‘ชัยวัฒน์’ กังวล แบ่งจ่ายกี่งวดก็แก้ปัญหาข้าราชการจมกองหนี้ไม่ได้
หากยังโดนหักเงินหน้าซองจนไม่เหลือเงินใช้ แนะรัฐบาลมองไปที่ต้นตอปัญหา
หยุดแก้ฉาบฉวย
วันที่
14 กันยายน 2566 ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อกังวลต่อกรณีการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ
หลังมติคณะรัฐมนตรีนัดแรก วันที่ 13 กันยายน 2566 มีมติเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบ
เป็นเดือนละ 2 รอบ
ชัยวัฒน์ชี้ว่า
สาเหตุของปัญหาที่แท้จริงคือข้าราชการจำนวนมหาศาลได้จมอยู่ในกองหนี้เรียบร้อยแล้ว
และการจ่ายเงิน 2
รอบ จะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด ถ้าจำนวนเงินเดือน
หรือจำนวนเงินที่ถูกหักใช้หนี้ยังเท่าเดิม
หากลองดูสถิติเฉพาะที่เป็นหนี้สหกรณ์
ข้าราชการทั้งปัจจุบันและที่เกษียณแล้วกลุ่มต่าง ๆ ติดหนี้สหกรณ์อยู่เป็นจำนวนมาก
ถ้าจะยกตัวอย่างบางกลุ่มให้เห็นภาพ ก็จะมีข้าราชการครู ประมาณ 9 แสนราย
ยอดหนี้รวม 1.4 ล้านล้านบาท ภาระหนี้เฉลี่ยคนละกว่า 1.5
ล้านบาท, ข้าราชการสาธารณสุขประมาณ 3.4
แสนราย ข้าราชการตำรวจประมาณ 2.4 แสนราย
ข้าราชการทหารประมาณ 2.4 แสนราย รวมทั้งสิ้นประมาณ 3.1
ล้านราย เป็นข้าราชการที่จมอยู่ในกองหนี้อยู่แล้ว
"จากการสำรวจของคณะกรรมการแก้ไขหนี้ครู
พบว่ามีครูประมาณครึ่งหนึ่งที่ต้องโดนหักเงินเดือนใช้หนี้
จนเหลือเงินตกถึงมือน้อยกว่า 30% ของเงินเดือน ถ้าเงินเดือน 15,000
บาทก็คือเหลือไม่ถึง 4,500 บาท ที่จะต้องใช้ไป
30 วัน ตกวันละ 150 บาท
ที่ต้องมาจ่ายค่าข้าว ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ ค่าเช่าบ้าน แทบไม่พอใช้
ต่อให้จ่ายเงินเดือน 2 ครั้ง ก็จะเหลือเงินตกถึงมือคราวละ 2,250
บาท ที่จะต้องใช้ไปครึ่งเดือน ซึ่งก็คงไม่พอใช้
ต้องไปก่อหนี้เพิ่มอยู่ดี" ชัยวัฒน์ระบุ
ชัยวัฒน์เสริมว่า
ด้วยความหวังดี ครม.
ชุดนี้ไม่ควรกล่าวโทษถึงวินัยการเงินของข้าราชการหรือประชาชนที่ไม่สามารถบริหารจัดการเงินได้
จนเกิดภาระหนี้สิน หากพิจารณาถึงปัญหาหนี้ข้าราชการให้ถ่องแท้
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เจ้านายและเจ้าหนี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน
กล่าวคือ ผู้อำนวยการเขตการศึกษา จำนวนมากนั่งเป็นกรรมการในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วย
และดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์เหล่านี้มักจะสูงเป็นพิเศษ
ซึ่งทำให้แทนที่ข้าราชการครูจะได้รับสวัสดิการด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
กลับต้องกู้แพง และโดนหักเงินใช้หนี้หน้าซองที่สูงแบบอันลิมิต
จนเหลือเงินตกถึงมือเพียงหลักพัน หลักร้อย ยังไม่นับรวมถึงหนี้นอกระบบ
หรือหนี้บัตรเครดิต
"ผมหวังว่า เรื่องนี้จะเป็นเพียงแนวคิดตามที่รองโฆษกได้ออกมาแถลงข่าว
ว่าจะให้กรมบัญชีกลางได้วิเคราะห์ว่าจะสามารถสร้างระบบการจ่ายเงินเดือนอย่างไรให้ตอบสนอง
เพราะนอกจากผมที่มีความเป็นกังวล
คงมีพี่น้องข้าราชการอีกเป็นล้านคนที่ต้องการคำตอบอย่างชัดเจนและเหตุผลที่ตรงไปตรงมา
โดยเร็ว"
ชัยวัฒน์กล่าวว่า
นี่เป็นอีกครั้งที่ต้องตั้งคำถามว่าการคิดนโยบายของผู้กุมอำนาจรัฐนี้
มีการวิเคราะห์ปัญหาที่ลึกซึ้งและรอบคอบแล้วหรือไม่
มีการประเมินว่าจะแก้ปัญหาได้จริง
หรือเป็นเพียงการออกมาชกลมเพื่อหวังลดแรงเสียดทาน การทำนโยบายใดๆ ของรัฐก็ตาม
ควรคิดมาอย่างละเอียด รอบคอบ
และได้ประเมินร่วมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
ให้สมกับที่โฆษณาว่า คิดใหญ่ ทำเป็น ไม่ใช่ออกมาโยนหินถามทาง
เศรษฐกิจไทยบอบช้ำมามากพอแล้ว