วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

“วันนอร์” เตรียมนัดโหวตนายกฯ 22 ส.ค. นี้

 


“วันนอร์” เตรียมนัดโหวตนายกฯ 22 ส.ค. นี้


วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เตรียมประชุมฝ่ายกฎหมายและวิป 3 ฝ่ายก่อนนัดประชุมโหวตนายกฯ 22 ส.ค.นี้ เหตุเมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเท่ากับสิ่งที่รัฐสภามีมติถูกต้อง


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน  ที่ขอวินิจฉัยมติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  ก็ถือว่าสิ่งที่รัฐสภาประชุมไปทำได้โดยถูกต้อง  ไม่ขัดต่อสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไป ดังนั้นในวันพรุ่งนี้  (17 ส.ค.) เวลา 14.00 น ก็จะนัดหมายฝ่ายกฎหมายและฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาในรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และรายละเอียดที่รัฐสภาพึงกระทำต่อไป รวมถึงระเบียบวาระที่ค้างอยู่และกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี และเมื่อฝ่ายกฎหมายประชุมเรียบร้อยแล้วประธานรัฐสภาก็จะได้ประชุมกับวิป 3 ฝ่าย คือ วิปของวุฒิสมาชิก และวิปของสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ เพื่อหาข้อสรุปว่าการประชุม ซึ่งตนได้กำหนดไว้แล้ว และคงจะออกระเบียบวาระได้หลังจากที่ฝ่ายกฎหมายได้ให้ความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเชิญสมาชิกรัฐสภาประชุมในวันที่ 22 สิงหาคมนี้เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี   ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับความพร้อมของวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   และเราสามารถออกหนังสือเชิญประชุมได้ตามกำหนดเวลา คือไม่น้อยกว่า 3 วัน


สำหรับญัตติของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ทบทวนมติของรัฐสภา ที่ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาซ้ำ เป็นเรื่องที่จะต้องหารือกันต่อไป โดยขณะนี้อยู่ในระเบียบวาระ  ซึ่งฝ่ายกฎหมายจะเสนอและหารือในที่ประชุมฝ่ายกฎหมายและวิป 3 ฝ่ายเช่นกัน ยืนยันจะพยายามทำให้ถูกต้องตามระเบียบวาระและข้อบังคับการประชุมให้มากที่สุด ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะเสร็จสิ้นในวันที่ 22 ส.ค.หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของรัฐสภา


สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่าตามข้อบังคับการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดไว้ ว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ จะต้องแสดงวิสัยทัศน์  และในการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 ก็มีการเสนอชื่อบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ อย่างไรก็ตามหากมีการเสนอให้เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ หากไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในสภาก็จะต้องเตรียมทั้ง 2 แนวทางไว้ และในวันประชุมจะได้ชี้แจงว่าในแง่ข้อบังคับกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และตัวผู้ที่เสนอชื่ออยู่ในที่ประชุมนั้นหรือไม่ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับการประชุม ไม่ควรจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ เพราะไม่อยากให้ยืดเยื้อ และอยากให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #โหวตนายก