“ศิริกัญญา” หวั่น ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านทำดิจิทัลวอลเล็ต
ขัดรัฐธรรมนูญ-สร้างภาระการคลังระยะยาว ยืนยัน
“ก้าวไกล”ไม่เห็นด้วยใช้ช่องทางร้องศาลรัฐธรรมนูญ
ชี้ควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล
วันที่
10 พฤศจิกายน 2566 ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีการชี้แจงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของ เศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ ว่าสิ่งที่นายกฯ แถลงวันนี้
เป็นการยอมรับว่าไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน
ทั้งเรื่องว่าจะเอาแหล่งเงินมาจากไหนในการดำเนินนโยบาย สุดท้ายต้องกู้มาแจก
และเทคโนโลยีจากซูเปอร์แอปพลิเคชันที่ย้อนกลับมาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง
ซ้ำร้าย
เงินดิจิทัล 10,000
บาท อาจจะไม่มีใครได้เงินเลยสักคนเดียว เพราะทั้ง ๆ
ที่รู้อยู่ว่าร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้าน ขัดต่อมาตรา 140
ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.
วินัยการเงินการคลัง แต่ก็ยังเลือกทางนี้ ซึ่งนายกฯ และพรรคเพื่อไทยย่อมทราบดี
เพราะเป็นกรณีเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยปัดตก พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อจะทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง เมื่อปี 2556
หรือนี่เป็นเพียงการสร้างภาพให้ความมั่นใจกับประชาชน
ว่ากำลังจะได้เงิน ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าไปไม่รอดแน่
เป็นการสร้างกับดักเพื่อที่ในอนาคต
หากมีบรรดานักร้องหรือผู้ตรวจการแผ่นดินไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ก็จะสามารถอ้างได้ว่าเป็นความผิดของศาลรัฐธรรมนูญ ในการปัดตกร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน
ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล
ศิริกัญญากล่าวว่า
ขอยืนยัน ช่องทางในการร้องศาลรัฐธรรมนูญนั้น พรรคก้าวไกลจะไม่ไปร้องแน่นอน
และขอคัดค้านสุดตัวไม่ให้เรื่องนี้มีศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง
เนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ควรให้จบที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตีความ
และรัฐบาลรับผิดชอบในทางการเมืองด้วยตัวเอง
แต่ถ้าถึงที่สุด
เกิดอภินิหารและร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่านสภาไปได้ การผ่อนชำระคืนใน 4 ปี
บวกดอกเบี้ยในแต่ละปี จะสร้างภาระทางการคลังขึ้นไปเกือบ 20% ของรายได้รัฐบาล
เท่ากับเก็บภาษีมาได้ก็เอาไว้จ่ายคืนหนี้ ดอกเบี้ยต่องบประมาณจะทะลุ 10% ในปีงบ 2568 ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาสถาบันจัดเครดิตเรตติ้งเฝ้าจับตาเพื่อรอหั่นเรตติ้งอยู่แน่นอน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า
รัฐบาลให้เหตุผลถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการทำนโยบายนี้
เพราะต้องการกอบกู้หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ศิริกัญญากล่าวว่า
จะกล่าวเช่นนั้นก็ได้ แต่ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา
ไม่เคยมีการพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วน
ครั้งแรกรัฐบาลพูดว่าต้องดำเนินโครงการนี้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ตอนนี้เลื่อนเป็นเดือนพฤษภาคม 2567 เพราะต้องรองบประมาณรายจ่ายประจำปี
2567 ด้วยไทม์ไลน์แบบนี้
แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพราะวิกฤตเกิดวันนี้
โอกาสที่จะแก้ไขต้องเกิดขึ้นภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ไม่ใช่ 6
หรือ 8 เดือนข้างหน้า
อีกประการ
คือการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน จำเป็นต้องผ่านสภาฯ 3 วาระ
มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านในเวลาอันรวดเร็วแม้รัฐบาลจะคุมเสียงข้างมากในสภาฯ
ด้วยเหตุผล 2 ข้อนี้
เห็นแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนที่แท้จริงหรือฟังขึ้น