วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

พลเมืองโต้กลับ ครบ 365 วัน ยืนหยุดขัง จัดเสวนา“ประสบการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิการประกันตัว” ไผ่-บอย-รุ้ง-มายด์ นักวิชาการ ประชาชนผู้ยืนหยุดขังร่วมวง พร้อมออกแถลงการณ์"เว้นวรรค 100 วันก่อนกลับมาทวงสัญญา"

 


พลเมืองโต้กลับ ครบ 365 วัน ยืนหยุดขัง จัดเสวนา“ประสบการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิการประกันตัว” ไผ่-บอย-รุ้ง-มายด์ นักวิชาการ ประชาชนผู้ยืนหยุดขังร่วมวง พร้อมออกแถลงการณ์"เว้นวรรค 100 วันก่อนกลับมาทวงสัญญา"


วันนี้ ( 5 ก.ค. 66) เวลา 17.30 น. ที่ลานหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนิน กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จัดกิจกรรม 365 วัน ยืนหยุดขังเพื่อสิทธิการประกันตัว เริ่มต้นด้วยวงเสวนา “ประสบการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิการประกันตัว” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ “พี่นก” นภัสสร บุญรีย์, “พี่รูน” มัทนา อัจจิมา, “พี่ปุ๊ย” ประชาชนผู้มาร่วมยืนหยุดขังอย่างสม่ำเสมอเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันผู้ต้องขังทางการเมือง, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “บอย” ธัชพงศ์ แกดำ, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในฐานะอดีตผู้ต้องขังทางการเมือง, ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.), บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (นักวิจัยเรื่องการต่อสู้แบบสันติวิธี) และดำเนินรายการโดย “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 


จากนั้นนายพันศักดิ์เป็นตัวแทนพลเมืองโต้กลับอ่านแถลงการณ์ "เว้นวรรค 100 วันก่อนกลับมาทวงสัญญา" โดยมีใจความระบุว่า


วันนี้ วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 เป็นวันที่ 365 ที่พวกเราร่วมแรงร่วมใจทำกิจกรรมยืนหยุดขังรอบที่สาม เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง


เราเริ่มยืนหยุดขัง เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 ถึงวันพุธที่ 2 มิถุนายน 2564 รวม 71 วัน เริ่มยืนหยุดขังรอบที่สองเมื่อ วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 ถึงวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565 รวม 193 วัน และรอบที่สาม เมื่อ วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2565 จนถึงวันนี้ 365 วัน รวมระยะเวลาทั้งหมด 629 วัน


จนถึงวันนี้ มีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อย่างน้อย 17 ราย แบ่งเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี 7 ราย และเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีที่สิ้นสุดแล้ว 10 ราย 


ผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี 7 ราย ในจำนวนนี้เกินครึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา มาตรา 112 จำนวน 4 ราย ได้แก่ วุฒิ 95 วัน, เวหา 49 วัน, ทีปกร 17 วัน และวารุณี 8 วัน อีกส่วนที่เหลือเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองวัตถุระเบิดปิงปอง จำนวน 3 ราย ได้แก่ “ธี” ถิรนัย 141 วัน, “มาย” ชัยพร 141 วัน และ “มาร์ค” ชนะดล 113 วัน


จากวันที่พลเมืองโต้กลับเริ่มยืนหยุดขังเป็นวันแรก เราพบว่ากิจกรรมและข้อเรียกร้องของเราได้เลื่อนไหลสัญญะไปตามกาลเวลาจากการเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้* มาสู่การต่อสู้ของคนข้างนอกเพื่อให้กำลังใจเพื่อนที่อยู่ข้างใน จนท้ายสุดการมีอยู่ของยืนหยุดขังกลายเป็นการประจานกระบวนการยุติธรรมไทยว่าไร้หลักนิติธรรมโดยสิ้นเชิง 


การยืนหยุดขังยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เข้าใจร่วมกันต่อมาว่าการด่าทอฝ่ายอำนาจนิยม ทหารตำรวจตลอดการยืนไม่เกิดผลดีอะไร การยืนนิ่ง ๆ โดยไม่ปริปากต่างหากที่เป็นการยืนหยัดต่อสู้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมโดยไม่ต้องพูดมันออกมา


การยืนหยุดขังสร้างความตระหนักรู้กับสังคมว่าสิทธิการประกันตัวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ถูกกล่าวหาว่าต้องได้รับสิทธินั้นเพื่อเตรียมตัวในการหาหลักฐานแก้ต่างให้กับตัวเองในการต่อสู้คดีอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อถูกละเมิดสิทธิ หลายรายจำยอมรับสารภาพเพื่อให้อย่างน้อยสามารถรู้ชะตากรรมตัวเองได้ว่าต้องอยู่ในเรือนจำไปอีกกี่วัน ดังเช่น กรณีของ “คทาธร” ที่จะถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำคุก 1 ปี 3 เดือน 15 วัน ในคดีครอบครองวัตถุระเบิด โดยคทาธรจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 24 ก.ค. 2566 นี้ โดยระหว่างต่อสู้คดีคทาธรไม่เคยได้รับสิทธิการประกันตัวเลย นั่นจึงทำให้หลายฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องตรวจสอบแก้ไขการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้คดีทางการเมืองได้รับการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม


การยืนหยุดขังรอบที่ 3 จนถึงวันนี้ เราไม่ปฏิเสธว่าพลเมืองโต้กลับอ่อนล้าและอ่อนแรงลงไปมาก กระบวนการยุติธรรมเพิกเฉยต่อหลักนิติธรรมเพราะฝ่ายตุลาการไม่มีอะไรที่ยึดโยงกับประชาชน ตุลาการส่วนดีก็มีน้อยจนน่าใจหาย เมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้น และมีการใส่นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองไว้ในนโยบายพรรค การถอยออกมาเพื่อเฝ้าติดตาม ให้กำลังใจ และเร่งรัดให้กระบวนการได้รับสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังจะทำให้เกิดบรรยากาศทางสังคมที่ดีกว่า พลเมืองโต้กลับจึงขอยุติกิจกรรมยืนหยุดขังไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 100 วัน นับจากได้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและจะกลับมาทวงถามสัญญา หากไม่เกิดความคืบหน้าของการให้สิทธิการประกันตัวซึ่งผู้แทนราษฎรสามารถทำผ่านกลไกของสภาฯ ได้ทันที ก่อนที่จะมีการเสนอกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองในภายภาคหน้า


งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การรณรงค์ย่อมมีวันยุติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกแล้วและยุติโดยสิ้นเชิง เราไม่ได้แค่มาทำกิจกรรมยืนหยุดขัง แต่ยืนหยุดขังเป็นส่วนหนึ่งของพวกเรา เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ยึดหลักนิติธรรม เมื่อนั้นเราจะกลับมาอีก เหมือนที่เราสัญญาไว้ทุกครั้ง 


หมายเหตุ

* รัฐธรรมนูญ ปี 2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 29 (วรรคที่ 2) “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้”


จากนั้น รอนฝัน ตะวันเศร้า อ่านกวี ก่อนที่ผู้ร่วมกิจกรรมต่างล้อมวง รับประทานลาบ ส้มตำแกล้มเสียงเพลงจากอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร โดยไผ่ จตุภัทร์ ร่วมเล่นพิณด้วย


ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาในการเสวนานั้นสายฝนโปรยปรายไม่หยุด แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคประชาชนต่างกางร่มร่วมนั่งฟัง อย่างไรก็ตาม 365 วัน ยืนหยุดขัง นับเฉพาะการยืนหยุดขังรอบที่ 3 (รอบนี้) เท่านั้น หากนับรวมทั้ง 3 รอบจะเป็นระยะเวลา 629 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พลเมืองโต้กลับ #ยืนหยุดขัง #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน