พิธาพบผู้บริหาร
GISDA เล็งพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมแก้ปัญหาภัยพิบัติ พัฒนาเกษตร-สิ่งแวดล้อม
ชี้มีศักยภาพสร้างเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต
วันที่
11 กรกฎาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ปกรณ์วุฒิ
อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล พบผู้บริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
(GISTDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้ข้อมูลทางดาวเทียมในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน
สาระสำคัญของการหารือร่วมกันในวันนี้
มุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ
โดยพิธายกตัวอย่างจังหวัดนครราชสีมา ที่กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้ง
ทำให้เห็นช่องว่างด้านข้อมูลที่นำมาใช้จัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่
หากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเมื่อไร
ตนต้องการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA เพื่อแก้ไขปัญหาด้านภัยพิบัติและการเฝ้าระวังต่างๆ
ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน
.
"หลังจากเป็น ส.ส. 4 ปี เห็นงบประมาณของ GISTDA
ที่ลดลงเรื่อยๆ ในทางกลับกัน กลับมองเห็นประโยชน์ในการใช้ข้อมูลของ GISTDA
ในหลายครั้ง เช่น ตอนเกิดน้ำท่วมโคราช น้ำท่วมนครศรีธรรมราช ภัยแล้ง
การเยียวยาพี่น้องเกษตรกร สามารถทำได้เร็วขึ้นด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ดังนั้น
หากได้เข้าไปบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งใจจะใช้ข้อมูล ความรู้ความสามารถของข้าราชการ
GISTDA ให้เกิดประโยชน์เต็มที่" พิธากล่าว
พิธายังได้วางแนวทางการทำงานร่วมกับ
GISTDA โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะใกล้ ระยะกลาง
และระยะไกล สำหรับระยะใกล้ เน้นการแก้ไขปัญหา 'ดิน น้ำ ลม ไฟ'
ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม เช่น แก้ปัญหาดิน
มีแอปพลิเคชันที่สามารถใช้ข้อมูลดาวเทียมบอกได้ว่าต้องใส่ปุ๋ยเท่าไร
ความชื้นของดินเป็นอย่างไร หรือเรื่องน้ำ ข้อมูลของ GISTDA แจ้งดัชนีความเสี่ยงภัยแล้ง
ทำให้ทราบว่าปีนี้จะมีฝนน้อยลง 30% และมีระยะเวลายาวนานกว่าปีที่ผ่านมา
ส่วน
'ลม' ดาวเทียมสามารถคาดการณ์การเกิดของฝุ่น pm2.5
ได้
มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดแนวทางการจัดการว่าควรจะประกาศเขตภัยพิบัติหรือไม่
และเรื่อง 'ไฟ' คือไฟป่า ซึ่ง GISTDA
เปิดตัวแอปพลิเคชัน BurnCheck เพื่อตรวจสอบการเผาไหม้
สามารถทุเลาปัญหาไฟป่าลงได้
ต่อมาระยะกลาง
พิธายกตัวอย่างคาร์บอนเครดิต
ซึ่งปัจจุบันวิธีการที่ภาครัฐใช้ในการคำนวณยังไม่มีความแม่นยำ แต่ข้อมูลจาก GISTDA สามารถตรวจสอบความแม่นยำได้
และระยะไกล พิธาชูวิสัยทัศน์ Space Economy หรือ
เศรษฐกิจด้านอวกาศ มองเห็นศักยภาพของธุรกิจประเภทนี้ โดยอีกไม่นาน
จะมีการปล่อยดาวเทียมเพิ่ม 2 ดวง
เป็นฝีมือของวิศวกรชาวไทยทั้งหมด ถือเป็นการมองหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ
ความมั่นคง ไปจนถึงการท่องเที่ยว เพราะดาวเทียม 2 ดวงที่เตรียมปล่อย
ยังไม่มีฐานการปล่อย (Spaceport) ในภูมิภาคอาเซียน
ในอนาคตจึงอาจต่อยอดไปถึงการท่องเที่ยวได้
"สุดท้ายต้องเรียนพี่น้องข้าราชการว่า ผมมีความตั้งใจจะทำงานร่วมกับทุกคน
ทำให้หน่วยงานของท่านทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพและมีประสิทธิภาพ
ผ่านการพยายามขจัดอุปสรรคทางกฎหมายและงบประมาณต่างๆ ทำให้พี่น้องข้าราชการทำงานได้อย่างเต็มที่
คุ้มค่าภาษีพี่น้องประชาชน” พิธาทิ้งท้าย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #GISDA #ก้าวไกล