วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567

“ปารมี” จี้ถาม รมต.ศึกษาธิการ แนวทางเร่งด่วนแก้ปัญหาทุจริตอาหารกลางวันเด็ก ย้ำ คดี รอง ผอ.คุกคามทางเพศนักเรียน ต้องยึดความถูกต้อง ไม่ช่วยเหลือกันเอง

 


ปารมี” จี้ถาม รมต.ศึกษาธิการ แนวทางเร่งด่วนแก้ปัญหาทุจริตอาหารกลางวันเด็ก ย้ำ คดี รอง ผอ.คุกคามทางเพศนักเรียน ต้องยึดความถูกต้อง ไม่ช่วยเหลือกันเอง

 

วันที่ 18 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาฯ ปารมี ไวจงเจริญ​ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตั้งกระทู้ถาม พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีการทุจริตอาหารกลางวันเด็ก โดย รมว.ศึกษาธิการ มอบหมาย สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เป็นผู้ตอบกระทู้แทน

 

ปารมีกล่าวว่า เพิ่งผ่านวันเด็กและวันครู เราได้ยินคำขวัญวันเด็กสวยหรูแปลกใหม่จากนายกฯ รวมถึงได้ยินนโยบายจาก รมว.ศึกษาธิการ ตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ๆ ว่า ‘เรียนดี มีความสุข’ ตนก็มีความหวังความฝันให้เด็กไทยได้เรียนดีมีความสุข แต่จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อครูไทยนักเรียนไทยยังมีความเจ็บปวดในหลายเรื่อง จึงเป็นที่มาที่ต้องตั้งกระทู้ในวันนี้

 

สืบเนื่องจากกรณีร้อนแรงในโลกออนไลน์ ที่นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โพสต์รูปเมนูอาหารที่แท้จริง ซึ่งแตกต่างจากมื้ออาหารในวันที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ไปตรวจเยี่ยม อาหารที่นักเรียนได้รับประทานจริงๆ มีเพียงข้าวสวย 1 ทัพพี ไข่ต้ม 1 ฟอง และน้ำพริกตาแดงถุงเล็กๆ ตนจึงสงสัยว่า เด็กจะเรียนดีมีความสุข ตามนโยบายของรัฐมนตรีได้อย่างไร

 

และจากโพสต์ดังกล่าว ทำให้ ผอ. โรงเรียนแจ้งจับนักเรียนตัวเอง ในฐานะที่ตนเป็นครู รู้สึกเจ็บปวดและขอตั้งคำถามว่ารัฐมนตรีจะให้ความมั่นใจกับคดีนี้อย่างไร ว่าจะเป็นกรณีที่ตัดสินบนความถูกต้อง ไม่ช่วยเหลือกันเองระหว่างข้าราชการ เพราะจริงๆ แล้ว ข่าวทุจริตอาหารกลางวันในโรงเรียนหรืออาหารด้อยคุณภาพเป็นข่าวซ้ำซาก เมื่อมีข่าวก็ตั้งกรรมการสอบสวน แต่จริงๆ แล้วการทุจริตเป็นโทษวินัยร้ายแรง ต้องไล่ออกสถานเดียว ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข่าวทุจริตเกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งอาจเป็นเพราะคนที่ทุจริตรอดแทบทุกกรณี เพราะมีช่องโหว่ช่องว่างทางกฎหมาย เอื้อให้มีการฮั้วและช่วยเหลือกัน

 

ปารมี จึงถามไปยังรัฐมนตรี ว่าทราบหรือไม่ อีกกี่โรงเรียนที่มีปัญหาเรื้อรังเรื่องการทุจริตค่าอาหาร เช่นเดียวกับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ รวมถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และรัฐมนตรีมีมาตรการเพื่อแก้ไขอย่างเร่งด่วนอย่างไร ที่ไม่ใช่การแก้ไขแบบวัวหายล้อมคอก แต่เป็นการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ปารมียังแสดงความกังวลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ กรณีแอปพลิเคชัน Thai School Lunch ที่ต้องการสร้างมาตรฐานอาหารกลางวันในโรงเรียน เนื่องจากหลายโรงเรียน ยังมีข้อจำกัดแม้กระทั่งการมีน้ำสะอาดและไฟฟ้าใช้ แล้วจะหวังให้คุณครูบันทึกภาพอาหารกลางวันในแอปฯ ทั้งที่ไม่มีการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร จึงขอให้รัฐมนตรีคำนึงถึงข้อนี้ รวมถึงทำหน้าที่อย่างจริงจังในการปราบปรามการทุจริต

 

ต่อมาคำถามที่ 2 ปารมีถามถึงกรณีครูในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัย จากการร่วมเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุอาหารกลางวันนักเรียน รวมถึงงานจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องนี้เป็นปัญหามาก สะท้อนภาระงานที่ดึงครูออกจากห้องเรียน ทั้งที่หน้าที่หลักของครูคือจัดการเรียนการสอน โดยควรมีฝ่ายพัสดุ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายธุรการ มาทำเรื่องเหล่านี้ นอกจากนั้น สพฐ. ใช้เกณฑ์ขนาดโรงเรียนแบบขั้นบันได ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการคำนวณเงินค่าอาหารกลางวันรายหัว จึงขอทราบแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐมนตรี

 

และคำถามที่ 3 ปารมีตั้งคำถามถึงกรณี รอง ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 55 จังหวัดตาก ที่คุกคามทางเพศศิษย์ของตนเอง โดยโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาติพันธุ์ เมื่อรอง ผอ. ที่มีอำนาจเหนือกว่ากระทำการคุกคามทางเพศ นักเรียนจึงไม่กล้าแจ้งความ ทั้งนี้ตนทราบว่านักเรียนมีหลักฐาน เคยแจ้งเรื่องไปยังผู้บริหารโรงเรียน แต่ผู้บริหารไม่ได้ลงโทษทางวินัย กลับช่วยเหลือ รอง ผอ. คนดังกล่าว ตนจึงต้องการคำยืนยันจากรัฐมนตรีศึกษาธิการเพื่อสร้างความมั่นใจแก่สังคม ว่ากรณีนี้จะตัดสินบนความถูกต้อง ไม่ช่วยเหลือกันเอง

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชุมสภา