วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2566

13 ปี พีมูฟจัดเสวนา “สู่อนาคตประชาธิปไตย สู่สังคมไทยที่เป็นธรรม” ธนาธร ชี้ 4 เรื่องเจอแน่ปีหน้า แก้รัฐธรรมนูญ กระจายอำนาจ นิรโทษกรรม ปัญหาที่ดิน - อ.ปริญญา แจง มีความเสมอภาคแค่ทางการเมืองไม่พอ ทางเศรษฐกิจ สังคมก็สำคัญ เผย ให้งาน ให้โอกาส ดีกว่าให้เงินแค่ครั้งเดียว

 


13 ปี พีมูฟจัดเสวนา “สู่อนาคตประชาธิปไตย สู่สังคมไทยที่เป็นธรรม” ธนาธร ชี้ 4 เรื่องเจอแน่ปีหน้า แก้รัฐธรรมนูญ กระจายอำนาจ นิรโทษกรรม ปัญหาที่ดิน - อ.ปริญญา แจง มีความเสมอภาคแค่ทางการเมืองไม่พอ ทางเศรษฐกิจ สังคมก็สำคัญ เผย ให้งาน ให้โอกาส ดีกว่าให้เงินแค่ครั้งเดียว

 

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) รามคำแหง 39 แยก 17 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ภาคประชาชน เพื่อสิทธิในที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม จัดกิจกรรม "13 ปี พีมูฟ สู่สังคมที่เป็นธรรม" โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่ 10.00 น. มีการรำลึกถึงนักต่อสู้สามัญชน รวมถึงจัดระดมทุนผ้าป่าสามัคคี "จากภูผาถึงทะเล" โดยบริเวณงานมีการจัดซุ้มอาหารจากเครือข่ายแนวร่วม และงานวัฒนธรรม อีกด้วย

 

จากนั้น 15.10 น. เริ่มวงเสวนา “อดีต ปัจจุบัน อนาคต พีมูฟ” โดย จำนงค์ จิตรนิรันดร์, จำนงค์ หนูพันธ์, พชร คำชำนาญ ก่อนที่จะเข้าเวทีเสวนา “สู่อนาคตประชาธิปไตย สู่สังคมไทยที่เป็นธรรม” ในเวลา 16.00 น.

 

ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป, นางสาวกรกนก คำตา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคสามัญชน, นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และนายพายุ บุญโสภณ หรือ พายุ ดาวดิน ดำเนินรายการโดย นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The reporters

 

โดย ครูประทีป ได้กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่รากฐาน ทั้งความเป็นอยู่และโอกาสทางการศึกษา ที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจนได้อย่างชัดเจน ทั้งปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในจังหวัดต่าง ๆ และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็จะเห็นได้ชัดว่าคนจนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารได้อย่างทั่วถึง

 

ดังนั้นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของแต่ละคนในสังคม ถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ในสังคม ที่ทำให้เห็นได้ว่าไม่ได้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

 

ความเหลื่อมล้ำนี้ เกิดมาจากโครงสร้างของสังคมไทย ที่เรายังไม่สามารถจะหาคนที่มีอุดมการณ์พร้อมเพรียง แข็งแกร่ง ทั้งประเทศไทยยังขาดแรงงานประเภทฝีมือ เราจึงต้องตั้งคำถามว่าจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ได้อย่างไรให้มีศักยภาพและฝีมือที่มากพอ และมองว่าปัญหาของเด็กไทยยังขาดการคิด วิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เด็กไทยไม่มีกระบวนการพัฒนาทางด้านความคิด ครูประทีปกล่าว

 

ด้านนางปรีดา มองว่าเป็นเรื่องน่าอายที่มีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยเกิดขึ้นอย่างมาก และคิดว่าบุคคลที่อยู่ในชนชั้นนำทั้งหลายของประเทศ ควรตระหนัก และคิดได้ว่าทำไมถึงปล่อยให้ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นขนาดนี้

 

สำหรับจากการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนที่ผ่านมา เป็นไปได้ที่ต้องใช้เวลานานในการต่อสู้ โดยยอมรับว่า พีมูฟ เป็นเครือข่ายที่สำคัญสำหรับประชาชนตัวเล็กตัวน้อย ที่เข้ามาช่วยเหลือและขับเคลื่อนภาคประชาชนในการเรียกร้องเรื่องนโยบาย พีมูฟจึงเป็นนักปกป้องสิทธิให้กับประชาชน ทั้งคนจน คนไร้บ้าน ชาติพันธุ์ ฯลฯ นางปรีดา กล่าว

 

ขณะที่ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวขอบคุณพีมูฟ และขอบคุณขบวนการคนจนทั้งหมดว่า ทุกคนได้ร่วมกันวางก้อนอิฐในการแผ้วถางหรือปูทางให้กับการเดินไปสู่สังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่งดงามในอนาคต ส่วนสิ่งที่พีมูฟและสังคมไทยกำลังเผชิญคือทางแยกที่ชี้ว่าจะเดินไปในทิศทางไหน พีมูฟ ต้องเคลื่อนไปสู่การเป็นสหภาพ

 

โดยมองว่า การเคลื่อนไหวของพี่น้องสมัชชาคนจนในเขตเมือง ได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่าเมื่อ 30 ปีก่อน ความรู้สึกถึงความอยุติธรรม กลายเป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยรับรู้อย่างชัดเจนมากขึ้น และมีการเคลื่อนไหวที่กระจายสู่สังคมมากขึ้น พีมูฟต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

 

ด้านนายพายุ ระบุว่าจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางสังคมของตัวเองนั้น เพราะอยากเห็นสังคมที่เป็นธรรม ประชาชนสามารถสร้างแนวทางของตัวเองได้ การลงพื้นที่เพื่อไปเรียนรู้มุมมองของชาวบ้านทำให้เห็นมุมมองและปัญหาที่กว้างขึ้น จนได้เรียนรู้ว่าประเด็นทรัพยากรที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านนั้น ไม่ใช่เป็นแค่ประเด็นในพื้นที่ แต่เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างสังคมด้วย

 

พอเรียนจบจึงได้ร่วมทำงานกับพีมูฟ ทำให้เห็นกระบวนการทำงานที่ยาวนาน หลายสิบปี และรู้สึกว่าต้องเคลื่อนไหวให้มากขึ้น ซึ่งมองว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ คือการกระจายอำนาจ อาจเป็นเป้าหมายหลักหลังจากการแก้รัฐธรรมนูญ

 

ขณะที่นายธนาธร กล่าวว่า ถ้าเราย้อนหลังกลับไป 13 ปี ก็จะตรงกับปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่เกิดขบวนการพีมูฟ ตอนนั้นน่าจะเป็นจุดตกต่ำที่สุดของภาคประชาสังคม ถือเป็นช่วงแตกหักของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการทำรัฐประหาร 2549

 

โดยมองว่าขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมยังคงมีจำเป็นอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถทำในบางอย่างได้มากกว่ามากกว่าภาคการเมือง

 

ดังนั้น 13 ปี ของพีมูฟ ธนาธร สรุปได้ 4 บทบาทด้วยกันคือ 1. บทบาทการคัดค้าน 2. บทบาทการบรรเทาความเดือดร้อน 3. สร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหา 4. ผลักดันปัญหาที่มากกว่ารายประเด็น ซึ่งเกี่ยวกับโครงสร้าง

 

นอกจากการช่วยเหลือชาวบ้าน คือเกิดการสร้างคนด้วย ทั้งที่เกิดจากประเด็นสิ่งแวดล้อม และการเมือง

 

นายธนาธร ยังกล่าวว่า โครงสร้างอำนาจระหว่างชนชั้นนำ นายทุนขนาดใหญ่นั้น มีวาระประเทศไทยของเขาเอง ไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เรื่องชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ไม่ใช่สร้างเศรษฐกิจให้รุ่งเรือง ไม่ใช่การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

 

กลุ่มชนชั้นนำ มีกลไกที่ใหญ่ที่สุดคือระบบรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นสิ่งที่รักษาระบบระเบียบเอาไว้ เช่น การผลิตซ้ำค่านิยม การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการพูด แสดงออกและชุมนุม ทำให้ปัญหาทั้งเรื่องที่ดิน ป่าไม้ ไม่สามารถแก้ไขได้

 

ในโอกาส 13 ปีพีมูฟ อยากให้ความเห็นที่ไม่ใช่ต่อพีมูฟอย่างเดียว แต่รวมถึงประชาชนในวาระปี 2567 ไปด้วย ว่าสนามปีหน้าที่ต้องเจอแน่ ๆ คือแก้รัฐธรรมนูญ กระจายอำนาจ นิรโทษกรรม ปัญหาเรื่องที่ดิน นายธนาธร กล่าว

 

ด้านนางสาวกรกนก ระบุถึงการเลือกปฏิบัติของคนหลากหลายทางเพศ และการห้ามทำแท้ง เป็นการจำกัดสิทธิทางเพศและเนื้อตัวร่างกาย ดังนั้น สังคมต้องมีความเป็นธรรมให้กับทุก ๆ คน เมื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วต้องให้ความเป็นธรรมกับประเด็นนี้ด้วย

 

สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และโอกาส เราต้องการพร้อมกับประชาธิปไตย เมื่อวันนั้นมาถึงขบวนการฯ จะยิ่งใหญ่ขึ้น โอบอุ้มทุกความหลากหลายเอาไว้

 

ปิดท้ายด้วย ผศ.ดร.ปริญญา ได้สรุปถึงความเสมอภาคในสังคมว่า เรื่องปัญหาเราเห็นตรงกัน เพียงแต่ติดตรงที่ว่าเราจะแก้อย่างไรให้สำเร็จได้ ส่วนตัว มองว่า ความเป็นธรรมทางสังคมต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกปัญหาและแก้ไปพร้อมกัน ทั้งนี้หากจะขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่เป็นธรรมนั้น เราจะพูดถึงความเสมอภาคทางการเมืองอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยเฉพาะการให้งาน ให้โอกาสให้เขาตั้งตัว ให้คนที่หลากหลายในสังคม

 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า ต้องกระจายให้มากแล้วก็มีลักษณะของกองทุน ที่ประชาชนจะมีโอกาสได้ตั้งตัว หรือ มีโอกาสที่จะเอามาใช้แล้วหมุนเวียนกัน รูปแบบเหมือนกองทุนอะไรที่เคยทำในปี 2544 มันดีกว่าให้เงินไปครั้งเดียว

 

จากนั้นขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ร่วมประกาศเจตนารมณ์เข้าสู่ปีที่ 14 เคียงข้างพี่น้องประชาชน และปิดท้ายกิจกรรมด้วยดนตรีจาก คีตาญชลี และวงสามัญชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #13ปีพีมูฟ #PMOVE