ผู้นำอังกฤษพร้อมต้อนรับนายกเศรษฐา
เล็งเซ็น MOU
การค้าการลงทุน หุ้นส่วน ศก. ต่อยอด FTA 2
ประเทศ
วันที่
15 พฤศจิกายน 2566 นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย
เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายเบน มอร์ลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ว่า นายริชี ซูแน็ก
นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
พร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทยในการเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีหน้า
โดยคาดว่าการเยือนครั้งนี้จะช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
และเป็นโอกาสที่ผู้นำจะได้หารือกันถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น
การส่งเสริมการค้าการลงทุน สิทธิมนุษยชน และการขจัดความยากจน นอกจากนี้
ยังสามารถจัดทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ด้านการลงทุนและวิธีการศุลกากรระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร
และความร่วมมือการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (ETP) ร่วมกัน
ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันต่อไป
โดยล่าสุดรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ปรับคณะรัฐมนตรี เช่น นายเดวิด คาเมรอน
อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาดำรงตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ นายมาร์ติน เคนต์
เป็นผู้แทนการค้าอังกฤษประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนายเกร็ก แฮนส์
รมต.ด้านธุรกิจและการค้า ซึ่งมีกำหนดจะเดินทางมาเยือนภูมิภาคอาเซียนภายในเดือน
พ.ย.นี้ รวมถึงประเทศไทยด้วย
ผู้แทนการค้าไทย
กล่าวว่า สหราชอาณาจักรจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า จึงอาจส่งผลต่อการหารือ FTA อยู่บ้าง
แต่กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) จะช่วยให้การเจรจาดำเนินต่อไปได้ตามกำหนดที่วางไว้
สำหรับอุตสาหกรรมที่สหราชอาณาจักรมีศักยภาพ คือ การผลิตรถยนต์
โดยมีการตั้งโรงงานและพัฒนาทักษะให้กับแรงงานควบคู่กันไปด้วย
ซึ่งขณะนี้สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานไปยังภูมิภาคต่าง
ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และยังเห็นถึงโอกาสในการลงทุนด้านการศึกษาในไทยอีกด้วย
โดยตนได้เชิญชวนให้บริษัทของสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
เช่น การลงทุนในพื้นที่ EEC และไทยยังได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์
ซึ่งสามารถเป็นประตูสู่ตลาดอื่น เช่น อินเดีย เป็นต้น
"ท่านนายกฯ เศรษฐา
ให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
จึงมีการตั้งคณะกรรมการที่มี ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน
ซึ่งได้มีการประชุมนัดแรกไปแล้ว
โดยสหราชอาณาจักรและอีกหลายประเทศให้ความสนใจเรื่องกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
ภาษีทรัพย์สิน การจัดทำ Business Visa ฯลฯ
ซึ่งคาดว่าหลายเรื่องจะมีความคืบหน้าและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักธุรกิจต่างชาติ
และการเจรจาการค้าการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทยต่อไป"
นางนลินี กล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐบาลเศรษฐา