“สหัสวัต” จี้ รมว.แรงงาน ขึ้นค่าแรงไม่สอดคล้องค่าครองชีพ สูตรคำนวณไม่สมเหตุสมผล นิยามค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นสากล
วันที่ 11 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสด พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยระบุว่า ปัญหาค่าแรงมีมายาวนาน หลังจากปี 2554 มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลังจากนั้นการขึ้นค่าแรงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี
ยกตัวอย่างผลการศึกษา เรื่องการสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน พบว่าครัวเรือนที่ทำงานกันทั้งบ้าน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 20,000 - 23,600 บาทต่อเดือน ส่วนครัวเรือนที่มีสมาชิกพึ่งพิง เช่น ผู้สูงอายุ มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 28,000 - 32,000 บาท ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างออกประกาศค่าจ้างขั้นต่ำฉบับที่ 12 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 แบ่งออกเป็น 17 อัตราตั้งแต่ 330 บาทถึง 370 บาท เมื่อเฉลี่ยทั่วประเทศ ค่าแรงขึ้นมาเพียง 2.4% หรือประมาณไม่เกิน 8 บาท ไม่พอแม้แต่จะซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากกว่า 1 ซอง
สหัสวัตกล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือสูตรคำนวนค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน ที่นำอัตราสมทบแรงงาน หรือค่า L เข้ามาร่วมคำนวณ แต่ค่า L ดังกล่าวทำให้แรงงานได้รับค่าแรงไม่สมเหตุสมผล และเป็นตัวที่ดึงให้ค่าแรงของแรงงานต่ำลง เพราะการคำนวณอัตราสมทบแรงงานนำสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดมาร่วมคำนวณ ทำให้แรงงานในแต่ละจังหวัดได้ค่าแรงที่ต่างกันไป ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นมาก
ส่วนประเด็นคณะกรรมการไตรภาคี ที่รัฐบาลอ้างว่าไม่มีอำนาจแทรกแซงคณะกรรมการฯ นั้นจริงหรือไม่ เพราะในอดีตมีหลายครั้งที่มีการแทรกแซง และคณะกรรมการไตรภาคีรวมถึงคณะอนุกรรมการค่าจ้างรายจังหวัด ในสัดส่วนของผู้ใช้แรงงานนั้น โดยปกติจะมาจากสหภาพแรงงานต่างๆ แต่กลับพบว่า ประเทศไทยมีสหภาพแรงงานอยู่แค่ 44 จังหวัด ทำให้อีก 33 จังหวัดคณะอนุกรรมการค่าจ้างในสัดส่วนผู้ใช้แรงงานไม่ได้มาจากสหภาพแรงงาน กลไกตรงนี้ลูกจ้างจึงอาจเสียเปรียบ
สหัสวัต กล่าวว่า ในประเด็นสุดท้าย ต้นตอของปัญหาดังกล่าวมาจากคำนิยามของคำว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอยู่นั้น ใช้คำนิยามว่าเป็นค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงดูแรงงานและครอบครัวได้ ในขณะที่นิยามของไทยคือให้เพียงพอต่อวัยทำงานแรกเข้าเพียง 1 คน ซึ่งในความเป็นจริงไม่พอ 1 คนด้วยซ้ำ
“รัฐมนตรีอาจมองว่าเราไม่ต้องยึดติดกับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ค่าจ้างขั้นต่ำก็คือค่าจ้างแรกเข้าเพื่อให้แรงงานดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีมาตรฐานและสอดคล้องกับค่าครองชีพ มิเช่นนั้นแปลว่าเราจะยอมให้คนที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำมีชีวิตอยู่แบบไม่มีมาตรฐานอย่างนั้นหรือ ผมอยากเห็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงาน ในขณะที่รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้คนมีลูก ด้วยค่าแรงแบบนี้จะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงลูก เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เลี้ยงตัวเองก็แทบจะไม่รอดอยู่แล้ว” สหัสวัตกล่าว
#UDDnews #ฝ#ยูดีดีนิวส์ #ค่าแรงขั้นต่ำ #ก้าวไกล #กระทรวงแรงงาน