วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2567

"นายกฯ" แจงสภาฯ ยันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ เดินหน้า "โครงการแลนด์บริดจ์" พร้อมเปิดรับฟังความเห็นทุกฝ่าย มุ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

 


"นายกฯ" แจงสภาฯ ยันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ เดินหน้า "โครงการแลนด์บริดจ์" พร้อมเปิดรับฟังความเห็นทุกฝ่าย มุ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

 

วันนี้ (4 มกราคม 2567) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทน ราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48ล้านล้านบาท วาระแรก วันที่สอง ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลจัดงบประมาณปี 68 พัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะหัวใจสำคัญ นอกจากจะทำให้จีดีพีเพิ่มแล้ว ยังทำให้เกิดจ้างงานในพื้นที่ ทั้งยังสร้างความเจริญหลังท่าเรือ และพื้นที่รอบ ๆ โครงการ ทั้งนี้ความคิดเชื่อมทะเลระหว่างอ่าวไทยกับอันดามันมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มีดำริขุดคลองเชื่อมทะเล เพื่อให้การเดินเรือไปฝรั่งเศส ฮอลันดา ผ่านช่องแคบมะละกา


ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ให้นักวิชการชาวฝรั่งเศส แต่ทำยากเนื่องจากเป็นหินแข็งมาก ผ่านภูเขาหลายลูก ทำให้โครงการคลองไทยตกไป สมัยรัชกาลที่ 9 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯได้ทำการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมการค้าน้ำมันของโลก และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นชอบกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ เร่งผลักดันท่าเรือระนอง สร้างรถไฟรางคู่ และมาถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ชูโครงการแลนด์บริด เพื่อให้เส้นทางเดินเรือของโลกผ่านประเทศไทย เพราะช่องแคบมะละกาแออัด จึงอยากให้มีการผลักดันต่อไป


ต่อมาเวลาเมื่อเวลา 12.21 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อประเด็นการอภิปรายของสส.ในโครงการแลนด์บริดจ์ ว่า จากโครงการดังกล่าวทำให้ไทยอยู่ในหมุดหมายการผลิตของต่างประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศต้องการเข้ามาตั้งโรงงานในไทย แต่โรงงานผลิตหลายสินค้าไม่สามารถตั้งได้ เพราะต้องการสร้างให้ใหญ่กว่านั้นเนื่องจากต้องส่งสินค้าไปทั่วโลก แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาตอนนี้ คือ ช่องแคบมะละกามีความแออัด และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำให้ระยะการขนส่งสินค้าต้องเข้าคิว และใช้เวลามาก ดังนั้นในช่วง 10 - 15 ปี จะมีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าสินค้าใช้เส้นทางเดินเรือเพิ่ม ขณะนี้ช่องแคบไม่สามารถบริหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะฉะนั้นการทำแลนด์บริดจ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพแข่งขันของประเทศไทย


ทั้งนี้ปริมาณน้ำมันขนส่งทั่วโลก 60 % ผ่านช่องแคบมะละกา หากมีปัญหาเรื่องขนถ่ายสินค้าผ่านช่องทางมะละกา รัฐบาลจึงตระหนักดีและทำเรื่องแลนด์บริดจ์ และจุดยืนของเราคือเป็นกลาง ความขัดแย้งระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกามีความรุนแรง แต่เขาต้องค้าขาย เมื่อประเทศไทยเป็นกลางเสนอตัวทำแลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมโลกทั้งโลก และจีน สหรัฐอเมริกาสามารถใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าได้ดี การทำแลนด์บริดจ์เป็นเรื่องจำเป็น


แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพิกเฉยเสียงประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลดำเนินการสำรวจความคิดเห็น รับฟังความเห็น ทั้งฝ่ายค้าน ภาคประชาคม ประชาชนในพื้นที่ นักธุรกิจทุกคน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการเป็นเมกะโปรเจคที่สำคัญของโลก นอกจากนั้นก็จะทำให้หลายประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่มีความมั่นคงด้านพลังงานสูงมาก อยากเข้ามาลงทุน สร้างโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงาน นอกเหนือจากความมั่นคงทางอาหาร เพราะไทยมีความพร้อมที่จะยืนอยู่ในโลกที่ขัดแย้ง สามารถพึ่งตนเองได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยกระดับ” นายกฯ กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นายกรัฐมนตรี #ประชุมสภา #งบ67 #แลนด์บริดจ์