วันที่ 14 ตุลาคม 2566 ในที่ชุมนุมกลุ่มสมัชชาคนจน บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ มีการจัดเสวนาในโอกาสครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 “50 ปี 14 ตุลาฯ : ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” ซึ่งในงานนี้มี ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมวงเสวนา ให้ความเห็นต่อกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปัจจุบัน
ชัยธวัช ระบุว่าตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาร่วมวงพูดคุยในวันนี้ เพราะชีวิตของตนก้าวมาอยู่ตรงนี้ได้เพราะสมัชชาคนจน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตที่ทำให้ตนตอนเป็นนักศึกษาได้ตั้งคำถามกับสังคมและการเมืองหลายคำถาม ทำให้เริ่มสนใจเข้ามาทำกิจกรรมทางสังคมการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น
ตนจำได้ว่าในปี 2539 ตนก็มาอยู่ที่นี่ ที่การชุมนุมของสมัชชาคนจนที่ชุมนุมรอบทำเนียบแบบนี้เหมือนกัน มีการพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ตนได้เรียนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญก็เริ่มต้นมาจากที่ชุมนุมสมัชชาคนจนแห่งนี้ แล้วจากจุดนั้นภาคประชาสังคมก็ได้มีการผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540 ร่วมกัน ที่รู้จักกันว่าเป็น “รัฐธรรมนูญธงเขียว”
แต่ในที่สุด แม้เราจะได้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับกินได้” อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะดีขึ้น พรรคการเมืองดูแข่งขันในเชิงนโยบายมากขึ้น ส่งผลดีกับประชาชน รัฐบาลดูมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่สุดท้ายก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก
แต่ถึงแม้ไม่มีรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพหลายด้านที่ประชาชนพยายามผลักดันให้ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับกินได้ ก็ไม่ปรากฏเป็นจริง หลายนโยบายที่เราอยากผลักดันกันให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติก็ยังคงเป็นคำถามอยู่ว่าใช่หรือไม่
ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าสำหรับพรรคก้าวไกล จุดยืนของเราชัดเจนว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด ข้อเสนอนี้ยืนอยู่บนหลักการสำคัญสูงสุด ว่าถ้าเรายอมรับว่าประเทศนี้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงๆ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นของประชาชนเช่นกัน
จุดยืนต่อมา คือหากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยและสะท้อนอำนาจสูงสุดของประชาชนจริง ก็ต้องทำได้ใหม่ทั้งฉบับ ในเมื่อประชาชนมีอำนาจสูงสุดในฐานะที่เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ แล้วทำไมถึงจะทำไม่ได้
ทั้งนี้ กระบวนการเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่ทุกคนต้องร่วมกันผลักดันให้มากที่สุด รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนจริงๆ เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ยังไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อน แม้เราจะเคยมีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตย มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญที่ประชาชนให้กำเนิดจริงๆ ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่แม้จะมีเนื้อหาที่ดี แต่ สสร. ก็มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม และที่สำคัญผู้มีอำนาจและอิทธิพลในการร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็คือผู้เชี่ยวชาญหรือนักร่างรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ไม่กี่คนในประเทศไทย เป็นผู้กำหนดเนื้อหา
ดังนั้น ถ้าวันนี้เราเชื่อมั่นว่าประชาชนเรียนรู้มาหลายปีแล้ว ว่ารัฐธรรมนูญและการเมืองมีปัญหาอย่างไร ระบบการเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร ก็ไม่ควรต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาทำแทนประชาชนอีกแล้ว ถ้า สสร. อยากมีผู้เชี่ยวชาญก็ให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งตั้งคณะร่างขึ้นมา ไม่ใช่ให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่างแทนประชาชน
“ผมไม่มั่นใจว่าที่ประชาชนอุตส่าห์ไปต่อสู้กันว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีประชามติ แล้วปรากฏว่าไปเขียนกลไกในการร่างรัฐธรรมนูญให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมอีก หรืออาจจะมีทางตรงบางส่วน แต่หัวใจจริงๆ กลับอยู่ที่ สสร. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นนักร่างรัฐธรรมนูญมืออาชีพในประเทศไทยมีเยอะและหน้าเดิมๆ ด้วย แล้วเดี๋ยวจะไปหมกเม็ดบิดเบือนเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชนอีก” ชัยธวัชกล่าว
ชัยธวัชยังกล่าวต่อไป ว่าแม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคม และจะใช้กลไกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาในการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง สิ่งที่พรรคก้าวไกลได้ทำไปแล้วคือการเสนอญัตติ ให้สภามีมติส่งให้ ครม. ทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ในสภาสมัยที่แล้ว ก็มีญัตติแบบเดียวกันนี้ที่ผ่านจาก สส. ไปแล้ว แต่ไปที่ สว. กลับไม่ผ่าน แต่รอบนี้ตนเชื่อว่าถ้า สส. เห็นชอบโดยพร้อมเพรียง มีเสียงประชาชนสนับสนุน สว. ก็น่าจะสนับสนุนตามเช่นกัน
สุดท้ายนี้ การที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ขึ้นมาแล้วพรรคก้าวไกลไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าไปร่วม ก็เพราะมีคำถามว่าที่รัฐบาลจะศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยืนอยู่บนหลักการใหญ่ที่พรรคก้าวไกลผลักดัน ว่าต้องเป็นการแก้ทั้งฉบับ และต้องทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ ถ้าไม่ยืนอยู่บนจุดยืนนี้พรรคก้าวไกลก็คงเข้าร่วมไม่ได้ แต่ถ้ายืนยันในสองหลักการนี้ ก็พร้อมเข้าร่วมเพื่อหารือต่อไปได้