห่งสหประชาชาติ และคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ

 

5. สนับสนุนให้มีการผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2567

 

จากนั้น ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมได้เดินเข้าไปยื่นหนังสือด้านในองค์การสหประชาชาติ เพื่อร่วมพูดคุยรายงานถึงสถานการณ์การดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน #PeopleAmnesty