“พิธา” รับเชิญบรรยาย “คาร์เนกี้” โชว์วิสัยทัศน์เศรษฐกิจ-การต่างประเทศ ชู
‘ซิลิคอนคาร์ไบด์’ โอกาสประเทศไทย
แนะผนึกอาเซียนจัดสมดุลใหม่ออกจากความตึงเครียดจีน-สหรัฐ
วันที่
30 ตุลาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กำลังอยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกา
ได้เข้าร่วมรับเชิญให้เป็นผู้บรรยายสถานการณ์ประเทศไทย
โดยองค์กรกองทุนคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพโลก (Carnegie Endowment for
International Peace) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในหัวข้อ “What’s
Next for Thailand” (ก้าวต่อไปสำหรับประเทศไทย)
โดยพิธาได้ตอบคำถามแรกเริ่มของพิธีกร
ที่ขอให้พิธานิยามสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยหลังการเลือกตั้งว่าเป็นอย่างไร
ซึ่งพิธาระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง คือการสร้างฉันทามติร่วมของคน 1% ด้านบนสุด
ในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน
ยุติความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดงที่ดำเนินมาตลอด 17 ปี โดยแลกกับการผิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดการจัดแนวร่วมใหม่ระหว่างประชาชนที่อยู่ในส่วนล่างของทั้งสองข้าง
จนกลายเป็นการแบ่งขั้วใหม่ในปัจจุบัน
พิธายังกล่าวต่อไป
ว่าผู้นำมีฐานของการใช้อำนาจได้สองอย่าง คืออำนาจ (authority) ความชอบธรรม (legitimacy)
หรือมีทั้งสองอย่าง
แน่นอนว่าผู้ที่ไม่ชนะการเลือกตั้งแต่ได้โอกาสในการปกครอง
ก็คือผู้ที่มีอำนาจแต่ไม่มีความชอบธรรมจากประชาชน
ผู้ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกแล้วว่าอยากให้มีการทำตามสัญญาในนโยบายใด
การใช้งบประมาณแบบใด การจัดลำดับความสำคัญสิ่งที่จะทำก่อน-หลังอย่างไร
ซึ่งในฐานะฝ่ายค้าน ตนจะพยายามทำงานอย่างสร้างสรรค์โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
มอบทางเลือกให้กับประชาชน โดยไม่ใช่การจ้องจะล้มรัฐบาลทุกวัน เพราะตนสามารถรอได้
พิธีกรได้ถามต่อถึงกรณีการเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี
เศรษฐา ทวีสิน ที่มีการหารือถึงประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก
ในยามที่โลกกำลังเผชิญความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ แล้วพิธามองกรณีดังกล่าวว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยเช่นกันหรือไม่
พิธาระบุว่าโดยพื้นฐาน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอับดับสองในอาเซียนในด้านขนาดเศรษฐกิจ
แต่เป็นประเทศที่เติบโตต่ำที่สุดเป็นอันดับสองเช่นกัน
สิบปีที่ผ่านมาเป็นทศวรรษที่สูญหาย เศรษฐกิจที่ดีอาจดีสำหรับ 1% แต่ไม่ใช่สำหรับคนที่เหลือ
สำหรับวิกฤติเซมิคอนดักเตอร์
ตนเห็นว่ามาเลเซียมีโอกาสมาที่สุดในการได้ประโยชน์จากกรณีเซมิคอนดักเตอร์
ผู้ว่าการรัฐปีนังเคยให้ข้อมูลแก่ตนว่า 40% ของรายได้จากการลงทุนต่างชาติของมาเลเซีย
มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์
ซึ่งมาเลเซียมีความได้เปรียบกว่าประเทศไทย ทั้งในด้านทรัพยากรมนุษย์ ทักษะ และภาษา
ดังนั้ง จึงเป็นการยากสำหรับประเทศไทยที่จะแข่งขันกับแม้แต่ประเทศในอาเซียน
ในการตักตวงประโยชน์จากวิกฤติห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์
พิธากล่าวต่อไป
ว่าสิ่งที่ตนเสนอ คือการหาสิ่งที่ “นิช” กว่า
สิ่งที่เป็นโอกาสให้กับประเทศไทยได้ก็คือซิลิคอนคาร์ไบด์
ที่เป็นอะไรที่เล็กเกินไปสำหรับสหรัฐอเมริกา อินเดีย หรือญี่ปุ่น
แต่ใหญ่พอที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทอีวี โซลาร์เซลล์ ฯลฯ ได้
และนั่นคือสิ่งที่เราพอจะแข่งขันได้
เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมและงบประมาณที่ประเทศไทยมีอยู่
พิธีกรถามพิธาต่อถึงมุมมองต่อการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน
ซึ่งพิธาระบุว่าสำหรับตนแล้ว เป้าหมายที่สำคัญเฉพาะหน้าคือสันติภาพของเอเชีย
คำถามก็คือประเทศไทยจะอยู่ที่ไหนในการเดินหน้าสู่เป้าหมายนี้
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจแต่เพียงเรื่องพันธมิตรด้านความมั่นคง
การค้า และการเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัฒน์
จึงถึงเวลาที่จะจัดสรรสถานะของประเทศไทยใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
มีวาระมากมายที่ประเทศไทยสามารถร่วมมือกับโลกได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ต่อต้านคอรัปชั่น การค้า สิทธิแรงงาน ฯลฯ
และจะต้องมีการจัดสรรความสัมพันธ์ใหม่ให้ออกจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
พิธากล่าวต่อไปถึงบทบาทของอาเซียน
โดยระบุว่าสำหรับตน เมื่อประเทศไทยสามารถจัดการปัญหาภายในประเทศของเราได้แล้ว
จะต้องทำงานกับอาเซียน โดยเริ่มที่ 5 ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนเป็นขั้นต่ำ
เพื่อเป้าหมายในการนำพาอาเซียนสู่การเป็นอำนาจกลาง
ที่จะสามารถนำพาประโยชน์ร่วมกันได้
“ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก หากไม่ทำงานร่วมกับประเทศอาเซียน
เราก็จะยังคงเป็นแค่ประเทศหนึ่งในอาเซียนต่อไป ประเทศไทยจึงมีบทบาทที่จะต้องทำ
ในการจัดการปัญหาในประเทศไทย แล้วค่อยก้าวขึ้นมาสู่การเป็นอำนาจกลางร่วมกับอาเซียน
ที่จะมีบทบาทในการจัดสมดุลใหม่ให้กับโลกไม่มากก็น้อย” พิธากล่าว
พิธายังกล่าวต่อไป
ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ดูห่างไกลในความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก
ทั้งที่ในความเป็นจริง
มันล้วนเกี่ยวข้องกับต้นทุนปุ๋ยที่สูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส วิกฤติในแดนเมียนมาและการโยกย้ายถิ่นฐานทางเศรษฐกิจ
ฯลฯ ถ้าประเทศไทยไม่มีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ต่างประเทศเลย
เราจะยังคงต้องจ่ายต้นทุนจากการไม่มีส่วนร่วมและไม่ได้รับประโยชน์อะไรต่อไป
และเราทำเรื่องนี้คนเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำด้วยกันในฐานะอาเซียน
ทั้งนี้
ประเทศไทยจะต้องมีการทบทวน จัดสมดุลใหม่
จัดสรรความสัมพันธ์ใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การพึ่งพาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไปในช่วงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
ทำให้หลายประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งของประเทศไทยเริ่มเหินห่างไป
แต่ตอนนี้เป็นยุคที่เราสามารถกลับเข้าสู่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหม่ได้อีกครั้ง
ด้วยความระมัดระวังและท่าทีที่มีสมดุล และขึ้นอยู่กับหลักการมากกว่าข้างฝ่าย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธาลิ้มเจริญ