วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566

แถลงการณ์กมธ.แก้ปัญหาชายแดนใต้ วาระครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ ชี้ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

 


แถลงการณ์กมธ.แก้ปัญหาชายแดนใต้ วาระครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ ชี้ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ


วันนี้ (25 ต.ค. 66) คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 19 ปี ของการสลายการชุมนุมในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระบุว่า


เนื่องในวาระครบรอบ 19 ปี ของการสลายการชุมนุมในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์บาดแผลที่สำคัญของคนในพื้นที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอยืนยันถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ และความจำเป็นในการสร้างสันติภาพอันเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการมีกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง สร้างสังคม ที่ประชาชนอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม โดยทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้าภายใต้กฎหมายอย่างแท้จริง เพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่


กระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งประการแรกคือการลดเลือนประวัติศาสตร์บาดแผล ลดความรู้สึกว่าประชาชนถูกกระทำโดยอยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อลดทอนความรู้สึกหวาดระแวงแคลงใจต่อกันระหว่างรัฐกับประชาชน ในกรณีของตากใบ คณะกรรมาธิการฯ เห็นควรให้รัฐบาลแสดงความตระหนักว่า เหตุการณ์นี้เป็นอาชญากรรมที่รัฐได้กระทำต่อประชาชนในพื้นที่ และให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีอาญากับผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนั้น ก่อนที่อายุความ 20 ปี จะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567


รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ ความเข้าใจในวงกว้างต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ ซึ่งมีการกระทำการที่ละเมิดต่อหลักการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามมาตรฐานสากล จนนำไปสู่การจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 1,370 คน สูญหายอีก 7 คน และการขนย้ายผู้ชุมนุม ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตะหว่างการเดินทางถึง 85 ราย 


โดยที่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ แม้จะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งจากรัฐบาลแล้วว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุ จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก


ประการต่อมา การสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่รัฐเกินสมควร และลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง โดยรัฐบาลควรให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่บังคับใช้อยู่ รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร


คณะกรรมาธิการฯ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสันติภาพสามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ชายแดนใต้ หากรัฐบาล และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจและมีเจตจำนงแน่วแน่ในการจัดการปัญหาที่ต้นตอ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค เป็นธรรม เคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะเป็นการถอนฟืนออกจากไฟ ลดความรู้สึกเชิงลบที่ประชาชนในพื้นที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบรรยากาศของการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน อันจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนและความเจริญก้าวหน้ารวมกันของประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตากใบ #17ปีตากใบ