วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ บุกสีลม รณรงค์ชาวออฟฟิศเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม นับถอยหลัง 4 วันสุดท้ายก่อนหมดเขตลงทะเบียนใช้สิทธิ หวังยอดลงทะเบียนทะลุเป้าหมาย 1 ล้านคน พร้อมติดตาม 10 ข้อเสนอที่ได้หารือกับสำนักงานประกันสังคม

 


กมธ.พัฒนาการเมืองฯ บุกสีลม รณรงค์ชาวออฟฟิศเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม นับถอยหลัง 4 วันสุดท้ายก่อนหมดเขตลงทะเบียนใช้สิทธิ หวังยอดลงทะเบียนทะลุเป้าหมาย 1 ล้านคน พร้อมติดตาม 10 ข้อเสนอที่ได้หารือกับสำนักงานประกันสังคม

 

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธาน กมธ. และ วรายุทธ ทองสุข โฆษก กมธ. พร้อมด้วย สส. ใน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ลงพื้นที่ซอยละลายทรัพย์ ย่านสีลม เชิญชวนชาวออฟฟิศลงทะเบียนเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนและทำกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง

 

โดยรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับคณะกรรมการประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ที่คนทำงานต้องได้รับ พร้อมเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมไปใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั้งสิ้น 24 ล้านคน และจำนวนผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 12 ล้านคน โดยสำนักประกันสังคมตั้งเป้าหมายการลงทะเบียนเลือกตั้งไว้ที่ 1 ล้านคน ขณะนี้มีจำนวนผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งเพียง 120,000 คน และเหลือเวลาเพียง 4 วันเท่านั้นในการลงทะเบียน

 

พริษฐ์กล่าวว่า การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พี่น้องประชาชนผู้จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมจะได้เข้าคูหาเลือกตัวแทนที่จะมาจัดการเงินกองทุนนี้โดยตรงแบบ 1 สิทธิ 1 เสียง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนทำงานและแปรเงินที่แต่ละคนส่งเข้ากองทุนให้ออกมาเป็นสวัสดิการที่ตอบโจทย์ที่สุด

 

ด้าน วรายุทธ กล่าวว่า ผลตอบรับจากการลงพื้นที่ พบว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่ทราบข่าวการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม แต่เมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่คนทำงานต้องได้รับ ก็ทำให้เกิดความสนใจมากขึ้น และต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคมนี้

 

ดังนั้น กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม มาลงทะเบียนใช้สิทธิในโค้งสุดท้าย ก่อนหมดเขตวันอังคารที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ประกันสังคม https://sbe.sso.go.th

 

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (26 ตุลาคม) ในการประชุม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ได้หารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม โดย กมธ. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา แบ่งเป็น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับการเลือกตั้งรอบนี้ และการแก้ปัญหาสำหรับการเลือกตั้งรอบถัดไป โดยหลังจากนี้ กมธ. จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการติดตามเร่งรัดการแก้ปัญหาต่อไป

 

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับการเลือกตั้งรอบนี้ ได้แก่ 1. เปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ (https://sbe.sso.go.th/sbe/verify.do) ได้ 24 ชั่วโมง (จากปัจจุบันที่ลงทะเบียนได้แค่ในช่วงเวลา 06.00 น. - 23.00 น.)

 

2. ขยายกรอบเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้ง ที่ปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. ไปเป็นสิ้นสุดในวันที่ใกล้กับวันเลือกตั้งที่สุดโดยยังไม่ขัดข้อกฎหมายหรือระเบียบใดๆ (เช่น กลาง-ปลายเดือน พ.ย.) 3. ปรับปรุงแนวทางการประชาสัมพันธ์ทั้งในเชิงเนื้อหาสาระที่ถูกสื่อสาร (เช่น เพิ่มการสื่อสารเรื่องประโยชน์ที่จะได้จากการใช้สิทธิ) และในเชิงช่องทางการสื่อสาร (เช่น เพิ่มความร่วมมือกับสถานประกอบการของผู้ประกันตน)

 

4. สร้างพื้นที่ให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์และนโยบาย เช่น เวทีดีเบต แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้สมัคร เพื่อกระตุ้นการแข่งขันและเพิ่มความสนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในช่วงเวลาที่ยังเปิดให้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง 5. หาช่องทางในการส่งข้อความโดยตรงถึงคนที่ลงทะเบียนแล้ว เพื่อเตือนหรือเชิญชวนให้เขาตัดสินใจออกมาใช้สิทธิจริงในวันเลือกตั้ง 6. เพิ่มความครอบคลุมของหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ โดยเฉพาะการเลือกสถานที่หน่วยเลือกตั้งที่ใกล้กับผู้ประกันตน เช่น พื้นที่อุตสาหกรรมหรือใกล้สถานประกอบการที่มีผู้ประกันตนจำนวนมาก

 

7. เพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้ง สามารถเปลี่ยนหน่วยเลือกตั้งที่ตนเองจะไปใช้สิทธิได้จากหน่วยที่ลงทะเบียนไว้ในวันลงทะเบียนเลือกตั้ง 8. วางเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นที่รับรู้ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เรื่องการตีความบัตรดี-บัตรเสีย เนื่องจากการเลือกตั้งจะใช้วิธีการเขียนตัวเลขซึ่งอาจสร้างความสับสนได้ เช่น การแยกระหว่าง 1 กับ 7

 

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาสำหรับการเลือกตั้งรอบถัดไป หรือในอีก 2 ปี ได้แก่ 1. ตัดขั้นตอนในการลงทะเบียนเลือกตั้ง เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมมีฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งครบถ้วน และสามารถใช้ข้อมูลจากการเลือกตั้งรอบนี้เพื่อคาดการณ์จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งถัดไปได้ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการวางแผนทรัพยากรและแผนการดำเนินงาน

 

และ 2. ทบทวนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น ขยายสิทธิให้แรงงานข้ามชาติที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน และคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ทบทวนเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบติดต่อกัน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธพัฒนาการเมือง