“ศุภโชติ” ย้ำงานใหญ่รัฐบาล จัดการปัญหาค่าไฟที่โครงสร้าง เรียกร้องนายกฯ
ใช้อำนาจประธาน กพช. ทบทวนมติเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
ส่อทำต้นทุนค่าไฟคนไทยพุ่งอีก
วันที่
13 ธันวาคม 2566 ที่รัฐสภา ศุภโชติ ไชยสัจ
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการการพลังงาน
ซึ่งมีวาระพิจารณาการปรับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ว่า มาตรการที่รัฐบาลบอกว่าจะใช้ ไม่ว่าจะเป็น การให้ ปตท. ตรึงราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ากระแสไฟฟ้า
หรือการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืดหนี้
ทั้งสองอย่างนี้เราเห็นว่าสามารถทำได้ แต่ต้องมีกำหนดเวลาอย่างชัดเจน
เพราะจะทำให้หนี้ที่ กฟผ. แบกอยู่กว่า 95,000 ล้านบาทขยายต่อไปอีก
ดังนั้นต้องหามาตรการเร่งด่วนเข้ามาแก้ไข ส่วนมาตรการใหม่ที่รัฐบาลพูดถึง
คือการนำงบประมาณส่วนกลางกว่า 2,000 ล้านบาท
มาใช้ในการชดเชยค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตลอด 4 เดือนในปีหน้า
ศุภโชติกล่าวว่า
นอกจากนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลมีการเสนอให้ถัวเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติ
นี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลพูดมาตลอดว่ารัฐต้องหยุดนำของแพงมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้ประชาชน
แล้วนำของถูกไปให้กับกลุ่มปิโตรเคมี โดยจากเมื่อเช้าที่มีการประชุม กมธ.พลังงาน
ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
ได้ชงเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว
หวังอย่างยิ่งว่าจะมีการเคาะมติออกมาว่าให้มีการถัวเฉลี่ยเกิดขึ้นจริง
เพราะเราเห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่โครงสร้าง จะเป็นกระดุมเม็ดแรกในการแก้ปัญหาราคาค่าไฟของประเทศ
แต่เท่านั้นยังไม่พอ
พรรคก้าวไกลได้เสนอ 2
มาตรการต่อรัฐบาลเพื่อนำไปปรับใช้
อย่างแรกคือการเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย
เพราะปัจจุบันรัฐต้องจ่ายปีละเกือบ 100,000 ล้านบาท
แต่มีค่าความพร้อมจ่ายส่วนหนึ่งที่จ่ายให้กับกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างมาแล้วไม่ได้เดินเครื่องปีละเกือบหมื่นล้านบาท
ถ้ารัฐมีความพยายามเข้าไปเจรจาแก้ไขเพื่อลดโรงไฟฟ้ากลุ่มนี้ลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เราเชื่อว่าค่าไฟที่เสนอมา 4.68 บาทต่อหน่วย จะลดลงได้อีก
อีกข้อเสนอ
พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้หยุดหรือทบทวนการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากแบงที่ประเทศลาว หรือเขื่อนอื่นๆ ที่มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว
เนื่องจากระยะเวลาการเซ็นสัญญากว่า 30 ปี
จะเป็นการผูกขาระบบพลังงานไทยให้ต้องจ่ายอัตราค่าไฟที่ค่อนข้างแพงเมื่อเปรียบเทียบกับเขื่อนอื่นๆ
รวมถึงขอให้ทบทวนการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกว่า
5,000 เมกะวัตต์ ที่มีระยะเวลาสัญญากว่า 20 ปี
ซึ่งศาลปกครองกลางมีข้อคิดเห็นว่ากระบวนการการรับซื้อมีปัญหา
ส่อจะทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์ เมื่อศาลชี้อย่างนี้แล้ว
จึงขอเรียกร้องไปรัฐบาลและนายกฯ ใช้อำนาจในฐานะประธาน กพช.
ทบทวนมติและตรวจสอบดูว่าสิ่งที่ศาลให้ความเห็นนั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่
ไม่เช่นนั้นโรงไฟฟ้าที่เซ็นมาเพิ่ม
จะทำให้ต้นทุนค่าไฟของพี่น้องคนไทยขยายขึ้นไปอีก
“นี่คืองานใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งเข้าไปเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
รวมถึงหยุดการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องนี้ และเราจะยืนหยัดตรวจสอบต่อไป”
ศุภโชติกล่าว
อย่างไรก็ตาม
ในเวลาต่อมาการประชุม กพช. เพื่อพิจารณาแนวทางปรับลดค่าไฟงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ที่มีนายกฯ
เป็นประธาน เดิมทีมงานกระทรวงพลังงานแจ้งว่าจะมีการแถลงข่าวหลังการประชุม
แต่ต่อมากลับสั่งยกเลิกแถลงข่าว โดยจะนำข้อสรุปทั้งหมดเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 19
ธันวาคมนี้