“ปิยบุตร”
เสนอ 4 ข้อต่อรัฐบาลเพื่อไทย แก้ปัญหาคดีทางการเมือง ไม่ต้องแก้ ม.112 ย้ำ ทำสำเร็จมีแต่ได้กับได้
เมื่อวันที่
18 มกราคม 2567 ที่เพจ Piyabutr Saengkanokkul
- ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้เผยแพร่ข้อความและคลิป ซึ่งเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อไทย
ให้ทำตามสัญญาเพื่อแก้ปัญหาคดีทางการเมือง
ปิยบุตร
โพสต์ว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนในช่วงรณรงค์หาเสียงว่า ไม่ต้องแก้
ไม่ต้องเลิก มาตรา 112
แค่จัดการปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย
เพื่อมิให้เกิดการกลั่นแกล้งกันก็เพียงพอแล้ว
เวลานี้
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยครองอำนาจมาเกือบ 6 เดือน แต่ยังคงมี “นักร้อง”
เที่ยวไปแจ้งความตามสถานีตำรวจ บางครั้งก็แกล้งไปฟ้องจังหวัดไกล ๆ
พนักงานสอบสวนก็ยังคงส่งสำนวนตามน้ำ
ไม่ยอมใช้ดุลพินิจเท่าที่ควร
ไม่มีการจัดสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ
ให้สำหรับนักโทษและจำเลยในคดีการแสดงออกทางการเมือง
ผมมีข้อเสนอถึง
คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, คุณภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานการเมือง, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
รมต.ยุติธรรม รวม 4 ประการ
ปิยบุตร
กล่าวว่า ข้อเสนอแนวทางแก้ไขที่อยากจะฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน
ถ้าไม่คิดอ่านจะทำนิรโทษกรรม ถ้าไม่คิดอ่านว่าจะแก้กฎหมาย 112, 116, กฎหมายคอมพิวเตอร์ อย่างน้อย ๆ อำนาจฝ่ายบริหารที่คุณมีช่วยใช้สักนิดเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ประการที่
1 รัฐบาลชุดนี้ทำแบบสิ่งที่คุณหมอพรหมินทร์พูดไว้ในเวทีมติชนเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ประกาศเลยครับว่าจะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี 112, 116 ขึ้นมา ถ้ามีบรรดานักร้องไปแจ้งความที่สน.ต่าง ๆ ไปแจ้งความแบบแกล้งกัน
กรรมการกลั่นกรองชุดนี้ที่รัฐบาลตั้งขึ้น เข้าไปดูเลยครับ
อะไรที่ไม่ได้ความไร้สาระแกล้งกัน เตะทิ้งเลย “ไทยรักไทย” เคยทำมาแล้ว
ทำตามที่เคยพูดว่า 112 ไม่ต้องแก้
ประการที่
2 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ให้แนวทางปฏิบัติกับพนักงานสอบสวน เข้าไปดูการทำงานของพนักงานสอบสวนในคดี 112,
116, คดีเกี่ยวกับความมั่นคง, คดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง
นักร้องเจ้าประจำเขายังไม่หยุด ยังไปแจ้งความตามสน.ต่าง ๆ นายกฯ
ในฐานะคนดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งการไปที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
แล้วลงไปถึงพนักงานสอบสวน ว่าต่อไปนี้คดี 112, 116
กำชับไปว่าให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจ อย่าตามน้ำอย่างเดียว
ถ้าเรื่องไหนไม่เข้าองค์ประกอบความผิด 112, 116 ก็ทิ้งไป
ไม่ต้องออกหมายเรียก ไม่ต้องส่งต่อไปที่อัยการ
ประการที่
3 เป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ออกแนวทางไปขอความร่วมมือ
เสนอไปว่าต่อไปนี้คดีไหนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องไปแล้ว พวกคดี 112, 116, คดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง อัยการในฐานะฝ่ายโจทก์อย่าอุทธรณ์ได้ไหม?
ให้มันจบไป หรือหากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผิดหรือให้รอลงอาญา ช่วยหยุดได้ไหม?
ให้มันจบที่รอลงอาญานั่นแหละ
ประการที่
4 เอากลุ่มคนที่ถูกดำเนินคดี ถูกติดคุก
ถูกจับกุมคุมขังในคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง
เอาเขาออกจากคุกให้ไปถูกคุมขังที่อื่นแทน ในอดีตเคยทำมาแล้ว
แยกนักโทษทางการเมืองออกมาคุมต่างหาก
ปิยบุตร
ยังกล่าวว่า ในเมื่อรัฐบาลเพื่อไทยพูดมาโดยตลอดว่าไม่แก้ 112
ไม่แตะต้องอะไรทั้งสิ้น แล้วก็บอกว่าจะหาวิธีการในทางบริหารปรับปรุงแก้ไข
ยังไม่เห็นทำอะไรเลย อย่าว่าแต่ทำเลย พูดให้ได้ยินสักแอะยังไม่มี
เรื่องเกี่ยวกับคดีการเมืองมันเงียบจนแสบแก้วหู
ข้อเสนอที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทยและฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วย
คือ 1) ลดความตึงเครียด ลดความโกรธแค้นของกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เขาถูกดำเนินคดีได้
อาจจะยังไม่หมด แต่ผ่อนเบาแน่นอน อย่างน้อยที่สุดถ้ามันบรรเทาเบาบางลงไป
คนเหล่านี้เขาก็จะไปประกอบอาชีพ ไปทำงานตามปกติ กลับไปเรียนหนังสือต่อ
2) พรรคเพื่อไทยจะได้แต้มตรงนี้ไป ถ้าพรรคเพื่อไทยทำผ่อนหนักเป็นเบาได้
ก็จะได้แต้มเพิ่มขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วย
.
3) ฝ่าย radical ก็จะค่อย ๆ
หมดประเด็นการเคลื่อนไหวไป การเมืองก็จะค่อย ๆ สงบ
4) เป็นการดับไฟเรื่อง 112 ผู้คนจะไม่พูดเรื่อง 112 ต้องยกเลิก ต้องแก้ไข เพื่อไทยพิสูจน์ว่า มาตรา 112
แค่แก้ที่การบังคับใช้ก็ได้ ตามที่เคยพูดไว้
5) พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ จุดกำเนิดของการเกิดขึ้นของรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นรัฐบาลข้ามขั้ว
ทำให้คนตำหนิติฉินนินทามาก และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแบกต้นทุนนี้ไว้มหาศาล แต่ถ้าแก้ปัญหาคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองได้บ้าง
อย่างน้อยที่สุดคนก็จะเข้าใจว่ามีเพื่อไทยเป็นรัฐบาลวันนี้ไม่ใช่แก้ปัญหาเรื่องกรณี
“ทักษิณ ชินวัตร” เรื่องเดียว แต่แก้ปัญหาเกี่ยวกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน
ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563
ปิยบุตร
กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็น 4
ข้อเสนอที่ทำแล้ว พรรคเพื่อไทยและฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีแต่ได้กับได้