แลไปข้างหน้ากับ
ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.111
ประเด็น
: การเปลี่ยนเนื้อหา MOU หลายรอบ บอกอะไรกับสังคมไทย?
สวัสดีค่ะ
ก็ได้เวลาที่เราจะมาสนทนากันในเรื่องที่การจัดตั้งรัฐบาล
ดิฉันก็ถือว่าเป็นกองเชียร์นะคะ อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นไปได้ราบรื่น
แล้วก็ให้มันสมภาคภูมิว่าเป็นรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยที่เบิกฤกษ์ฟ้าใหม่ให้กับประชาชน
แม้นว่าจะไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่งที่ชนะแบบมากมายตามที่หลายคนคาด แต่อย่างไรก็ตาม
เราก็ถือว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน ซึ่งร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
ซึ่งถ้าดูตามเสียงต้องถือว่ามั่นคง ในขณะนี้ถือว่าได้ 300 กว่าเสียง
มันน่าจะแข็งแกร่ง แล้วมันก็เป็นการแสดงออก ดิฉันจำได้ว่าพอดีมันอยู่ในถอดเทปที่ดิฉันพูดเมื่อวันที่
4 พฤษภาคม ปีนี้แหละ ว่า
“เราหวังว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะได้รับชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งคราวนี้
เพราะประชาชน (ดิฉันประเมินนะ ไม่ใช่อาจารย์วีระ ธีรภัทร) กว่า 70%
ล้วนเลือกข้างฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ ในนามของคณะประชาชนทวงความยุติธรรม
2553 จะรอดูต่อไป แล้วก็ขอให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยไปใช้สิทธิให้มากที่สุด
เลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้เป็นรัฐบาลของประชาชนจริง ๆ”
อันนี้พูดไว้ในรายการเมื่อวันที่
4 พฤษภาคม ตอนจบ ก่อนเลือกตั้ง 10 วัน
ขณะนั้นเป็นเวลาที่กระแสเริ่มต้นมีกระแสความนิยมฝ่ายประชาธิปไตยสูงมาก
แต่ดิฉันเองก็ไม่ได้มีโพลลับ ก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าพรรคไหนจะชนะ แล้วก็ผู้คน, มวลชน
พวกกลุ่มแกนต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนมากโดยทั่วไปก็อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย
จะอยู่ในสองพรรคแรก อาจจะพูดได้ว่าในพรรคเพื่อไทยมากกว่าด้วยซ้ำ
แต่ว่าเราก็ไม่รู้ว่ากระแสมันจะไปได้สูงขนาดนี้
แต่ยังไงก็ตามก็ถือว่าเป็นชัยชนะแหละค่ะ เป็นชัยชนะที่ดี
และเราต้องการให้ตั้งรัฐบาลนี้ให้ได้
แล้วดังที่ดิฉันได้เปรียบไว้ให้มันเป็นเหมือนรุ่งอรุณที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะสะสมชัยชนะ
แล้วให้แข็งแกร่ง เพราะว่าความแข็งแกร่งนี้จะสามารถต้านทานการทำรัฐประหาร
การยึดอำนาจหรือการตอบโต้จากฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ซึ่งทุกวันนี้เราจะได้ยินทุกวันจากพวกส.ว. แล้วก็ดาราบ้าง
ใครบ้างที่ต่อต้านรัฐบาลชุดนี้
อย่างไรก็ตามในหัวข้อที่ดิฉันจะคุยในวันนี้เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ
ก็เรียกว่าพูดในฐานะพวกเดียวกันนะ ไม่ใช่พูดในฐานะขั้วตรงข้าม
พูดในฐานะที่ต้องการให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่ง แล้วก็มั่นคง
ไม่ต้องการให้มีการทำรัฐประหารอีกต่อไปนะคะ ประเด็นที่พูดก็คือ “การเปลี่ยนเนื้อหา
MOU หลายรอบ บอกอะไรกับสังคมไทย”
สำหรับดิฉัน
การที่มี MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ดิฉันเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องดีและเป็นเรื่องใหม่
แล้วก็กล้าหาญที่จะประกาศกับสังคม แต่ในขณะเดียวกันดิฉันก็ขอวิจารณ์
คือมีทั้งชมและมีทั้งวิจารณ์นะคะ ก็คือ มี MOU เนี่ยดี
แต่ว่าเมื่อเรามาพบว่ามีการเปลี่ยนเนื้อหา MOU หลายรอบ
ทำให้ดิฉันสะกิดใจ ก็มาคิดอีกทีว่าทำไมมันถึงมีปัญหาและอาจจะมีความขัดแย้งด้วย
ในทัศนะดิฉัน อย่าไปคิดว่าตัวดิฉันบังอาจไปแนะนำ แต่ถ้าจะถามในความคิดของดิฉันนะ MOU
มันก็ประหนึ่งนโยบายและยุทธศาสตร์ที่คณะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเห็นด้วยกันที่จะเดินหน้า
และเมื่อเป็นเช่นนั้นในความคิดของดิฉัน มันจะไม่ต้องมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายรอบ
ถ้าหากว่ามันเป็นหลักใหญ่ที่ฝ่ายประชาธิปไตยปฏิเสธไม่ได้
เพราะฉะนั้นในความคิดของดิฉันเริ่มต้นก่อนที่จะพูดว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
แล้วทำไมเอานั่นออก เอานี่ออก อะไรอย่างนี้นะคะ
ดิฉันอยากจะเริ่มด้วยว่าในทัศนะของดิฉัน ถ้ามันเป็นหลักใหญ่ ๆ
อย่างที่พรรคหลายคนบอก ก็คือเริ่มด้วยหลักการ อาทิ การเมืองการปกครอง
เพราะฉะนั้นการที่มีการเอาการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่มาเป็นข้อ 1 ดิฉันก็เห็นด้วย
เพราะว่าอันนี้มันหมายถึงเรากำลังอยู่ในประเด็น
คือมันควรจะเรียงว่าการเมืองการปกครอง
เราจะมีหลักการนโยบายที่จะเดินร่วมกันอย่างไร ปัญหาระบอบประชาธิปไตยในการเมืองการปกครองที่ควรจะมีการดำเนินงานในรัฐบาลนี้มีอะไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ หรือว่าการปฏิรูประบบราชการ
ดังนี้เป็นต้น
แต่ดิฉันก็มาเห็นว่า
พอมาเป็นข้อ 2 กลายเป็นสมรสเท่าเทียม ดิฉันก็มองว่ามันไม่ได้มีการจัดกลุ่ม
grouping อย่างเป็นปัญหาหลัก ๆ อันนี้เป็นทัศนะของดิฉันนะ
ก็คือกระโดดจากรัฐธรรมนูญมาเป็นสมรสเท่าเทียม แล้วพอมาย้อนดู
เราก็จะพบว่าเรามีร่างที่มองเห็นของ MOU มีร่างแรก
ร่างที่สอง ร่างที่สาม จริง ๆ มันคงมีมากกว่านี้ แต่ร่างแรกก็เท่าที่เห็นจากไทยรัฐ
ข้อแรกก็เป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อ 2
คืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร
แปลว่าเอาเรื่องการเมืองกับความยุติธรรม ดิฉันก็ค่อนข้างเห็นด้วย
แล้วก็ตามด้วยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จากนั้นจึงไปเรื่องของปฏิรูป ซึ่งในนี้อาจจะเขียนย่อ
เช่น ปฏิรูปกองทัพ แต่คงหมายถึงปฏิรูปตำรวจหรืออย่างอื่นด้วย ซึ่งจริง ๆ
ปฏิรูปกองทัพกับยกเลิกเกณฑ์ทหารมันเข้ามาอยู่ด้วยกันก็ได้ถ้าคุณเขียนปฏิรูปกองทัพอย่างเดียว
แต่ว่าถ้ามันเป็นการปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูประบบยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจ มันก็สามารถมีวิธีเขียนที่จะทำให้ความคิดเห็นเป็นเอกภาพได้
มันไม่ใช่ว่า ความสำคัญก็มีเหมือนกันที่ได้ไปหาเสียงไว้ แล้วก็อยากจะให้ทุกพรรคสนับสนุนกัน
แต่ดิฉันว่ามันสามารถนำเสนอได้อย่างมีหลักการ ว่าเป็นหลักการเช่น
กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หลักการของการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูประบบราชการ คือมันต้องมา grouping
ให้มันดูมีเหตุผล สมเหตุสมผล แล้วการปรับแก้ ภาษาจะไม่ยาก
ที่เขียนว่า
“เลิกผูกขาดอุตสาหกรรมสุรา” มันก็อาจจะเป็นเพราะว่าที่ว่าสุราก้าวหน้า
อันนี้เป็นความเห็นนะว่า ต้นร่างจากพรรคก้าวไกล ในทัศนะดิฉันนะ
ก็ยังควรจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ว่าอาจจะเป็นเพราะว่าตั้งใจไว้ที่คุณพิธาบอกว่าตั้งเป็นธง
จริง ๆ มันผูกขาดเยอะแยะเลย มันไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมสุรา
คือทำให้มันเป็นหลักการกว้างหน่อย แต่ priority ว่า โอเค
คุณพร้อมที่จะทำเรื่องสุรา อ้าวแล้วผูกขาดเรื่องอื่นล่ะ ถูกมั้ยคะ นี่ยกตัวอย่าง
อีกอันหนึ่งก็คือ
เดิมที่เขียนเอาไว้ที่ว่า “คืนความยุติธรรม” เป็นอันดับที่ 2 แล้วก็ตามด้วยมีข้อ 9
“ออกกฎหมายนิรโทษกรรม” หลังจากนั้นก็เป็นอย่างอื่น ๆ อันนี้เป็นต้นร่างแรก
ดังนั้นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่มักจะพูดกันถึงว่า ทำไมไม่มีมาตรา 112?
ทำไมไม่มีปัญหานิรโทษกรรม?
เพราะว่าสองอย่างนี้อาจจะเป็นไปได้ว่าได้มีการนำเสนอมาก่อนหน้ายาวนานแล้ว
ซึ่งดิฉันก็เข้าใจได้ว่าปัญหา 112 นั้น จริง ๆ
แล้วก็คือมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็จริง แต่ว่ามันต้องประกอบด้วยองค์ความรู้
ดิฉันเคยพูดเรื่อง 112 มาหลายรอบ แต่ดิฉันก็เข้าใจว่า โอเค การที่ไม่ใส่ลงไปก็คงผ่านการหารือมาแล้ว
ก็ต้องไม่บรรจุใน MOU
ดิฉันคิดว่าสาเหตุอย่างหนึ่งก็คือถ้าทำให้
MOU เป็นระบบ เป็นหลักทีละเรื่อง ๆ ๆ มันจะไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมามากจนกระทั่งนาทีสุดท้ายขนาดนี้แล้ว
ไม่มีเรื่องความยุติธรรมเพื่อการสมานฉันท์
แต่ว่าส่วนมากดิฉันก็เห็นด้วยนะในข้อที่มีการนำเสนอ
เพียงแต่ว่าถ้านำเอาสิ่งที่ไปหาเสียง มันก็อาจจะทำให้พรรคอื่นมองว่า
เอ้าแล้วที่พรรคเขาหาเสียงล่ะ มันไม่ได้บรรจุ แต่ถ้าทำเป็นหลักการ
ดิฉันคิดว่ามันจะลดการโต้เถียงน้อยลง แต่นี่มันจะเห็น 3 ฉบับ
ฉบับแรกมีทั้งคืนความยุติธรรม แล้วก็มีนิรโทษกรรม พอมาฉบับต่อมา นิรโทษกรรมไม่มี
แต่ก็มีใช้คำว่า เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม
ทุกพรรคจะร่วมผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกรัฐสภา
คือเรียกว่ามีการตกแต่งแล้วล่ะ แทนที่จะบอกว่าคืนความยุติธรรม ซึ่งตรงไปตรงมา
อันนี้ก็พยายามจะเขียนให้มันนิ่มนวลเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม เอาเป้าหมาย
ซึ่งดิฉันก็คิดว่าถูกต้องนะ ถ้าคุณจะให้สังคมนี้มีความสมานฉันท์
คุณไม่ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะนั่นคือก้าวข้ามศพประชาชน
แต่คุณสามารถจัดการความขัดแย้งได้โดยอาศัยเครื่องมือก็คือการเปิดเผยความจริงและความยุติธรรม
ถ้ามันไม่มีประตูสุ่ความยุติธรรม คุณไม่มีทางแก้ความขัดแย้งได้
แล้วดิฉันจะบอกให้ว่า
ความขัดแย้งในประเทศต่าง ๆ ที่มันมียาวนานมาเป็นสิบ ๆ ปี ทราบมั้ยคะว่ามันสามารถจะแก้ได้นะ
ในรัฐบาลประชาธิปไตย ในประเทศละตินอเมริกา การที่มีการฆ่าคนและหายไป
ผ่านมาตั้งร่วม 30 ปี มันจึงสามารถแก้ปัญหานี้ได้
แล้วการแก้ปัญหานี้มันไม่ได้ต้องการลงโทษคนมากมาย ก็จะเป็นการลงโทษเฉพาะคนสำคัญ
ถามว่าเพราะอะไร เพื่อความสมานฉันท์ และในประเทศไทย เราอาจจะแก้
ไม่ให้มีการทำรัฐประหารอีกต่อไปก็ได้ ทำไมฆ่าคนกลางถนนมือเปล่าแล้วไม่มีความผิด
ถามว่าถ้าคุณเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย
คุณไม่พยายามที่จะให้ความยุติธรรมกลับมาสู่สังคม
เท่ากับเราไม่ต้องการแก้ความขัดแย้ง ก็ใช้สำนวนประมาณพรรคพลังประชารัฐ
“ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ลืมมันซะ เราจะเดินไปข้างหน้า
แต่เพื่อจะเดินไปข้างหน้าให้ได้ตลอดรอดฝั่งและได้อย่างมีอนาคต
คุณต้องทำความจริงให้ปรากฏ แล้วคุณต้องมีความยุติธรรม ซึ่งปกติเขาใช้คำว่า
“ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” หมายความว่าอะไร
คือระยะเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย
นี่แหละถึงจะเป็นความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน!
พรรคการเมืองที่เอาชนะพรรคที่สืบทอดเผด็จการมา
ในทัศนะของดิฉันมันเป็นภารกิจที่ต้องทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นและทำให้เกิดการสมานฉันท์
ไม่ใช่เฉย ๆ กลัว คือถ้ากระทบ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลก่อน
ก็อาจจะเกรงใจและไม่อยากที่จะให้มีปัญหากับทหารหรือกองทัพ ไม่ต้องการให้มีการทำรัฐประหาร
แต่ว่าเขาเตรียมมา 3 ปี ดูเขาสารภาพซิ
ก็แปลว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นเขาเตรียมทำรัฐประหารแล้วตั้งแต่ตอนนั้น
แปลว่ารัฐประหาร 2549 จัดการพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยไม่ได้
ก็เลยเตรียมการตั้ง 3 ปี ไอ้ 6 เดือนนั้นเป็นตอนท้าย คือยังไงเขาก็ทำ
เหตุผลเพราะเขาไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน ทุกวันนี้ไม่เห็นมีใครถอดใจเลย
พรรคที่แพ้เลือกตั้ง พรรคที่สืบทอดมาจากรัฐประหาร ก็ยังบอกว่าไม่พูดอะไร
แต่ประมาณว่าไม่วางมือ เอาอย่างนั้น ไม่ถอดใจ นี่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏให้เห็น
แต่สิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งมันมีมากมาย
ดังนั้นมีอยู่ทางเดียวต้องทำให้แข็งแกร่ง ฝ่ายประชาธิปไตยต้องแข็งแกร่ง
ทำความจริงให้ปรากฏ แล้วทำให้เกิดความยุติธรรม ต้องมีความกล้าหาญ ในทัศนะดิฉัน
เพราะว่าเราเปรียบเทียบ สู้กันมาตั้งหลายสิบปี
คือถ้าตราบใดเราไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตย มันไม่มีทางเลยที่ความยุติธรรมจะเกิดขึ้น
เพราะผู้กระทำมามีอำนาจปกครอง แล้วเขาจะเปิดเผยความผิดของตัวเอง
นอกจากเผลอพูดออกมาว่าผมเตรียมแผนเอาไว้ตั้ง 3 ปี มาตอนนี้บอกว่าใคร ๆ ก็ลืมแล้ว
ดิฉันก็ชอบที่คุณอุ๊งอิ๊งพูดนะ แต่ไม่เอามาทวนหรอก เพราะว่าคุณอุ๊งอิ๊งยังสาวอยู่
ดิฉันแก่แล้วพูดก็คงไม่ดี ก็คือ “ผู้กระทำ” ลืมว่าตัวเองกระทำยังไง แต่
“ผู้ถูกกระทำ” ไม่ลืม และประวัติศาสตร์ต้องไม่ลืมและต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก
เพราะฉะนั้นที่พูดเนี่ยดิฉันมีความเห็นว่า
มันไม่ได้มีการทำ MOU ที่มีลักษณะเป็นหลักการ และดิฉันคิดว่าเรียงลำดับ priority มันดูสับสน ดูไม่เป็นระบบ ดูว่าวิธีคิดไม่เป็นระบบ แล้วก็มีการเปลี่ยน
และสิ่งที่เปลี่ยนคือดิฉันจะไม่ไปพาดพิงเรื่องอื่นที่โฆษณาไว้
แต่ว่าการทำให้เป็นระบบแล้วขาดสิ่งสำคัญคือปัญหาความยุติธรรมและสร้างสังคมสมานฉันท์
คืออุตส่าห์มีแล้ว ดิฉันก็ไม่รู้ว่าที่ตัดออกจะเข้าใจอย่างไร
ก็คืออาจจะมีปัญหาเกรงปัญหาเฉพาะหน้าว่าจะไม่ถูกใจใคร
แต่ดิฉันบอกได้เลยว่าประสบการณ์ที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยถูกกระทำมา
คุณจะเอาใจยังไงเขาก็รัฐประหารคุณ
เขาจะไม่รัฐประหารก็ต่อเมื่อเขากลัวว่าเขาทำไม่สำเร็จเท่านั้น
และอะไรที่ทำให้เขาทำไม่สำเร็จล่ะ ก็คือความเข้มแข็งของประชาชน
ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองที่ได้ตัวเลขมากไม่พอ ยิ่งมีตัวเลขมากยิ่งน่ากลัว
ความเข้มแข็งของประชาชน ภาคประชาชนสำคัญมาก
แล้วความเข้มแข็งของภาคประชาชนไม่ใช่ที่ปริมาณนะ แต่ต้องเป็นคุณภาพ และรวมกระทั่งสามารถที่จะทำให้โครงสร้างชั้นบน
ปัญญาชน ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเข้าใจเรื่องราว
เข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองแบบที่เยาวชนเขาเข้าใจ แล้วก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
แต่ว่าในการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดก็คือต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องก็คือได้ประโยชน์กับประเทศชาติสูงสุด
พอมาถึงตรงนี้แล้วก็ทำให้เราถามว่า
แล้วมันบอกอะไรกับสังคมไทย? ดิฉันก็อาจจะบอกว่ามีสิ่งที่ดี
แต่ว่ามันควรจะดีกว่านี้ ถ้าหากว่าร่วมกันเอาผลประโยชนืประชาชน
เอานโยบายหรือหลักการหลัก ๆ ขึ้นเป็นหัวข้อ แล้วนโยบายแต่ละพรรคสามารถเข้ามาได้
เช่น เรื่องกระจายอำนาจ, เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ, เรื่องปฏิรูประบบราชการ
ปฏิรูปกองทัพ อะไรต่าง ๆ และความเหลื่อมล้ำ ปัญหา LGBT
นี่ก็เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเชื้อชาติก็เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ
การศึกษาก็เหลื่อมล้ำ และเหลื่อมล้ำมากที่สุดคือเศรษฐกิจ
มันไม่ใช่เฉพาะสุราอย่างเดียว ความเหลื่อมล้ำและปัญหาทุนผูกขาดมันก็มีเยอะ
อันนี้นี่ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ชื่นชมว่ามี
แต่ก็คิดว่ามันขาด ในความคิดของดิฉันนะ ขาดประเด็นสำคัญคือปัญหาความยุติธรรม
คือพูดตรง ๆ ว่าเรา คปช.53 เสนอไป 8 ข้อ แต่ว่าใน 8 ข้อนี้
ในส่วนของการทวงความยุติธรรมของ คปช.53 3
ข้อก็คือประเด็นที่ว่าด้วยการเร่งรัดตรวจสอบตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการ พูดตรง ๆ
ว่าตามที่เคยเขียนนั่นแหละ
ผู้ที่ถูกกระทำหลังจากการทำรัฐประหารแล้วมันถูกเบี่ยงเบน ถูกแช่แข็งหมด
อันนี้ก็ไม่มี ก็มันไม่มีประตูใหญ่แล้วมันจะไปใส่ข้อย่อยได้ยังไง?
แล้วที่สำคัญก็คือ
ข้อ 2 การแก้ไขกฎหมายที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดต่อประชาชนพลเรือนให้ขึ้นศาลพลเรือน
ไม่ใช้ทหารขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมืองดังที่เป็นอยู่
คือเราผ่านมาแล้ว เกณฑ์ของนักการเมืองที่ทำผิดทางอาญาต่อประชาชนนั้น จริง ๆ
แล้วสูง มันต้องเหมือนกับประชาชนทั่วไป มันไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา
ดิฉันก็ทราบว่ามีความพยายามที่จะหาวิธีให้ประชาชนร้องโดยตรง
แต่สำหรับเราซึ่งทำงานคลุกอยู่กับปัญหา
เรามองเลยว่าต้นเหตุมันมาจากความไม่เท่าเทียม
ทำไมทหารทำความผิดทางอาญาต่อประชาชนแล้วทำไมต้องไปขึ้นศาลทหาร
ทำไมไม่สามารถขึ้นศาลประชาชนได้ ขนาดทำผิดร่วมกับพลเรือนด้วยนะยังต้องไปศาลทหาร
แล้วนักการเมืองก็เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น
ด่านแรกก็คือ ป.ป.ช. โอเค มีปัญหา
ถ้าหากว่าอยากจะทะลุทะลวงว่าประชาชนฟ้องโดยตรงได้ แต่ว่ามันเป็นปลายทาง
ต้นทางก็คือทำไมต้องมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ซึ่งโทษก็ต่ำกว่า
แล้วก็ยังมีปัญหามากมายที่จะพลิกแพลงถูกแทรกแซงได้ เพราะฉะนั้นมันต้องเอาตั้งแต่ต้นเหตุ
ในทัศนะของเรา เราจึงเสนอเป็นข้อ 2 ไม่มี
มันไม่มีประตูว่าด้วยปัญหาของความยุติธรรม อาจจะมีคำย่อ ๆ
ว่าปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดิฉันอยากให้ไปขยายเรื่องของการแก้กฎหมาย
การทวงความยุติธรรมของผู้ถูกกระทำ ก็คือไปขยายประเด็นนี้ มันไม่มีอะไรผิดเลย
แล้วข้อ
3 ที่สำคัญก็คือว่า มันก็อยู่ในกระบวนการที่ว่าอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน
ถ้ารัฐบาลนี้ทำไม่ได้ เราก็ต้องดำเนินเหมือนกับในอดีตก็คือศาลอาญาระหว่างประเทศ
แล้วจะเซ็นหรือไม่เซ็น
อนุญาตให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเขาเข้ามาตรวจสอบว่ามันเป็นจริงไหม นี่ผ่านมา 10
กว่าปีแล้ว แล้วไม่ใช่เขาไม่รับนะ หลายคนเข้าใจผิด เขารับแล้ว
เขาถึงมาถึงประเทศไทย แต่ด้วยความที่เรามองปัญหาเฉพาะหน้า
ไม่อยากให้มีการทำรัฐประหารเพราะว่าศาลอาญาระหว่างประเทศเขาบอกว่าลำพังนักการเมือง
2 คน หรือคุณอภิสิทธิ์คนเดียวทำเรื่องนี้ไม่ได้ ฟ้องนี่ต้องฟ้องทั้งกระบิเลย
อันนี้ก็อาจจะทำให้คนหวั่นเกรงว่าจะมีปัญหา ดิฉันอยากจะบอกว่าก็เขาเตรียมมาตั้ง 3
ปีแล้ว สิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องเตรียมคืออะไร คือเตรียมความเข้มแข็งของประชาชน
ของรัฐบาล ปักหลักให้มันมั่นคง ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะทำอะไร เพราะยังไงเขาก็จะทำ
ทัศนะของดิฉันนะ
เพราะฉะนั้น
ตรงนี้ก็เลยอยากจะมองว่าในสุดท้ายแล้วรัฐบาลนี้ต้องแสดงนโยบายในฐานะเป็นรัฐบาลของผู้รักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรม
โดยเฉพาะคนเสื้อแดง นิยามของคนเสื้อแดงไม่ได้ว่าเป็นนิยามของผู้ที่รักบุคคลนะ โอเค
รักบุคคลก็รัก แต่รักมากกว่าก็คือรักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรม
และเขาต่อต้านรัฐประหารมาตลอด เขายังต้องการทวงความยุติธรรมเพื่อยับยั้งการฆ่าคน
ยับยั้งการทำรัฐประหารอีก ไม่ว่าพรรคไหนที่รัก
แฟนคลับก็ไม่ต้องการให้ถูกทำรัฐประหารทั้งนั้น ไม่ว่าพรรคไหนจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล
เพราะฉะนั้น
ถ้าคุณไม่มีในประเด็นเรื่องความยุติธรรมชัดเจน ก็ตกลงว่ารัฐบาลนี้จะรักประชาธิปไตย
แต่ว่าไม่รักหรือสนใจความยุติธรรม หรือเปล่า? ดิฉันอยากจะถาม
แล้วก็เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีการดึงเรื่องความยุติธรรมออก
ก็ไม่น่าจะมีผลกับส.ว.นะ เพราะว่าดิฉันมองว่าส.ว.เขาตัดสินใจแล้ว หนุน/ไม่หนุน
มีส่วนหนึ่งตัดสินใจ แต่ส่วนหนึ่งที่ลังเล อธิบายได้ แม้นจะ 112 อยู่/ไม่อยู่
บางคนก็บอกว่าไม่เขียนใน MOU แต่ก็จะทำ ใช่มั้ย? นี่ยกตัวอย่าง คือเป็นพวกที่อธิบายไม่ได้ แก้ไม่ได้
สุดโต่ง และดิฉันอยากจะฝากว่า ข้าราชการที่เป็นข้าราชการอยู่ โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ
ที่เป็นโดยตำแหน่งนะ การงดออกเสียงของคุณ ส.ว.
แปลว่าคุณไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช่มั้ย
คุณไม่ยอมรับนักการเมืองรัฐบาลที่มาจากพลเรือน ซึ่งต้องเป็นคนควบคุมทหารนะ
ควบคุมกองทัพนะ ถ้าคุณบอกว่าแต่ผมไม่ได้คัดค้าน “งดออกเสียง”
งดออกเสียงก็เท่ากับไม่รับนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น
ดิฉันอยากจะพูดว่า นี่เป็นการแสดงออกต่อสังคมโลกเลยว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันนี้นะ แม้จำนวนท่านจะน้อยนะ
แต่เป็นเรื่องใหญ่ ดิฉันยังไม่พูดถึงส.ว.คนอื่น ๆ ซึ่งบางส่วนเขาก็ปักหลักแล้ว
ยังไงเขาก็ไม่เอา แต่ว่าส่วนที่ยังทำความเข้าใจได้ก็มีอยู่
ก็เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจ แต่ดิฉันคิดว่าการพูดปัญหาหลักการ
การพูดปัญหาเป้าหมายที่ถูกต้องและสร้างสรรค์
ยังเป็นเรื่องความจำเป็นที่จะไปแก้ปัญหาจุกจิกรายละเอียดบางอย่าง เอาเรื่องใหญ่ ๆ
เลย เป็นระบอบประชาธิปไตย นำทางไปสู่การสมานฉันท์ แก้ปัญหาความขัดแย้ง
และทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปอย่างมีอนาคต
ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล
ดิฉันก็ยังอยากจะให้มีการสามัคคีกันและร่วมด้วยกัน
เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้คะแนนเสียงมาร่วมกันแล้วได้ถล่มทลาย
ถ้าเราทำหลักการให้ดี ๆ ถ้าจะมีปัญหาเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่เป็นไร
เอาผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลักยิ่งกว่าผลประโยชน์ของพรรค
เอาอนาคตของชาติเป็นหลัก และถ้าทำอย่างนี้ พรรคนั้น ๆ ก็มีอนาคต
แต่ถ้าเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวหนึ่ง ผลประโยชน์เฉพาะพรรคหนึ่ง
แล้วก็ไม่ตรงไปตามเส้นทางที่เป็นผลประโยชน์ส่วนใหญ่
มันก็มีโอกาสเสื่อมก็ได้เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อยากจะฝากไว้
ให้เราประเมินว่าบางอย่างที่มันเขียนออกมา
ไม่เขียนออกมาใน MOU อันแรก มันเกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดเกรงกลัวฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ก็เลยต้องแต่งตัวแต่งหน้าทาปากทำให้ดูเหมือนพวกอนุรักษ์นิยมด้วยกัน เพื่อที่จะได้สามารถเป็นรัฐบาลมีอำนาจต่อไปได้
โดยไม่ได้คิดถึงโหวตเตอร์นะ คือคิดจะเอาใจพวกอนุรักษ์นิยม ก็เข้าใจได้นะ ความจริงคือไม่อยากให้เขาค้านมาก
อะไร ๆ ก็หยวน ๆ พวกเขาบอกว่ายังไงก็เออพยายามแก้ไขตามนั้น
คือพยายามเอาใจฝั่งตรงข้าม แล้วโหวตเตอร์มองตาปริบ ๆ
หรือแบบที่สองก็คือ
จริง ๆ แล้วตัวเองก็เป็นอนุรักษ์นิยม คิดเหมือนกันแหละ
เพียงแต่ว่าทหารมาขัดขวางไม่ให้สามารถที่จะดำเนินงานในระบอบประชาธิปไตยไปได้
แต่จริง ๆ ยังเป็นอนุรักษ์นิยม คือคิดคล้าย ๆ กัน ก็เลยทำให้ต้องลดทอนปัญหาต่าง ๆ
ให้ดูเหมือนภาษาหรือแต่งกายคล้าย ๆ อนุรักษ์นิยม แต่จริง ๆ ตัวเองก็ชอบแบบนั้นด้วย
คำถามว่าอันนี้เอาอะไรเป็นหลัก?
ทั้งสองข้อก็ต้องถามว่าเอาผลประโยชน์ของพรรค ของตัวเอง หรือของประเทศ เป็นหลัก
แล้วก็ประชาชนจะเลือกข้อ 1 หรือข้อ 2
ข้อ
1 ก็คือเป็นประชาธิปไตยนี่แหละ เป็นเสรีนิยมนี่แหละ แต่ต้องตกแต่งเพื่อที่จะทำให้เอาใจพวกอนุรักษ์นิยม
หรือ ข้อ 2 จริง ๆ ตัวเองก็เป็นอนุรักษ์นิยม แต่ทำท่าเป็นเสรีนิยม
เพราะว่าได้คะแนนเสียง เพราะว่าทหารมาขัดขวาง
1
หรือ 2 ให้ประชาชนตัดสินเอง อย่างไรก็ตามเราก็ต้องเอาใจช่วย
ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยมอำพราง หรืออนุรักษ์นิยมอำพราง เดี๋ยวมันก็พิสูจน์
แต่อย่างที่ดิฉันเคยเรียนไว้หลายครั้งว่า ในฝั่งอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม เขาอำมหิต
ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้กับประชาชน คุณจะเอาใจอย่างไร ก็ไม่รู้ว่าจะถูกหลอกหรือเปล่า?
วันนี้ลาก่อนนะคะ