วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2566

“พิธา” ร่วมวงภาคเอกชน-ประชาสังคมเชียงใหม่ ถกปัญหา pm2.5-การท่องเที่ยว พร้อมดันเชียงใหม่เป็นที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการอาเซียนร่วมแก้ปัญหาฝุ่นระดับภาค เปลี่ยนระบบงบเบี้ยหัวแตก-กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่น ย้ำฝุ่นแต่ละที่ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาต่างกัน ด้านการท่องเที่ยวพร้อมดัน พ.ร.บ.โฮมสเตย์-แก้ปัญหา ส.ป.ก.กว่าแสนไร่เปิดทางผู้ประกอบการรายเล็กเติบโต

 


“พิธา” ร่วมวงภาคเอกชน-ประชาสังคมเชียงใหม่ ถกปัญหา pm2.5-การท่องเที่ยว พร้อมดันเชียงใหม่เป็นที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการอาเซียนร่วมแก้ปัญหาฝุ่นระดับภาค เปลี่ยนระบบงบเบี้ยหัวแตก-กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่น ย้ำฝุ่นแต่ละที่ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาต่างกัน ด้านการท่องเที่ยวพร้อมดัน พ.ร.บ.โฮมสเตย์-แก้ปัญหา ส.ป.ก.กว่าแสนไร่เปิดทางผู้ประกอบการรายเล็กเติบโต


วันนี้ (15 มิถุนายน 2566) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายของพรรคก้าวไกล เดินสายพบปะกลุ่มภาคประชาสังคมและภาคเอกชนหลากหลายกลุ่มใน จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะด้านนโยบาย โดยช่วงเช้าเข้าประชุมร่วมกับกลุ่มสภาลมหายใจ หารือเรื่องปัญหาฝุ่นควัน pm2.5 ตามด้วยการประชุมร่วมกันภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวในช่วงบ่าย


ในวงประชุมด้านฝุ่น pm2.5 พิธาได้กล่าวสรุปถึงแนวนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าปัญหาฝุ่น pm2.5 ทำให้เรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องเดียวกัน มีสามสถาบันวิจัยเป็นอย่างน้อยที่คำนวณมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากฝุ่น pm2.5 ออกมาแตกต่างกันบ้าง แต่เฉลี่ยคืออยู่ที่หลักหมื่นกว่าล้านบาท แต่ที่ผ่านมางบประมาณการแก้ไขปัญหานี้เป็นเบี้ยหัวแตก หน่วยงานทั้งราชการและท้องถิ่นต่างคนต่างมีงบประมาณก้อนเล็กก้อนน้อย รวมกันมีเพียงแค่ 85 ล้านบาท สำหรับการแก้ปัญหาหลักหมื่นล้านบาท และประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ชี้ให้เราเห็นแล้ว ว่าการจัดสรรงบประมาณแบบเก่าๆ ไปแก้ความท้าทายใหม่ๆ อย่างไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนกฎหมายที่มีอยู่ก็ติดขัดเรื่องโครงสร้างอำนาจ เช่น การที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจในการสั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยุติหรือชะลอกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น ได้เพียงขอความร่วมมือเท่านั้น


ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลก้าวไกลต่อปัญหาฝุ่น pm2.5 จะแบ่งเป็นสามระดับ คือระดับนานาชาติ ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น อันดับแรกระดับนานาชาติ อาเซียนเคยออกข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับอากาศไว้แล้วตั้งแต่ปี 2004 แต่ไม่เคยมีการใช้จริง และขณะนี้ก็มีความพยายามจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ASEAN Haze Pollution Center ขึ้นมาแต่ยังหาที่ตั้งไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลก้าวไกลจะเสนอให้นำศูนย์ปฏิบัติการนี้มาไว้ที่เชียงใหม่ เพื่อใช้กลไกอาเซียนพร้อมกับการพูดคุยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ไปผลักดันการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับภูมิภาคต่อไป


ส่วนในระดับประเทศ ฝุ่น pm2.5 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอยู่มาก เข่น ที่สระบุรี มาจากการทำเหมือง ที่สมุทรปราการ มาจากโรงงาน ที่เชียงใหม่ มาจากการเกษตรทั้งในประเทศและข้ามแดน ที่กรุงเทพ มาจากคมนาคมและการก่อสร้าง บทเรียนคือเราจะตัดเสื้อโหลตัวเดียวใช้ทั้งประเทศไม่ได้ การออกแบบนโยบายแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่จะต้องสอดรับกับบริบทที่แตกต่างกันไปตรงนี้ด้วย


ส่วนในระดับท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมางบประมาณท้องถิ่นในการแก้ปัญหานี้น้อยมาก ท้องถิ่นเองไม่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแก้ปัญหา คนที่มีเครื่องมือในการแก้ปัญหาก็กลับไม่ได้เป็นคนแก้ การกระจายงบประมาณลงมาให้กับกลไกท้องถิ่น จะทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาที่สุดได้มีเครื่องมือในการแก้ปัญหานี้ได้


“ปัญหาฝุ่น pm2.5  เศรษฐกิจ และสาธารณสุข เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ผมเชื่อว่าถ้าเราเรียงลำดับความสำคัญ ให้ความใส่ใจ ให้ทรัพยากรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้คนแก้ปัญหามีของ ภายในสี่ปีสถานการณ์น่าจะดีขึ้นได้” พิธากล่าว


ส่วนในวงประชุมร่วมกับภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว พิธาระบุว่าโจทย์สำคัญเฉพาะหน้าวันนี้คือจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นก่อนโควิดได้ เพราะจากตัวเลขวันนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวยังหายไปครึ่งหนึ่งจากเดิม และยังมีโจทย์ใหม่ที่ต้องพิจารณา คือจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่นานกว่าเดิมและจ่ายเยอะกว่าเดิม ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวกระจายตัวมากกว่ากระจุกตัวอยู่ 5 จังหวัดหลัก ซึ่งเชียงใหม่เป็นหนึ่งในนั้น และแม้แต่ในตัวเชียงใหม่ก็ยังกระจุกตัวอยู่มาก


นอกจากนี้ รัฐบาลก้าวไกลยังจะต้องทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองสุราก้าวหน้า และเป็นเมืองแห่งโฮมสเตย์ นั่นหมายความว่าจะต้องมีการผลักดัน พ.ร.บ.โฮมสเตย์ ให้ผู้ประกอบการโฮมสเตย์สามารถทำได้สะดวกขึ้น ไม่ติดข้อกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคหลายประการที่ไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งการแก้ปัญหาที่ดิน เช่น ส.ป.ก. ที่เชียงใหม่มีอยู่กว่า 1 แสนไร่ ที่สร้างข้อจำกัดให้ประชาชนไม่สามารถนำที่ดินของตัวเองไปต่อยอดได้


“ประเด็นการท่องเที่ยวไม่สามารถแยกออกได้จากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม นี่คือความท้าทายใหม่ๆ ที่การท่องเที่ยวของเรากำลังเผชิญอยู่ เราได้พบปะพูดคุยกับหอการค้า YEC และภาคธุรกิจ มาหลายจังหวัด พบว่าทุกคนวันนี้กำลังเผชิญความท้าทายและปัญหาที่มีรูปแบบคล้ายกันอยู่ แต่ในแง่หนึ่ง นั่นแปลว่าการแก้ปัญหาของเราสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้” พิธากล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐบาลก้าวไกล