“วิโรจน์-เท้ง” แถลงข่าวจับตานโยบายปราบปรามการทุจริต ชี้
ดัชนีทุจริตเลวร้ายถึงจุดต่ำสุดต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 57 จัดเต็มข้อเสนอชุดใหญ่ยกเครื่องกฎหมาย-แก้ทุจริตทั้งระบบ
แนะทำงบ 67 ประกาศเจตจำนงเข้าร่วมภาคีเปิดข้อมูลภาครัฐภายใน 2
ปี
วันที่
8 ธันวาคม 2566 ที่อาคารอนาคตใหม่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
พร้อมด้วย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร่วมแถลงข่าวจับตานโยบาย
“ชำแหละปัญหา-เสนอทางแก้คอร์รัปชัน” เพื่อส่งสัญญาณไปสู่รัฐบาล
เนื่องในโอกาสที่วันพรุ่งนี้ (9 ธันวาคม 2566) เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล
พร้อมเสนอมาตรการที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลสามารถจัดการปัญหาได้ทันที
ด้านวิโรจน์
ระบุว่ามูลค่าของการทุจริตคอร์รัปชัน มีการประเมินว่าสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี
เทียบเท่ากับงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ 1 ปี เป็น 42 เท่าของงบประมาณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และเป็น 3 เท่าของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
และเมื่อพิจารณาจากดัชนีการรับรู้คอร์รัปชัน
(Corruption
Perception Index - CPI) ตั้งแต่ปี 2555-2565 จะเห็นได้ว่าการทำรัฐประหารในปี
2557 ที่อ้างว่าเพื่อมาจัดการปัญหาการทุจริต
กลับทำให้ปัญหาการทุจริตอยู่ในจุดที่เสื่อมทรามลง และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ก็เป็นเพียงเอกสารที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาคอร์รัปชันในเชิงระบบใดๆ
กลายเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยด้วยซ้ำ
วิโรจน์กล่าวต่อไป
ว่าการทุจริตมูลค่า 3
แสนล้านบาทที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
ส่วนใหญ่มาจากการปล้นผู้ประกอบการที่รับงานภาครัฐ ระดมไถจากภาษีของประชาชน
ทำให้การลงทุนภาครัฐอยู่ในจุดที่ด้อยคุณภาพ
สาธารณูปโภคต่ำกว่ามาตรฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ ทั่วโลกรู้ คนในประเทศรู้
เคยมีการสำรวจพบด้วยซ้ำว่า 1 ใน 6 ของคนไทยเคยเข้าไปมีส่วนโดยตรงในการถูกเรียกรับผลประโยชน์
ทั้งนี้
เท่าที่ตนได้ติดตามปัญหา ประเทศไทยยังคงอยู่ในวังวนของหลุมดำของการคอร์รัปชันทั้ง 9 หลุม
ประกอบด้วย
1)
ระบบตั๋วเส้นสาย การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ระบบอุปถัมภ์
และเครือข่ายทุนผูกขาด
2)
การขาดความโปร่งใส และอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ
ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะที่ตรวจสอบได้ลำบาก
3)
กฎหมายปิดปาก การคุกคามสื่อ และการลิดรอนเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์
4)
การใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ปราศจากความรับผิดชอบ
ไร้กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล แม้ความอิสระจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดี
แต่ความอิสระก็สามารถเป็นสิ่งที่เป็นภัยร้ายได้
เมื่อองค์กรที่แอบอ้างว่าเป็นคนดีสามารถใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคประชาชนหรือองค์กรอื่นใด
5)
กฎหมายที่ล้าสมัย ที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ
เอื้อให้เกิดการผูกขาดหรือการฮั้วประมูล
6)
การใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน ตั้งธงใช้นิติสงครามเล่นงานคนที่คิดต่าง
แต่เมื่อพวกพ้องของตนเองทำผิด
กลับสามารถหาข้ออ้างพิสดารมาปกป้องให้พ้นผิดได้อยู่เสมอ
7)
ความไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาการคอร์รัปชัน
หรือมีการบังคับใช้อย่างล่าช้า
รวมถึงมีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม
8) การตอบสนองต่อการทุจริตคอร์รัปชันอย่างล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ
ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งหลักที่ทำให้คะแนน CPI ตกต่ำ
ใช้วิธีปฏิเสธอย่างหน้าไม่อาย
ไม่ยอมรับว่ามีการกระทำความผิดหรือมีการทุจริตเกิดขึ้น
ทั้งที่เป็นประเด็นที่โจษจันกันไปทั่วโลก
ประชาชนรับรู้อย่างกว้างขวางแต่ผู้รับผิดชอบปฏิเสธตลอดเวลาว่าไม่เคยเกิดขึ้น
9)
สังคมมองว่าการรีดไถและการเรียกรับผลประโยชน์ที่เป็นเรื่องปกติ
กลายเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน
วิโรจน์กล่าวต่อไป
ว่าที่ผ่านมาการคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหายแก่สังคมอย่างมหาศาล มีดังต่อไปนี้
1)
ระบบตั๋วและการซื้อขายตำแหน่ง
ซึ่งถือเป็นปฐมบทของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
โดยปัจจุบันพบว่าแหล่งเงินในการซื้อขายตำแหน่งไม่ได้มาจากผู้มีอิทธิพลคนไทย
แต่หลายแหล่งข่าวแจ้งว่ามาจากทุนจีนสีเทาและมาเฟียข้ามชาติ
ทำให้ข้าราชการระดับสูงที่วิ่งเต้นซื้อตำแหน่งมาได้ ต้องคอยเป็นลูกสมุนรับใช้
ปกป้อง และอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ
รวมทั้งลูกน้องพรรคพวกของคนเหล่านั้น
2)
การเรียกรับผลประโยชน์ การรีดไถส่วยจากธุรกิจผิดกฎหมาย
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยาเสพติด บ่อนการพนัน พนันออนไลน์ แรงงานข้ามชาติ
การค้าประเวณีเด็ก การลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษีหรือสินค้าผิดกฎหมาย
3)
การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตามอำเภอใจ
และช่องว่างของกฎหมายที่ล้าหลังและโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ในการกลั่นแกล้งรังแก
เพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชนผู้สุจริต ไม่ว่าจะเป็น ส่วยโรงแรม
ส่วยสถานบันเทิง ส่วยรถบรรทุก ส่วยตรวจสภาพรถ ส่วยโอนที่ดิน ส่วยใบอนุญาตก่อสร้าง
การตั้งด่านรีดไถประชาชน การค้าสำนวน การทำสำนวนให้อ่อน การวิ่งเต้นให้พ้นโทษ
4)
การล็อกสเปกและการฮั้วประมูล
ผ่านเงื่อนไขที่ถูกสร้างให้การประกวดราคาอยู่ในสภาพผูกขาด
เช่นกรณีประกาศคณะกรรมการราคากลาง ที่กีดกันไม่ให้ผู้รับเหมาชั้น 1 ของโครงการก่อสร้างทาง เลื่อนชั้นเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ
เอื้อให้เกิดการฮั้วประมูลโดยถูกกฎหมาย
นอกจากนี้ยังพบว่า
โครงการขนาดใหญ่ โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะหลายโครงการ
ใช้ช่องว่างของกฎหมายในการหลบเลี่ยงในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม
ทั้งที่มีข้อมูลทางสถิติยืนยันว่าโครงการที่จัดทำข้อตกลงคุณธรรมนั้นประหยัดงบประมาณได้สูงถึง
31.32%
วิโรจน์กล่าวต่อไป
ว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย
ไม่สามารถแก้ได้ด้วยท่าทีขึงขังหรือใช้อำนาจเผด็จการข่มขู่ว่าจะปราบปราบ
ดูได้จากกรณีของ คสช. ที่แม้ว่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 44 แต่ก็เป็นที่ปรากฏแล้วว่าอำนาจเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันได้เลย
ซ้ำร้ายสิ่งที่ คสช.
ทำคือการสร้างเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ที่เอื้อพวกพ้องของตนได้เข้าสู่อำนาจ
ผูกขาดกินรวบทรัพยากรและผลประโยชน์ของประเทศชาติ
จนทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันหยั่งรากลึกจนยากที่จะแก้ไข
ดังนั้น
การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจำเป็นต้องแก้ไขที่โครงสร้าง
ตลอดจนมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยควบคู่กันไปด้วย มีการดำเนินนโยบาย
และตรากฎหมายที่ส่งเสริมความโปร่งใส คุ้มครองเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน
และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง
โดยตนมีตัวอย่างที่ขอนำเสนอ ที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการได้ทันที ประกอบด้วย
1)
การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง, พ.ร.ก.การบริหารการจัดการทำงานคนต่างด้าว
และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาส่วยแรงงานข้ามชาติ
2)
การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.โรงแรม และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
เพื่อส่งเสริมให้โรงแรมต่างๆ เลิกถูกรีดไถเสียที สามารถขอจดทะเบียนได้อย่างถูกต้อง
ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายในการรีดไถเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการโรงแรมและโครงการก่อสร้างต่างๆ
3)
การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
เพื่อให้เงินนอกงบประมาณมีความโปร่งใสมากขึ้น
4)
การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
ที่มุ่งเน้นความโปร่งใส และส่งเสริมการตรวจสอบจากภาคประชาชน
5)
การเข้าร่วมเป็นภาคีเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open
Government Partnership - OGP) รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณอย่างโปร่งใส
6)
การออก
พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ
(Anti-SLAPP Act) เพื่อส่งเสริมการตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคประชาชน
7)
การออก พ.ร.บ.ปกป้อง และยกเว้นโทษให้กับผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริต
เพื่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันทั้งขบวนการแบบถอนรากถอนโคน
8) การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และ
พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อไม่ให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้
ถูกนำไปใช้คุกคามเสรีภาพในการแสดงออก และการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน
9)
การบังคับใช้มาตรา 77 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
อย่างเคร่งครัด ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจให้มีธรรมาภิบาล ไม่มีระบบตั๋ว
ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง และแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.)
สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในท้องที่ได้อย่างแท้จริง
10)
การบังคับใช้มาตรา 131 และมาตรา 176 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อการคุ้มครองพยาน
และเอาผิดกับนิติบุคคลที่เสนอเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ
11)
การแก้ไข พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ,
พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม และ
พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หลักเกณฑ์ในการขออนุญาตต่างๆ
มีความชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง ตลอดจนเร่งรัดกระบวนต่างๆ
โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
12)
การแก้ไข พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน, พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และ
พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
เพื่อให้โครงการสำคัญต่างๆเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
13)
การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้องค์กรอิสระ มีการตรวจสอบและถ่วงดุล
ไม่อยู่ในสภาพที่แสร้งเอาคำว่า “อิสระ”
มาเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยปราศจากความรับผิด
14)
การแก้ไขประกาศของคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ
ไม่ให้มีเนื้อหาสาระที่กีดกันการเลื่อนชั้นของผู้รับเหมา
จนทำให้ผู้รับเหมาชั้นพิเศษอยู่ในสถานะกึ่งผูกขาด เอื้อให้เกิดการฮั้วประมูล
15)
การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรอิสระ เช่น
การอาศัยมาตรา 85 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
และมาตรา 32 ของ
พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการแก้ไขปรับปรุง กฎกระทรวง ประกาศ
ระเบียบ และมติ ครม. ต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการผูกขาด
หรือเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ดุลพินิจหรือใช้ช่องว่างของกฎหมายในการเรียกรับผลประโยชน์
วิโรจน์กล่าวต่อไปว่า
15 มาตรการข้างต้นเหล่านี้เป็นตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น
แต่ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้โดยไม่ยากเย็น
หากนายกรัฐมนตรีมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน สิ่งต่างๆ
เหล่านี้สามารถให้ความร่วมมือกับสภา และสั่งการดำเนินการได้ทันที
“ผมย้ำตรงนี้อีกครั้งว่า สภาพของความขึงขัง เรียกข้าราชการไปนั่งบ่นนั่งด่า
หรือการจัดอีเว้นท์ในการปราบปราม
อย่างดีที่สุดก็ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันกบดานหายตัวไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
แต่พอเวลาผ่านไปสักพักสิ่งโสโครกเหล่านั้นก็จะผุดกลับขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีการที่แยบยลตรวจสอบได้ยากกว่าเดิม
ที่สำคัญวันนี้จีนสีเทา มาเฟียข้ามชาติ ธุรกิจผิดกฎหมาย
ก็จะแห่แหนกันมาลงหลักปักฐานที่ประเทศไทย การรีดไถเก็บส่วยจะมีเต็มบ้านเต็มเมือง
โจษจันกันไปทั่วโลก ขัดขวางการลงทุนในธุรกิจสุจริตจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น จะมีแต่ new s-curve เป็นธุรกิจสีเทา
เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ ถ้าบ้านเมืองเรายังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน
ผมกังวลว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศต้องสาปที่ไม่สามารถพัฒนาได้ดีกว่านี้”
วิโรจน์กล่าว
ขณะที่ณัฐพงษ์
ระบุว่าเป็นที่ทราบกันดีว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าออกไปเป็นเพราะบริบททางการเมืองในปีนี้
ที่มีการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลที่คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาในการจัดทำงบประมาณ
แต่ถึงจะมาช้าแต่ก็ไม่สายเกินไปที่นายกรัฐมนตรีจะทำให้การจัดทำงบประมาณปี 2567
เป็นงบประมาณที่มีความโปร่งใส
และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น
1)
ไม่สายเกินไปที่จะให้เวลา ตามปฏิทินการจัดทำและพิจารณางบประมาณปี 2567
ของสำนักงบประมาณ มีการกำหนดว่าในวันที่ 26 ธันวาคม
2566 เป็นวันที่จะมีมติ ครม. รับรองร่าง
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือที่เรียกกันว่าเอกสารขาวคาดแดงส่งเข้าสภา
แต่ก็เป็นช่วงเดียวกับวันหยุดปีใหม่ ซึ่งกว่าที่จะเข้าสภาจริงได้ก็คือวันที่ 3
มกราคม 2567 ไม่มีทางที่สำนักงบประมาณของรัฐสภา
(PBO) สส. 500 คน สื่อมวลชน
และประชาชนจะมีเวลามากพอในการศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนี้
ดังนั้น
ในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างน้อยในสภา
คงไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือด้วย
สิ่งที่นายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้
คือการพูดคุยในพรรคร่วมรัฐบาลและกลไกวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล
นำเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎรในการเลื่อนกำหนดวาระการประชุมงบประมาณวาระ 1 ออกไป 1
สัปดาห์ ซึ่งไม่ทำให้งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ล่าช้าออกไป
และจะส่งผลสำคัญต่อการพิจารณา 3.48 ล้านล้านบาทในต้นปีหน้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
2)
ไม่สายเกินไปที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรเลย
ทั้งที่ IBP หรือหน่วยงานสากลที่ทำผลสำรวจการจัดทำงบประมาณที่ครอบคลุม
120 ประเทศทั่วโลก เคยออกมาให้คำแนะนำประเทศไทย
ที่นอกจากคะแนน IBP ไม่มีทีท่าจะดีขึ้นแล้ว ยังมีคะแนน IBP
อยู่อันดับรั้งท้ายด้วย เช่น คะแนนการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เพียง
11 จาก 100, คะแนนข้อมูลงบประมาณเห็นภาพรวม
ได้ 59 จาก 100 และคะแนนความโปร่งใสของกระบวนการจัดทำงบประมาณ
ได้ 58 จาก 100 ซึ่งอยู่ติดกับประเทศในกลุ่มประเทศโลกที่
3 ทั้งสิ้น
สิ่งที่นายกรัฐมนตรีสามารถทำได้ทันทีเช่นเดียวกัน
คือการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
รัฐสภาหลายประเทศเปิดให้ประชาชนเข้ามาสังเกตการณ์เป็นสักขีพยาน เป็นสิ่งเล็กๆ
น้อยๆ ที่สามารถทำได้ทันที
และพิสูจน์ความจริงใจว่ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะทำงบประมาณให้มีความโปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
3)
ไม่สายเกินไปที่จะทำให้การจัดทำงบประมาณมีความโปร่งใส
จากการอภิปรายงบประมาณ “ชิดชอบบุรี”
หรืองบประมาณซ่อมและสร้างถนนที่มีการกระจุกตัวอยู่ในบางจังหวัด ที่ สุรเชษฐ์
ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในสภาในงบปี 2566 ในงบประมาณปีนี้มีทีท่าว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอย
นั่นคืองบประมาณในการสร้างฝายเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งเอลนีโญ
กรณีดังกล่าวมีความน่าสงสัย
คือมีการตั้ง ชง อนุมัติ และจบภายใน 20 กว่าวัน เป็นการสร้างฝาย 4
พันแห่ง ด้วยงบประมาณ 2 พันล้านบาท
โดยใช้เงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
คำถามคือฝาย 4 พันแห่งพิจารณาจบภายใน 20 กว่าวันสามารถพิจารณาได้ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่
นอกจากนี้ทั้ง
สทนช. และ สสน. และหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ
เคยให้ความเห็นว่าฝายไม่ได้มีความเหมาะสมในการจัดการปัญหาภัยแล้งในทุกพื้นที่
และไม่เคยมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการสร้างฝ่ายทั้ง 4 พันแห่งนี้
สิ่งที่น่าตั้งข้อสงสัยต่อไป
คือการที่งบประมาณในการสร้างฝายต่อแห่งเฉลี่ยอยู่ที่ราว 5 แสนบาท
ซึ่งอยู่ในกรอบที่ไม่ต้องทำ e-bidding นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำให้เกิดความโปร่งใส
เปิดเผยข้อมูลงบประมาณออกมา ว่างบประมาณในการดำเนินโครงการเหล่านี้
ถูกจัดสรรลงไปในพื้นที่ใดบ้าง
ณัฐพงษ์ยังกล่าวต่อไป
ว่าปีนี้เป็นปีแรกที่พรรคก้าวไกลมีความตั้งใจที่จะทำให้การจัดทำงบประมาณมีมิติใหม่เกิดขึ้น
นั่นคือการเปิดเผยข้อมูลคำของบประมาณ 5.8 ล้านล้านบาท
ก่อนถูกตัดลงมาเหลือ 3.48 ล้านล้านบาท
ซึ่งเป็นตัวเลขที่หน่วยรับงบประมาณ
ส่งข้อมูลความต้องการงบประมาณไปที่สำนักงบประมาณ
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการตัดและจัดสรรงบประมาณ
ทั้งนี้
สำนักงานประมาณไม่เคยให้ข้อมูลนี้กับใคร หรือชี้แจงถึงเกณฑ์ในการจัดสรร การตัด
หรือการเลือกพื้นที่ลงงบประมาณกับใคร
ทางกรรมาธิการการศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณ
ได้พยายามทำหนังสือขอข้อมูลไปที่สำนักงบประมาณแล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ
โดยให้เหตุผลว่าการจัดสรรงบประมาณยังไม่ผ่านมติ ครม. ไม่สามารถให้ข้อมูลได้
นี่จึงเป็นที่มาที่
กมธ.ติดตามงบฯ ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
ทำหนังสือขอข้อมูลโดยตรงไปยังหน่วยรับงบประมาณ 464 ฉบับ
ได้ข้อมูลคำของบประมาณมาแล้ว 18 จาก 20 กระทรวง
กลายเป็นคำถามว่าทำไมกระทรวงถึงให้ข้อมูลเราได้แต่สำนักงบประมาณให้ข้อมูลเราไม่ได้
ณัฐพงษ์ระบุต่อไปว่า
นี่เป็นเรื่องที่ต้องถามโดยตรงไปยังนายกรัฐมนตรี
ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงบประมาณโดยตรง
ว่านายกรัฐมนตรีสามารถให้ข้อมูลนี้แก่ กมธ. ได้หรือไม่
เรื่องนี้ถ้านายกรัฐมนตรีมีความจริงใจ ไม่อยากปกปิด
สามารถสั่งการให้สำนักงบประมาณส่งข้อมูลไปยังสภาผ่าน กมธ.ติดตามงบฯ
เพื่อจะได้มีภาพรวมคำของบประมาณอย่างสมบูรณ์
จะได้วิเคราะห์ต่อไปว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลมีความเหมาะสม
มีการกระจายตัวหรือกระจุกตัวในพื้นที่ใดบ้าง
นี่ต่างหากที่จะเป็นการลงมือพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริต
สุดท้าย
นอกจากการเปิดเผยการจัดทำงบประมาณแล้ว การใช้งบประมาณก็มีความสำคัญ
โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งที่ผ่านมามีการประกาศจากรัฐบาลชุดที่แล้วตั้งแต่ปี 2558 ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ
(OGP) ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการเปิดเผยการใช้งบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบที่ผ่านเกณฑ์
แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
เมื่อวานนี้
กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้เข้าไปชี้แจงคำของบประมาณใน กมธ. ว่าในงบประมาณปี 2567 กรมบัญชีกลางได้ตั้งโครงการเพื่อจัดทำระบบการเปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้างแบบเรียลไทม์
เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่น่าสงสัยให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบได้
แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานในระดับปฏิบัติการพร้อมแล้ว
ที่จะทำให้เกิดระบบการเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง
ซึ่งหากเกิดขึ้นเมื่อไร ประเทศไทยจะได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นและเข้าร่วม OGP ได้
ขาดแต่เพียงการออกมาประกาศเจตจำนงที่ชัดเจนของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
“ผมขอส่งเสียงเรียกร้องว่าวันพรุ่งนี้
เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้าพบกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
อยากให้ท่านประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเข้าเป็นสมาชิก OGP ให้ได้ภายใน 2 ปี
ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าภายใต้บริบทของประเทศในปัจจุบัน เราสามารถทำได้” ณัฐพงษ์กล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วันต่อต้านคอรัปชันสากล #ก้าวไกล