วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566

‘ปิยรัฐ’ เสนอสภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษามาตรการควบคุมฝูงชน หวังถอดบทเรียนการชุมนุมปี 63-65 ให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากล สุดท้ายสภาฯ มีมติไม่เห็นด้วย - ให้ส่งข้อเสนอไปยัง ครม. แทน

 


‘ปิยรัฐ’ เสนอสภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษามาตรการควบคุมฝูงชน หวังถอดบทเรียนการชุมนุมปี 63-65 ให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากล สุดท้ายสภาฯ มีมติไม่เห็นด้วย - ให้ส่งข้อเสนอไปยัง ครม. แทน


วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพ (พระโขนง-บางนา) พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายในญัตติ “ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการควบคุมฝูงชน และแสวงหาข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม อันเนื่องมาจากเหตุการณ์การชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2565” โดยให้เหตุผลว่า การชุมนุมในช่วงปี 2563-2565 คือความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนคนหนุ่มสาวจำนวนมาก จนนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิในมิติต่าง ๆ ทั้งการปฏิรูปการเมืองการปกครอง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงการเรียกร้องให้ยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช.และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 


การชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นจากคนหลากหลายกลุ่ม ถึงแม้การชุมนุมส่วนใหญ่จะสิ้นสุดลงเนื่องจากผู้จัดยุติการชุมนุมด้วยตนเอง แต่ก็มีหลายต่อหลายครั้งที่การชุมนุมสิ้นสุดลงจากการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ ปิยรัฐยกสถิติว่าจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-2565 กว่า 3,000 ครั้ง มี 74 ครั้งที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้ทั้งรถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี แก๊สน้ำตา ไปจนถึงกระสุนยางในการเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบและสั่งการให้ตำรวจดำเนินมาตรการเช่นนี้


ปิยรัฐยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการสลายการชุมนุม เช่น ตำรวจควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมในระยะประชิดบริเวณแยกดินแดง ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งและยังคงมีประชาชนสัญจรไปมาอยู่จำนวนมาก หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งคือเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้สูญเสียดวงตา จึงต้องตั้งคำถามว่ามาตรการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือไม่ เป็นไปตามหลักการสากลและหลักการสิทธิมนุษยชนหรือไม่ 


นอกจากนี้ ปิยรัฐยังแสดงภาพถ่ายกระบอกแก๊สน้ำตาที่ตนเองถ่ายเก็บไว้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าแก๊สน้ำตาจำนวนมากไม่ได้ระบุข้อมูลสารเคมีที่บรรจุ หรือเลขลำดับ (serial number) จึงไม่สามารถสืบย้อนกลับไปได้เลยว่าเป็นอุปกรณ์ที่ถูกเบิกไปเมื่อใด โดยใคร และเบิกมาจำนวนเท่าใด 


ปิยรัฐกล่าวต่อไปว่า จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (iLaw Freedom) พบว่าในช่วงการชุมนุมปี 2563-2565 มีผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่างการสลายการชุมนุมกว่า 528 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 146 นาย และผู้ชุมนุมกว่า 382 คน โดยมีผู้ชุมนุมที่สูญเสียดวงตา 2 คน อีกทั้งยังมีผู้ต้องคดีทางการเมืองและความคิดอีกจำนวนมาก เป็นภาระต่อกระบวนการยุติธรรมที่ต้องไปพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงยาวนานหลายปี โดยปัจจุบันมีผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดีกว่า 1,925 คนใน 1,241 คดี และมีผู้ต้องคดีทางการเมืองและความคิดอีก 26 คนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ


ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษามาตรการควบคุมฝูงชนและแสวงหาข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุมที่ผ่านมา เพื่อถอดบทเรียนและพัฒนาร่วมกันไปสู่อนาคต โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ


1) การสืบเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันผ่านสภาผู้แทนราษฎร โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม

2) การศึกษาหาแนวทางมาตรฐานในการปฏิบัติการอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล 

3) การอำนวยความสะดวกด้านข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ ผู้สื่อข่าว และประชาชนโดยรวม


ปิยรัฐกล่าวสรุปว่า การเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญครั้งนี้ ตนไม่ได้หวังว่าจะเป็นผลงานของพรรคก้าวไกล แต่ตั้งใจให้เกิดการศึกษาและถอดบทเรียนร่วมกันในอนาคต เพราะตนเชื่อมั่นว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การที่รัฐจะเข้ามาจำกัดการชุมนุมจึงต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน ได้มาตรฐาน และยึดหลักการสากลร่วมกัน


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 223 : 151 ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการควบคุมฝูงชนและแสวงหาข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุม โดยมีมติให้ส่งข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแทน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา