‘หมออ๋อง’ แจงครบ
บินดูงานสิงคโปร์เรื่องประสิทธิภาพงานสภา-การจัดการปัญหาหมอกควัน
ยันพร้อมแสดงใบเสร็จรายละเอียดใช้จ่าย กลับมาพร้อมรายงานการดูงานแน่นปึ๊ก
เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี
วันที่
18 กันยายน 2566 ปดิพัทธ์ สันติภาดา
รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ในรายการ
‘กรรมกรข่าวคุยนอกจอ’
ต่อกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้งบประมาณเดินทางไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์
1,379,250 บาท ของปดิพัทธ์และคณะผู้ร่วมเดินทางรวม 12
คน ระหว่างวันที่ 21-24 กันยายน 2566 มีความเหมาะสมหรือไม่ว่า เรื่องนี้ยินดีให้ตรวจสอบอยู่แล้วตามนโยบายสภาโปร่งใส
มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน
ปดิพัทธ์
กล่าวว่า การไปดูงานที่สิงคโปร์
เป็นการต่อยอดจากคณะกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาโปร่งใสและสมรรถนะสูงที่ตนตั้งขึ้นมา
เริ่มต้นพิจารณาว่าในทวีปเอเชีย สภาที่ไหนบ้างที่มีประสิทธิภาพสูง พบว่ามี 2 ที่คือไต้หวันและสิงคโปร์
แต่เนื่องจากนโยบายจีนเดียวของกระทรวงการต่างประเทศ
ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไต้หวันได้ สุดท้ายจึงเป็นสิงคโปร์
ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบสภาแตกต่างจากไทย มีสมาชิกน้อยกว่า แต่เทคโนโลยีสูงกว่า
เราสามารถไปเรียนรู้ได้ว่าเขาทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
โจทย์ของการไปดูงาน
คือเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่เรายังขาดอยู่ โดย 2 โจทย์ที่จะไปดูที่สิงคโปร์ คือ Smart
Parliament และ การจัดการปัญหาหมอกควัน เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ประสบปัญหานี้หนักหนากว่าประเทศไทยมาก แต่ใช้เวลา 10
ปีสามารถลดค่าฝุ่นลงได้ด้วยมาตรการหลายอย่าง ในเดือนพฤศจิกายนนี้
ที่ตนจะไปพบสภาลมหายใจเชียงใหม่ จึงคิดว่าควรรีบไปดูต้นแบบต่างๆ
และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้ จะได้ไปดูงานบริษัท GovTech
(Government Technology) ซึ่งตามปกติไม่สามารถเข้าไปได้
ต้องทำเรื่องให้เป็นทางการ
นอกจากนี้ตนจะไปพบคนไทยอีก
2 กลุ่ม คือ แคมป์แรงงานไทยในสิงคโปร์ และกลุ่มตัวแทนนักศึกษาไทยที่ National
University of Singapore (NUS) ดูเรื่องอัตราการจ้างงาน
เมื่อถูกถามว่า
รู้สึกอย่างไรที่เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกมา โดยมุ่งชี้ไปที่ประเด็นการใช้งบประมาณ
ปดิพัทธ์กล่าวว่า ตนเคยถูกถามก่อนหน้านี้ว่าจะยกเลิกการดูงานทั้งหมดหรือไม่
ซึ่งตนบอกว่าไม่ยกเลิก แต่จะดูเท่าที่จำเป็นและให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม
ต้องไปดูว่ากระบวนการของราชการมีขั้นตอนของกระทรวงการคลัง
ที่ระบุว่าบุคคลระดับต่างๆ
ต้องได้รับการดูแลให้เดินทางอย่างปลอดภัยและสมฐานะของประเทศอย่างไร
“ตอนที่ผมยังไม่ทราบระเบียบเหล่านี้ ผมก็เรียกเจ้าหน้าที่มา บอกว่าเดินทาง 2
ชั่วโมงครึ่ง บินด้วยสายการบินต้นทุนต่ำได้หรือไม่
เจ้าหน้าที่ไปทำการบ้านมาปรากฏว่าไม่ได้
เพราะมีระเบียบกระทรวงการคลังล็อกไว้ว่าบุคคลเช่น รัฐมนตรี ผบ.เหล่าทัพ
ประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภา จะได้รับการดูแลให้เดินทางโดยสายการบินประจำชาติ
เป็นการเบิกแบบสูงสุด (maximum) ตั้งเรื่องไว้ก่อน
เพราะเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าถ้าใช้จริงจะเป็นเท่าไรแน่
ผมจึงให้นโยบายไปเลยว่าใช้ให้ถูกที่สุด เพราะสัมภาระไม่เยอะ”
“ส่วนการนอนโรงแรมก็อย่าให้ถึงงบสูงสุดคือ 12,000 บาท
เอาแค่ 7,000-8,000 ก็พอ เจ้าหน้าที่ไปทำการบ้านมา
ได้โรงแรมที่เหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม เอกสารการเบิกเป็นการเบิกแบบเต็มที่
ตามสิทธิ์ที่บรรจุในระเบียบกระทรวงการคลัง ดังนั้น ทั้งหมดมีเงื่อนไขอยู่
ต้องมีการพูดคุยให้ถูกต้องตามระเบียบ ส่วนเรื่องสายการบิน
เชื่อว่าเจ้าหน้าที่การคลังของสภาได้ทำการบ้านดีที่สุดแล้ว
สรุปเป็นชั้นธุรกิจของการบินไทย”
เมื่อถูกถามว่า
ประชาชนอาจตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องเป็นชั้นธุรกิจ ปดิพัทธ์กล่าวว่า
เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ขอยกตัวอย่าง ตนเคยเสนอให้การเดินทางของ สส.
สามารถจองตั๋วเองแล้วมาเบิกได้ แต่สภามีเงื่อนไขกับเอเจนซี่ในการจองตั๋ว
ซึ่งเรื่องนี้มี 2
มุม มุมหนึ่งถ้า สส. ต้องจัดการชีวิตตัวเองหมด ก็อาจเดินทางไม่ทัน
แต่พอใช้เอเจนซี่ เขาก็ให้เราได้ที่นั่งที่ดีสุด เป็น Priority Seat เช่นเดียวกับข้าราชการอื่นๆ ตนจะบอกว่าไม่รับอาหารบนเครื่องบินก็ไม่ได้
เพราะเบิกมาแล้ว ต้องใช้วิธีเซ็นว่าไม่รับอาหารแล้วค่อยคืนไป อย่างไรก็ดี
ในตั๋วเครื่องบิน เป็นแพ็กเกจรวมทั้งหมด
ปดิพัทธ์กล่าวต่อว่า
ส่วนเหตุใดในคณะผู้เดินทาง จึงเป็น สส. ก้าวไกลเยอะ
เนื่องจากคณะนี้ไม่ได้เป็นกรรมาธิการที่มีสัดส่วนสมาชิกจากแต่ละพรรคชัดเจน
ตอนที่ตนตั้งกรรมการ 4
ชุดเพื่อขับเคลื่อนงานสภาโปร่งใส ตนประกาศในสภาฯ
เลยว่าพรรคไหนสนใจมาร่วมกัน ให้ส่งรายชื่อมา ปรากฏว่าก็ไม่มีส่งมา
ตอนแรกคณะเดินทางมี
12 คน แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่ 4 คน ตนจึงขอให้มี สส.
รัฐบาล 4 คนไปด้วย แต่เป็นการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการ
เพราะยังไม่มีวิป จึงเดินไปบอกพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ว่าขอพรรคละ 2 คน ให้เป็นคนที่สนใจกิจการสภา สนใจพัฒนาสภาให้ smart ทางพรรคเพื่อไทยจึงส่งรายชื่อมา 2 คน คือ ศรัณย์
ทิมสุวรรณ และ พชร จันทรรวงทอง ส่วนภูมิใจไทยส่งชื่อไม่ทัน
แต่ต่อมาศรัณย์ติดภารกิจเรื่องวิปรัฐบาล
จึงตัดสินใจอยู่ว่าจะเดินทางไปด้วยกันแต่กลับก่อน หรือยกเลิกทริปไปเลย
ส่วน
สส. พรรคก้าวไกลที่ร่วมเดินทางไปนั้น ล้วนมีภารกิจทั้งสิ้น เช่น ณัฐพงษ์
เรืองปัญญาวุฒิ เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับ Smart Parliament โดยตรง
เก่งที่สุดในเรื่องเทคโนโลยี ส่วนเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร
เป็นประธานของอนุกรรมการเกี่ยวกับ Young Parliament ดังนั้น
ยืนยันว่าทั้งหมดมีที่มาที่ไปและเหตุผล
เมื่อถามว่า
อาจมีการมองว่า เรื่องฝุ่นหรือเรื่องอัตราการจ้างงาน เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร
ไม่เกี่ยวกับสภาหรือไม่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ในการบริหารประเทศ
เรื่องฝุ่นแค่เรื่องเดียวมีกฎหมายที่ต้องออกหลายฉบับมาก
และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องเจรจากับอินโดนีเซีย ดังนั้น
การที่สภากับรัฐบาลมีนโยบายใกล้เคียงกัน การออกกฎหมายและการดำเนินนโยบาย
ก็จะใกล้เคียงกันไปด้วย ตนจึงคิดว่าเราสามารถทำงานคู่ขนาน ที่ทำให้ปัญหาระดับโลก
สามารถแก้ไขอย่างมีเอกภาพได้
“ผมคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลไทยล้มเหลวมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา
และปัญหาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เรารอไม่ได้ โดยผมจะส่งรายงานทั้งหมดให้
รมว.ต่างประเทศ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ และ รมว.เกษตรฯ
รับรองว่ารายงานการดูงานแน่นปึ๊ก และพร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะถ้ามีหน่วยงานใดร้องขอ”
เมื่อถามต่อว่า
รู้สึกอย่างไรที่เหมือนโดนจับผิด ปดิพัทธ์กล่าวว่า
เป็นความตั้งใจของเราอยู่แล้วที่จะทำสภาโปร่งใส ถ้าเราตั้งใจจะโปร่งใส
ก็ต้องพร้อมโดนตรวจสอบ ไม่ใช่ส่งเอกสารแบบถมดำ
นอกจากนี้คิดว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นี้ควรไปไกลกว่าตน ต้องไปดูว่าระเบียบกระทรวงการคลังที่ใช้อยู่ปัจจุบันโบราณหรือไม่
เพราะอยู่มาหลายสิบปี และมีการปรับปรุงเมื่อปี 2560 ดังนั้น
ถ้ารัฐบาลนี้มีนโยบายรัดเข็มขัด การดูงานไม่ใช่แค่ฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่รวมถึงองค์กรอิสระ รวมถึงข้าราชการ ก็ต้องรัดเข็มขัดด้วย
และปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลังไปด้วยกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น
ตนจะมีความยินดีอย่างยิ่ง
เมื่อถามว่ายืนยันพร้อมให้ตรวจสอบใช่หรือไม่
ปดิพัทธ์กล่าวว่า ตรวจสอบได้เลย พร้อมแสดงใบเสร็จ เรื่องค่าใช้จ่าย
เมื่อตนเดินทางกลับมาจะมีการสรุปอย่างชัดเจนว่าใช้กับเรื่องอะไร เท่าไรบ้าง
หากใครต้องการตรวจสอบ เรายินดีเปิดเผย