ศาลสั่งจำคุก
3 ปี “ลลิตา” คดีม.112 กรณีโพสต์คลิป TikTok วิจารณ์นโยบายจัดการโควิด-19 การใช้ภาษีประชาชน
โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
วันนี้
(29 มกราคม 2567) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
รายงานผ่าน X ระบุว่า ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เวลาประมาณ 10.00
น. ศาลอาญาพิพากษา จำคุก 3 ปี กับ “ลลิตา
มีสุข” ในคดีมาตรา 112
ในคดีนี้
ลลิตาให้การรับสารภาพ กรณีถูกฟ้องว่าโพสต์คลิป TikTok วิจารณ์นโยบายจัดการโควิด-19
การใช้ภาษีประชาชน และถูกกล่าวหาว่ามีการพาดพิงถึงกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม
โทษจำคุก 3
ปีดังกล่าวศาลให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี
เนื่องจากเห็นว่าได้สำนึกในการกระทำแล้ว
สำหรับคดีนี้
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการ
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3
เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ลลิตา มีสุข ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้
ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ
“นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง”
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
(พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 (3) โดยลลิตา มีสุข
ประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ถูกอภิวัฒน์ ขันทอง ในฐานะประธาน คตส.ตามคำสั่งนายกฯ
เข้าแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์คลิปวิดีโอสั้นใน TikTok วิจารณ์การใช้ภาษีประชาชน
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564
ซึ่งเธอยืนยันว่า มีเจตนาเพียงวิจารณ์รัฐบาลเท่านั้น
โดยหลังจากอัยการยื่นฟ้อง
โดยไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว
ศาลได้รับฟ้องและอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณา
โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 200,000 บาท
เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังได้กำหนดเงื่อนไข “ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ
อันมีลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้อง
ห้ามโพสต์ข้อความหรือกระทำการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการเสื่อมเสีย
ด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล”
ทั้งนี้
ก่อนหน้าที่จะถึงวันฟังคำพิพากษาวันนี้ ลลิตาได้ไปร่วมพูดคุยวงสนทนา Stand Together 4 เดินหน้านิรโทษกรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน ที่จัดโดย iLaw
โดยช่วงหนึ่งของการเสวนา ลลิตาเล่าว่า
เธอเป็นคนที่ใช้ชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัดมาตั้งแต่เด็กจนทำให้ได้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างสองแห่ง
แม้คนในกรุงเทพฯ
จะรู้สึกว่าหลายสิ่งในเมืองมีปัญหาแต่ก็ยังห่างไกลจากความเหลื่อมล้ำที่เธอพบเจอมาจากต่างจังหวัด
ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ทำให้ลลิตาพยายามสื่อสารมาตลอดตั้งแต่ยังเรียนอยู่มัธยมศึกษา
โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งระหว่างชุมนุมเสื้อสีในกรุงเทพฯ
โดยลลิตา
ได้กล่าวว่า
การทำคลิปวิจารณ์ตอบโต้การออกนโยบายของพรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา ด้านประชานิยมในโครงการประชารัฐ
โดยในคลิปดังกล่าวมีการใช้คำราชาศัพท์ทั้งสิ้นหนึ่งคำจึงถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีมาตรา
112 แม้ว่าเนื้อหาคลิปจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใดก็ตาม
เรื่องนี้ลลิตามองว่าเป็นความพยายาม “บิด”
ให้การกระทำของเธอผิดตามมาตราดังกล่าวให้ได้
ซึ่งยิ่งสะท้อนปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112
ลลิตากล่าวถึง
การเลือกที่รับสารภาพในคดีนี้ว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน
การรับสารภาพในคดีมาตรา 112
ไม่ได้เป็นการยอมรับว่ากระทำสิ่งผิดแต่เป็นสภาวะจำยอมที่ต้องทำ
อย่างลลิตามองว่าคุณแม่ของเธอกำลังจะหายจากการป่วยอยู่แล้ว
หากเธอต้องสู้คดีไปจนสุดทางกระทั่งเข้าเรือนจำนั้นจะเป็นผลเสียมากกว่าดี
อีกทั้งการอยู่นอกเรือนจำยังทำให้สามารถส่งเสียงเรียกร้องและต่อสู้ทางการเมืองต่อไปได้เรื่อย
ๆ อีกด้วย