“พริษฐ์” สรุปรายงานอนุฯ ศึกษารูปแบบเลือกตั้ง สสร. ต่อสภาฯ
ย้ำสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
เปิดโมเดลหลากหลายให้สังคมร่วมพิจารณา
ตอบโจทย์เรื่องความเชี่ยวชาญ-ความหลากหลายได้
วันที่
31 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
มีวาระการพิจารณารายงานผลการศึกษา เรื่อง
“การจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง”
โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ ภายใต้คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน
และการมีส่วนร่วมของประชาชน
พริษฐ์
วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ
ได้เป็นผู้อภิปรายสรุปเนื้อหาในรายงานดังกล่าว โดยระบุว่า
คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีทั้งความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
เปิดกว้างต่อความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกกลุ่มมากที่สุด
หากถูกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการ “เลือกตั้งทั้งหมด”
ซึ่งไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ แต่ถูกเสนอโดยหลายฝ่ายทางการเมืองและภาคประชาชนตั้งแต่ปี
2562 หรือหากมองไปนอกประเทศ สสร.
ที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกใช้ในหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตย
และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้
สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว
วัตถุประสงค์ของคณะอนุกรรมาธิการฯ
จึงเป็นการจัดทำข้อเสนอเพื่อเปิดจินตนาการให้เห็นถึงทางเลือกที่แตกต่างหลากหลายในการออกแบบ
สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า
กรอบคิดหลักในการออกแบบ สสร. ควรเริ่มต้นด้วยการมองว่า สสร.
ที่มาจากการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องมีประเภทเดียว แต่อาจประกอบด้วย สสร.
ที่แบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ สสร.
มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และมีพื้นที่ให้กับคนจากหลากหลายกลุ่มมาทำงานร่วมกันได้อย่างผสมผสาน
โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งอาจแบ่งออกได้มากที่สุดเป็น 3 ประเภทหลัก
ประกอบด้วย ก) สสร. ประเภทตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไป ข) สสร.
ประเภทตัวแทนผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ และ ค) สสร.
ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย ที่ล้วนต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ก)
สสร. ประเภทตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไป มี 3 โจทย์หลักที่ต้องพิจารณาในการออกแบบ
ประการแรก “จะกำหนดพื้นที่อะไรเป็นเขตเลือกตั้ง”
หากใช้จังหวัดหรือพื้นที่ที่เล็กกว่าจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง สสร.
ก็จะมีตัวแทนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ในทุกจังหวัด หรือหากใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง
ก็จะทำให้ สสร. มีตัวแทนที่ครอบคลุมหลายประเด็นมากขึ้น หรืออาจมี สสร.
ตัวแทนพื้นที่มากกว่าประเภทเดียว เช่น ครึ่งหนึ่งอาจจะเป็น สสร.
ที่เลือกกันในระดับจังหวัด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอาจจะเป็น สสร.
ที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เป็นต้น
โจทย์ประการต่อมาคือ
“จะกำหนดจำนวน สสร. ต่อ 1
เขตเลือกตั้งอย่างไร” จะมีจำนวน สสร. เท่ากันในทุกจังหวัด
หรือจะมีจำนวน สสร. ในแต่ละจังหวัดที่ต่างกันตามสัดส่วนประชากร
เพื่อให้น้ำหนักหรือจำนวนประชากรต่อ สสร. หนึ่งคนมีค่าเท่ากันในทุกพื้นที่
และประการสุดท้าย
“จะใช้วิธีใดในการเลือก สสร. ในแต่ละเขตเลือกตั้ง”
โดยในกรณีที่ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครเป็นรายบุคคล ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ
ได้เสนอวิธีการเลือกตั้ง 5
ทางเลือก ได้แก่
(1)
ระบบ Single Non-Transferable Vote หรือ SNTV
คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนเลือกผู้สมัครได้ 1 คน ไม่ว่าเขตเลือกตั้งนั้นจะมีจำนวน สสร. ที่จะได้รับเลือกตั้งกี่คน
(2)
ระบบ Multiple Non-Transferable Vote หรือ MNTV
คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนเลือกผู้สมัครได้มากเท่ากับจำนวน
สสร. ที่จะได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น เช่น หากเขตเลือกตั้งมี สสร. 3
คน ประชาชนจะเลือกผู้สมัครได้มากสุด 3 คน
(3)
ระบบ Approval Vote คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนเลือกผู้สมัครกี่คนก็ได้ที่ตนพร้อมให้การอนุมัติ
เช่น หากเขตเลือกตั้งมี สสร. 3 คน
ประชาชนจะเลือกอนุมัติผู้สมัคร 1 คน 3 คน
หรือ 10 คนก็ได้
(4)
ระบบ Single Transferable Vote คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนสามารถเรียงลำดับผู้สมัครตามความชอบ
โดยหากผู้สมัครที่ตนเลือกเป็นอันดับ 1 ได้รับคะแนนน้อยมาก
และยังไม่มีผู้สมัครคนใดชนะขาด
ระบบก็จะมีวิธีในการโอนคะแนนดังกล่าวไปให้กับผู้สมัครที่ตนเลือกเป็นอันดับ 2
หรืออันดับถัดไป เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงตกน้ำ
(5)
ระบบ Score Vote คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนสามารถให้คะแนนผู้สมัครตามลำดับความชอบ
เช่น ให้ 3 คะแนนกับผู้สมัครที่ชอบเป็นลำดับที่ 1 ให้ 2 คะแนนกับผู้สมัครที่ชอบเป็นลำดับที่ 2 และให้ 1 คะแนนกับผู้สมัครที่ชอบเป็นลำดับที่ 3
หรือหากจะกำหนดให้ประชาชนเลือกผู้สมัครเป็นทีมหรือบัญชีรายชื่อ
ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ก็ได้เสนอวิธีการเลือกตั้ง 2 ทางเลือก ได้แก่
(1)
ระบบบัญชีรายชื่อแบบปิด (Closed Party-List) คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนเลือกได้
1 ทีม โดยจำนวน สสร.
ที่แต่ละทีมได้จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนคะแนนที่ทีมได้
และผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งขึ้นอยู่กับลำดับบัญชีรายชื่อที่ทางทีมได้จัดสรรไว้
(2)
ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด (Open Party-List) คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคน
เลือกได้ 1 ทีม
และสามารถเลือกเจาะจงได้ว่าอยากเลือกผู้สมัครคนใดในบัญชีรายชื่อของทีมดังกล่าว
โดยจำนวน สสร. ที่แต่ละทีมได้จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนคะแนนที่ทีมได้
ส่วนผู้สมัครคนไหนในทีมจะได้รับเลือกตั้งก็ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงที่ผู้สมัครแต่ละคนในทีมนั้นได้รับ
เปรียบเทียบกับผู้สมัครคนอื่นในทีมเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า ในเมื่อ สสร.
ตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไปที่มาจากการเลือกตั้งมีทางเลือกที่หลากหลาย
หลายฝ่ายจึงมองว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งจะมีแค่ สสร.
ประเภทนี้ประเภทเดียวก็อาจเพียงพอแล้ว แต่ก็ยังมีบางฝ่ายที่อาจกังวลว่า สสร.
ตัวแทนพื้นที่เพียงอย่างเดียวยังไม่ตอบโจทย์
เพราะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์เข้ามาอยู่ในกระบวนการตั้งโจทย์และการตัดสินใจ
รวมถึงบางฝ่ายก็กังวลว่า สสร. ที่มีแค่ตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไป
ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ที่มักถูกมองข้าม
แต่จำเป็นในการสะท้อนเสียงที่หลากหลายทางสังคม
แต่ทั้งนี้
ทางคณะอนุกรรมาธิการยืนยัน ว่าข้อกังวลดังกล่าวไม่ควรนำไปสู่การเสนอให้ สสร.
บางส่วนไม่มาจากการเลือกตั้ง
แต่ทางออกที่เป็นไปได้ในการคลี่คลายข้อกังวลดังกล่าวอาจเป็นการเพิ่มประเภท สสร.
ขึ้นมาอีก 2
ประเภทที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเฉพาะ แต่ยังคงมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
นั่นคือ ข) สสร. ประเภทตัวแทนผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ ที่มาจากการเลือกตั้ง
และ ค) สสร. ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย ที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน
พริษฐ์ยังระบุด้วยว่า
หากตัดสินใจว่าจะมี สสร. ประเภทเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาจาก สสร.
ตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไปหรือไม่ จะมี 3 โจทย์หลักที่ต้องพิจารณาในการออกแบบต่อไป
ประการแรก “จะกำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้สมัคร สสร. ประเภทดังกล่าวอย่างไร”
ซึ่งในส่วนของ สสร. ประเภท ข)
อาจจะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในด้านต่าง
ๆ เช่น กฎหมาย รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ การเมืองในระบบ หรือการเมืองภาคประชาชน
เช่นเดียวกับในส่วนของ
สสร. ประเภท ค)
ก็อาจจะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นหนึ่งในกลุ่มความหลากหลายต่าง ๆ เช่น
กลุ่มเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
หรือหากมองว่ากลุ่มความหลากหลายสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มมาก ก็อาจจะเลือกไม่กำหนดหมวดหมู่หรือคุณสมบัติใดเป็นการเฉพาะ
แต่เปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครรับเลือกตั้งต้องระบุเองในกระบวนการสมัครและการรณรงค์หาเสียง
ว่าตนเป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายในมิติใด
โจทย์ประการต่อมา
“ใครจะเป็นผู้เลือก สสร. ประเภทดังกล่าว”
แน่นอนว่าทางเลือกที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือการรวบรวมรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติมาให้ประชาชนเลือกโดยตรง
ผ่านการเพิ่มบัตรเลือกตั้งขึ้นมาอีก 1 ใบต่อ 1 ประเภท
แต่หากใครกังวลว่าการมีบัตรเลือกตั้งหลายใบมากเกินไปอาจเกิดความสับสน
อีกทางเลือกหนึ่งที่ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณา คือการให้ สสร. ประเภท ข) และ
ค) ถูกเลือกโดย สสร. ประเภท ก) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
แม้จะไม่ใช่การเลือกตั้งทางตรง แต่วิธีนี้จะยังคงมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากกว่าการปล่อยให้
สสร. ประเภท ข) และ ค) ถูกเลือกโดยคณะรัฐมนตรี รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร
หรือคณะกรรมการใด ๆ เนื่องจาก สสร. ประเภท ก. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด
และอย่างน้อยที่สุด ประชาชนยังได้รับรู้ในวันเลือกตั้ง สสร. ว่า สสร. ประเภท ก.
ที่เขาเลือกเข้าไปโดยตรง จะไม่เพียงแต่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่ยังมีอำนาจในการเลือก สสร. ประเภทอื่น ๆ เข้ามาทำงานเพิ่มเติมด้วย
โดยอาจมีการกำหนดกติกาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง
สสร. ประเภท ก) ต้องแจ้งกับประชาชนก่อนวันเลือกตั้งว่าจะเสนอชื่อใครมาเป็น สสร.
ประเภทอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมทำงาน ไม่ว่าจะผ่านกลไกแบบบังคับ
เหมือนที่แต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.
ต้องระบุชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค หรือจะใช้กลไกแบบสมัครใจก็ได้
และโจทย์ประการสุดท้าย
“จะใช้ระบบเลือกตั้งใดในการเลือก”
ซึ่งทางเลือกสำหรับโจทย์นี้จะคล้ายกับที่คณะอนุกรรมาธิการฯ
ได้นำเสนอไว้สำหรับระบบเลือกตั้ง สสร. ประเภท ก) ก่อนหน้านี้
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า
ภายใต้ทางเลือกต่าง ๆ ที่รายงานนี้ได้นำเสนอ จะเห็นว่าการออกแบบ สสร.
สามารถทำได้หลายโมเดลมาก เพื่อตอบโจทย์สำคัญต่าง ๆ โดยหากมองว่า สสร.
ควรมีแค่ตัวแทนพื้นที่ในทุกจังหวัด ก็อาจจะมีแค่ สสร. ประเภท ก)
ที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง หรือหากมองว่าไม่จำเป็นต้องมี สสร.
ที่เป็นตัวแทนในพื้นที่ต่าง ๆ ก็อาจจะมีแค่ สสร. ประเภท ก)
ที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หรือหากมองว่า สสร.
ควรมีทั้งตัวแทนพื้นที่ในระดับจังหวัด และตัวแทนเชิงประเด็นในระดับประเทศ
ก็อาจจะแบ่ง สสร. ประเภท ก) เป็น 2 ประเภทย่อย
คือที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คล้ายกับ สส.
ที่มีทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ
หรือหากต้องการรับประกันพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางสังคมจริง
ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการเพิ่ม สสร. ขึ้นมาอีก 2 ประเภท เพื่อให้ประชาชนเลือก
สสร. ผ่านบัตรเลือกตั้ง 3 ใบ ประกอบด้วย 1 ใบ สำหรับ สสร. จังหวัด 1 ใบ สำหรับ สสร.
ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ และ 1 ใบ สำหรับ สสร.
ตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย หรือหากกังวลว่าการมีบัตรเลือกตั้ง 3 ใบจะสร้างความสับสนยุ่งยาก ก็อาจกำหนดให้ สสร. ประเภท ข) และ ค) ถูกเลือก
โดย สสร. ประเภท ก) ที่ประชาชนเลือกเข้าไป
พริษฐ์กล่าวสรุปว่า
สุดท้ายแล้ว สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่ง สสร.
ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดมีได้หลายโมเดลและหลายรูปแบบ
วัตถุประสงค์ของรายงานนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าโมเดลหรือระบบเลือกตั้ง สสร.
แบบใดดีที่สุด แต่ต้องการฉายภาพให้ได้เห็นถึงทางเลือกอันแตกต่างหลากหลายที่เป็นไปได้เกี่ยวกับโมเดลหรือระบบเลือกตั้ง
สสร. รวมถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก
“หากโมเดล สสร. เป็นเสมือนจานอาหาร และหากคณะอนุกรรมาธิการฯ
นี้เป็นเสมือนร้านอาหารที่ขายเฉพาะอาหารที่ใช้สูตรว่า สสร.
ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ผมหวังว่ารายงานฉบับนี้ก็จะเปรียบเสมือนเมนูอาหารที่มีอาหารตามสั่งที่หลากหลายเพียงพอให้ประชาชนได้เลือกและปรุงแต่งได้ตามรสชาติที่เขาต้องการ
โดยไม่มีใครจำเป็นต้องไปตอบสนองความต้องการของตนเอง
ด้วยการเดินไปทานที่ร้านอาหารอีกร้านหนึ่ง
ที่ขายอาหารบางจานซึ่งหันเหออกจากหลักการว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด”
พริษฐ์กล่าว
ท้ายที่สุด
ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบรายงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ
และมีมติให้ส่งรายฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาทุกคน
เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาและเป็นทางเลือกต่อไป