วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

“ณรงเดช” แนะนายกฯ จี้รมว.คลัง กำกับดูแลกรมศุลกากร เหตุใดปล่อยหมูเถื่อนทะลัก เสนอหยุดวงจรหมูเถื่อน ยกเลิก Green Line สินค้าจากประเทศที่เคยมีประวัติถูกจับกุม - ออกประกาศให้คนในประเทศที่ครอบครองเนื้อหมูมากกว่า 1 ตัน ต้องชี้แจงที่มา

 


ณรงเดช” แนะนายกฯ จี้รมว.คลัง กำกับดูแลกรมศุลกากร เหตุใดปล่อยหมูเถื่อนทะลัก เสนอหยุดวงจรหมูเถื่อน ยกเลิก Green Line สินค้าจากประเทศที่เคยมีประวัติถูกจับกุม - ออกประกาศให้คนในประเทศที่ครอบครองเนื้อหมูมากกว่า 1 ตัน ต้องชี้แจงที่มา

 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch ประเด็นหมูเถื่อนที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนในขณะนี้ โดยเริ่มต้นระบุถึงข้อร้องเรียนของเกษตรกรผู้เลี้ยงว่าในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น วัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 20% ในรอบ 2 ปี แต่ราคาขายหมูกลับลดลง ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา ตนได้พูดถึงปัญหาหมูเถื่อนเป็นประเด็นแรก โดยตั้งประเด็นไว้ทั้งหมด 3 ข้อ คือ (1) สาเหตุที่ต้นทุนการเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น มาจากต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้น (2) การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ปริมาณหมูในประเทศลดลงและมีราคาสูงขึ้น สร้างช่องว่างทำให้มีการลักลอบนำเข้าหมูผิดกฎหมาย และ (3) การจับกุมหมูเถื่อนเกิดขึ้นน้อย อย่างผิดปกติ

 

สาเหตุของการนำเข้าหมูเถื่อน เนื่องจากปริมาณหมูที่หายไป จากเดิมปี 2564 มีจำนวนหมูหรือสุกรถึง 13 ล้านตัว แต่ในปี 2565 เหลือเพียง 10 ล้านตัว ปริมาณที่หายไป 2 ล้านตัวทำให้เกิดช่องว่างในการนำเข้าหมูเพื่อทดแทน กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2565 ราคาหมูเริ่มพุ่งสูงขึ้น ก่อนจะขึ้นสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทำให้มีการนำเข้าหมูเถื่อนจากหลายประเทศที่มีต้นทุนการผลิตหมูต่ำกว่าประเทศไทย อาทิ บราซิล เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน และมีการจับกุมหมูเถื่อนครั้งแรกในปี 2565 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ปริมาณหมู 4.9 ตัน แต่เรื่องก็เงียบหาย

 

ก่อนที่ปี 2566 จะมีการชี้เบาะแสนำจับเนื้อหมู 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยปัจจุบันมีการจับกุมหมูเถื่อนได้เพียง 5 ล้านตันจาก 161 ตู้ที่ท่าเรือแหลมฉบังเพียงแห่งเดียว ไม่มีการจับกุมจากกรณีอื่นอีกเลย และมีการขยายผลไปยัง 10 บริษัท เนื้อหมูอีก 2,300 ตู้ หรือ 69 ล้านกิโลกรัม แต่ผ่านมา 7 เดือนไม่มีความคืบหน้า เพิ่งมีความคืบหน้าภายในสัปดาห์นี้เพียงสัปดาห์เดียว

 

จากปริมาณหมูที่หายไป 2 ล้านตัวในปี 2565 คาดว่าในปี 2565 ปีเดียวจะมีหมูทะลักเข้ามาถึง 150 ล้านกิโลกรัม และในปี 2566 คาดว่าจะมีอย่างน้อย 75 ล้านกิโลกรัม เมื่อเทียบกับปริมาณหมูที่จับกุมได้เพียง 5 ล้านกิโลกรัม ถือว่าน้อยมาก

 

ต้องยอมรับว่ารู้สึกแปลกใจในท่าทีของนายกรัฐมนตรี ที่ต่อว่าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่รับผิดชอบหมูเถื่อน 161 ตู้ ที่ได้รับไว้เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 เพราะคนที่นายกฯ ควรต่อว่า คือ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะมีหน้าที่กำกับดูแลกรมศุลกากร แต่กลับปล่อยปละละเลยให้หมูเถื่อนทะลักเข้ามาจนส่งผลกระทบต่อเกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อยที่เลี้ยงหมู 1-500 ตัว กว่า 40,000 ราย ที่ยังไม่สามารถกลับมาประกอบอาชีพได้” ณรงเดชกล่าว

 

ณรงเดชกล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาหมูเถื่อนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือหมูเถื่อนที่อยู่ในประเทศ เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน และดีเอสไอ ต้องทำการจับกุม ส่วนกลุ่มที่ 2 คือหมู่เถื่อนที่กำลังจะเข้าประเทศที่ค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง หากเราไม่สามารถปิดประตูไม่ให้หมู่เถื่อนเข้ามาในประเทศได้ ปัญหานี้ก็จะเหมือนแมวจับหนู แก้ไม่มีวันจบ ตนจึงอยากถามไปยังนายกฯ ว่า วันนี้กรมศุลกากรได้ปรับมาตรการต่างๆ ในการจัดการปัญหาหมูเถื่อน ตรวจสอบเฝ้าระวังตู้สินค้าที่แหลมฉบังแล้วหรือไม่ เพราะหมูเถื่อนถึง 150 ล้านกิโลกรัม ต้องถูกใส่ตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นเข้ามาทางท่าเรือ ไม่สามารถเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติได้

 

ณรงเดชกล่าวถึงข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ในการหยุดวงจรหมูเถื่อน ดังนี้

(1) ปิดประตูไม่ให้หมูเถื่อนเข้าประเทศ ยกเลิก Green Line ในสินค้าที่มีที่มาจากประเทศที่มีประวัติเคยถูกจับกุมหมูเถื่อน ตรวจสอบเฝ้าระวังตู้สินค้าจากบริษัทชิปปิ้งที่เกี่ยวข้อง หากมีการสำแดงเป็นปลา ต้องให้กรมประมงร่วมตรวจสอบ

(2) หาหมูที่ตกค้างในประเทศ ให้กรมการค้าภายในออกประกาศ ให้ผู้ครอบครองเนื้อหมูหรือส่วนประกอบตั้งแต่ 1 ตัน ชี้แจงการครอบครองและที่มา และร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ในการตรวจสอบ

(3) เร่งดำเนินคดีและทำลายสินค้าที่ผิดกฎหมาย

(4) ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทุกราย

 

ณรงเดชยังตั้งประเด็นเพิ่มเติมด้วยว่า วันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 40,000 ราย ยังไม่ได้รับการดูแล รวมถึงค่าชดเชยจาก ASF ที่เกษตรกรถูกทำลายหมู ทุกวันนี้ก็ยังถูกทวงถาม นอกจากนี้ ที่ดีเอสไอรับผิดชอบในส่วนของคดีพิเศษ 161 ตู้และที่กำลังขยายผล แต่หมูเถื่อนนอกจากส่วนนี้ นายกฯได้สั่งการหน่วยงานใดรับผิดชอบ การดำเนินการทำลายสินค้าของกลาง เหตุใดจึงล่าช้าทั้งที่มีการจับกุมตั้งแต่เดือนมิถุนายน กรมศุลกากรจะมีการปรับมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ และกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาควบคุมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ส่งผลต่อต้นทุนของเกษตรกรหรือไม่

 

พร้อมกับทิ้งท้ายว่าเป้าหมายของพรรคก้าวไกล คือการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพเลี้ยงหมูได้ ภายใต้โครงสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถขายหมูในราคาที่เป็นธรรม

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #หมูเถื่อน #กระทรวงการคลัง