วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566

สมชัย ศรีสุทธิยากร : ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนพรรคเสรีรวมไทย เสนอนโนบายและแนวทางปฏิบัติ ต่อ 8 ข้อเรียกร้องของคปช.53

 


สมชัย ศรีสุทธิยากร : ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนพรรคเสรีรวมไทย เสนอนโนบายและแนวทางปฏิบัติ ต่อ 8 ข้อเรียกร้องของคปช.53


คนรุ่นผมคือคนรุ่นไหน? คือคนรุ่นซึ่งผ่านเหตุการณ์ทั้ง 14ตุลา 14ตุลาผมเป็นเด็กนักเรียน ม.ศ.3 ผมเดินขบวนจากสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ออกมาที่ราชดำเนิน นี่คือ 14ตุลา 6ตุลา ผมอยู่ปี 1 นิติศาสตร์จุฬาฯ ผมอยู่ในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ผมคือหนึ่งในสามพันคนที่ถูกจับ เพราะฉะนั้นนี่คือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราผ่านร้อนผ่านหนาว เราผ่านการต่อสู้เคียงข้างกับประชาชนมาโดยตลอด วันนี้ถ้าภาคประชาชนเชิญมา ไม่มาไม่ได้ครับ


มวลชนอันไพศาลจะเป็นคนชี้ขาดชะตากรรมของประเทศไทย และเดือนพฤษภาคมนี้คือโอกาสของเรา ที่เราจะชี้ขาดชะตากรรมของประเทศไทยในการร่วมเลือกพรรคการเมืองอยู่ในซีกฝั่งประชาธิปไตยเข้าไป


สำหรับข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ผมขอพูดเฉพาะแค่ 4 ข้อ เพราะว่าถ้า 8 ข้ออาจจะไกลเกินไป เพื่อจะบอกว่าอะไรคือความคิดของเรา เรื่องที่ 1 ขอพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ครับ ต้องฉีกมันทิ้งครับ เพราะเราไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญที่มีหน้าตาแบบนี้ยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทย เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาบนพื้นฐานของการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้ตัวเองสืบทอดอำนาจได้ กลไกต่าง ๆ ทั้งหมดของรัฐธรรมนูญนั้นเกินกว่าจะเยียวยาแก้ไข ปะผุไม่ได้ครับ ต้องฉีกทิ้งทั้งหมดครับ ทำอย่างไรครับ สสร. เป็นคำตอบ สสร. คือการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชนโดยตรง จะมีกี่คนไม่เป็นไร ค่อยไปออกแบบกัน จะเป็น 77+22 เป็น 99 คน อะไรก็แล้วแต่ ก็ว่าไป จังหวัดละคน แล้วที่เหลืออาจจะเป็นพวกที่มีความรู้ทางกฎหมายมาช่วยเสริมให้มันเต็ม อันนั้นก็ค่อยไปว่ากัน


แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นภารกิจ อยากจะฝากเพื่อไทย อยากจะฝากก้าวไกล ฝากประชาชาติ ว่าวันที่เราจัดตั้งรัฐบาล วันที่ประชุมครม. ครั้งที่ 1 จับมือกันมั้ยครับว่าเรื่องที่จะเสนอเข้ามติครม. เรื่องที่ 1 คือขอให้มีการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญครับ (ขอจับมือเป็นสัญญา) เราจะจับมือขอมติครม. เรื่องที่ 1 ครับ เพราะว่ากระบวนการในการเปลี่ยนแปลงยาวนานครับ มันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย ๆ ประชามติก็อาจจะต้องรอระยะเวลาจากวันที่มีมติแล้ว 60 วัน เพราะว่ากกต.ก็ต้องเตรียมการ ต้องมีกระบวนการให้ความรู้ประชาชน หลังจากนั้นประชามติเสร็จก็ยังต้องไปเลือกสสร.กันอีก แต่ถ้าเป็นไปได้รัฐธรรมนูญควรแก้ไขให้เสร็จและทำประชามติอีกครั้งหนึ่งภายใน 1 ปี นับตั้งแต่การที่เรามีการทำประชามติ เราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ และขอบอกครับ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เราจะไม่มีเยื่อใยให้กับคนเผด็จการ คือกลไกต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อค้ำจุนเผด็จการจะต้องถูกเอาออกไปจากรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิงและไม่มีบทเฉพาะกาลด้วย


เรื่องที่ 2 ที่ขอพูดกันก็คือเรื่องการปฏิรูปทั้งหลายทั้งปวง ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปองค์กรอิสระ นี่คือสิ่งซึ่งเราจำเป็นต้องทำ กองทัพปัจจุบันผมอยากจะบอกว่าท่านมากไปแล้ว งบประมาณของกองทัพต้องปฏิรูป เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ของบประมาณแผ่นดินไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ต้องมีการตรวจสอบ ถามว่าทำเมื่อไหร่? ทำทันที! เพราะเมื่อเราเข้าไปเป็นรัฐบาล หน้าที่แรกคือการนำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น เราสามารถตรวจสอบทุกรายการของกองทัพได้ว่า ท่านใช้เงินทำอะไรในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต นี่คือต้องทำ ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ ทั้งเงินในและเงินนอกงบประมาณ เงินในก็คือเงินที่อยู่ในรายการงบประมาณ แต่เงินนอกคือเงินรายได้ต่าง ๆ ของท่านที่มีมากมาย สถานีวิทยุมีเท่าไหร่ สถานีโทรทัศน์มีเท่าไหร่ สนามกอล์ฟ สนามกีฬามีเท่าไหร่ รายได้ต่าง ๆ เหล่านี้มันเข้าใคร เอามาให้ประชาชนครับ นี่คือการปฏิรูปกองทัพ การลดจำนวนนายพล การเลิกการเกณฑ์ทหาร พวกนี้ผมถือว่าเป็นการปฏิรูปกองทัพที่สำคัญที่จำเป็นต้องทำ


องค์กรอิสระ ต้องไปออกแบบที่ไปที่มาขององค์กรอิสระใหม่ ให้ภาคประชาชนมีโอกาสเข้าไปเป็นองค์กรอิสระต่าง ๆ ไม่ใช่กำหนดคุณสมบัติมหาเทพเพื่อจองไว้สำหรับพวกข้าราชการเกษียณอายุที่จะไปดำรงตำแหน่งหลังเกษียณ คอยรับใช้ฝ่ายการเมือง เราไม่เอาครับ นี่คือการปฏิรูปในส่วนขององค์กรอิสระ ซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการ


เรื่องที่ 3 เรื่องของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งผมคิดว่าอยู่ใน 8 ข้อเสนอ ผู้ปกครองอย่าดูถูกประชาชน ผู้ปกครองอย่าคิดว่าคนต่างจังหวัดคนในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่มีความคิด ยังต้องปกครอง ยังต้องเป็นคุณพ่อรู้ดี ยังต้องเป็นคนสั่งจากส่วนกลางไป มันล้าสมัยแล้ว มันควรจะเลิกได้แล้วครับ วันนี้ประชาชนเขามีความพร้อม ประชาชนเขารู้จักในการเลือก ในการตัดสินใจ ในการคิดว่าทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นของเขา เงินภาษีที่เขาเก็บได้ในท้องถิ่น เขาควรจะใช้ทำอะไร ไม่ใช่เก็บได้เท่าไหร่ส่งให้ส่วนกลาง แล้วให้ส่วนกลางนั้นหยิบยื่นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กน้อยมาให้กับท้องถิ่น เลิกคิดแบบนี้กันซะที เงินของท้องถิ่นต้องคืนสู่ท้องถิ่น ผู้ปกครองของท้องถิ่นต้องมาจากท้องถิ่นเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้งครับ แต่เรื่องนี้ก็ต้องบอกพ่อแม่พี่น้องว่าอาจจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเร็ววัน อาจจะต้องมีช่วงของการเปลี่ยนผ่าน อาจจะมีช่วงของการทดลอง ของการค่อย ๆ ริเริ่ม ที่เราเคยได้ยินมั้ยครับว่า อย่างกรุงเทพฯ อย่างพัทยา ทำไมเป็นอิสระได้ เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษได้ เพราะฉะนั้นเราค่อย ๆ ขยาย เชียงใหม่ได้มั้ย สงขลาได้มั้ย ภูเก็ตได้มั้ย แม่สอดได้มั้ย หรือเบตงได้มั้ย นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าในเรื่องของการพยายามด้านนั้นต้องมีความชัดเจน และอย่าหวงอำนาจ อย่าคิดว่าประเทศไทยเป็นของ “ป๊อก รมว.มหาดไทย”


“ป๊อก” นี่ซึม ๆ นะ แต่ลึกมากนะครับ ต้องบอกให้

“ป้อม” นี่ประเภท งง ๆ แต่ก็โอเค ก็ถือว่าเข้าใจการเมืองดีขึ้น

ส่วน “ตู่” ไม่ต้องพูดถึง ส่งกลับบ้านอย่างเดียว

14 พฤษภา เราจะให้บทเรียนพวกเขาว่าประชาชนคิดยังไง และเขาควรต้องกลับบ้าน


ประเด็นสุดท้ายที่พูดถึงเรื่องวุฒิสภา (ส.ว.) ถ้าจะมี ถ้าต้องมี ต้องเลือกตั้งเท่านั้น จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เมื่อจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง คุณซื้อเสียงไม่ได้ คุณจะต้องได้คนดีในระดับของจังหวัด ก็เป็นไปตามสัดส่วน กรุงเทพฯ อาจจะมีมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ คนที่มีความรู้ความสามารถก็สามารถอาสาตัวให้กับประชาชน ต้องเลือกตั้งเท่านั้นครับ ส.ว.ลากตั้ง ไม่เอา!!! ส.ว.ที่อยู่ในสภาขณะนี้ช่างมัน อีกปีเดียวก็ไปแล้ว แต่ต้องเตือนก่อนว่าอย่ามายุ่งเกี่ยวอะไรกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ประชาชนเตือนไว้ก่อน ขอให้เสียงของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร เขาเลือกพรรคไหนเป็นเสียงข้างมากให้เขาจัดตั้ง อย่ามายุ่ง!!!


ดังนั้น สรุปสุดท้าย ไม่ต้องเดินขบวน ไม่ต้องใช้มือตบ ไม่ต้องใช้ตีนตบ ใช้ปากกาเท่านั้นเพื่อฆ่าเผด็จการ


ในการพูดรอบที่สอง นายสมชัย กล่าวว่า ก็คงค้างประเด็นที่อาจจะเป็นหัวใจสำคัญของพวกเราไว้ที่ยังไม่ได้พูด ก็คือเราจะไม่ให้เกิดการรัฐประหารในประเทศไทยได้อีกอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องคิด เพราะประชาชนเราไม่มีอาวุธ อีกฝ่ายหนึ่งเขามีอาวุธ เขามีรถถัง แต่เขาไม่มีสิทธิ์ในการใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อที่จะยึดอำนาจมาเป็นของตัวเอง ดังนั้น ในเชิงวิธีการในการแก้ไขผมอยากจะขยายในส่วนที่เป็นนโยบายของเสรีรวมไทยให้ฟังว่าเรามีมุมมองในการจัดการเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร


อย่างที่ 1 ต้องถามพี่น้องว่าเอามั้ย ย้ายกองทัพออกจากกรุงเทพมหานคร ใช้เงินเท่าไหร่ก็ใช้ ไม่ว่า จะไปสร้างตึกใหม่ที่ไหน อย่างไร ก็ไป กองทัพอากาศไปอยู่นครสวรรค์โน่น กองทัพเรือไปอยู่สัตหีบ กองทัพบกไปอยู่แถว ๆ ลพบุรี ไม่ต้องมีหรอกครับ งานวันเด็กเราไม่ต้องการรถถังให้เด็กดู ไม่ต้องพาเข้ามาด้วย ดังนั้น กองกำลังต่าง ๆ ของท่านไปอยู่ต่างจังหวัดเสีย แล้วก็ใช้พื้นที่ของกองทัพทั้งหลายเป็นสวนสาธารณะ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน สร้างที่พักอาศัยราคาถูกให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนได้อยู่ ทำเป็นห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ให้กับประชาชน นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเหตุเป็นผลที่ทำได้และต้องทำต่อเนื่อง อาจจะไม่ทำปีเดียวเสร็จ แต่ค่อย ๆ ทำ สักวันเขาจะไม่อยู่ในกรุงเทพฯ


อย่างที่ 2 ในแง่ของการที่จะจัดการกับรัฐประหาร ก็คือ เราจะต้องแก้ไขกฎหมายให้การรัฐประหารนั้นเป็นความผิด โทษประหาร และไม่มีนิรโทษกรรม แก้ตรงไหน เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมันก็ฉีก ถูกมั้ย? เราเขียนไว้ในประมวลกฎหมายอาญาให้ชัดเจนไปเลย คนอื่นพูด 112 ผมไม่พูดหรอกครับ ผมพูด 113 ครับ มาตรา 113 ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เขียนไปเลยครับโทษประหาร ไม่มีอายุความและไม่มีการนิรโทษกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะยึดอำนาจ ยึดได้ยึดไป หลังจากนั้นกฎหมายนี้ยังอยู่ หมดอำนาจเมื่อไหร่ได้เห็นกัน


นี่คือสิ่งที่เราจะทำเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อที่จะทำให้ทหารนั้นออกไปจากการเมืองไทย


อีกเรื่องหนึ่ง อาจจะเรื่องเล็ก ๆ คือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแข้งขัดขารัฐบาลประชาธิปไตยทั้งหลาย เพราะเมื่อไรก็ตามที่เพื่อไทยขึ้นเป็นรัฐบาล ก้าวไกลขึ้นเป็นรัฐบาล เสรีรวมไทย, ประชาชาติขึ้นเป็นรัฐบาลก็ตาม เขาก็จะอ้างยุทธศาสตร์ชาติ ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในระยะยาวก็คือการแก้รัฐธรรมนูญ เอาคำว่ายุทธศาสตร์ชาติออกไปเสีย ในระยะสั้นที่ยังแก้รัฐธรรมนูญไม่เสร็จ ก็เอาองค์ประกอบของคนที่เป็นกรรมการในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีแต่คนสูงอายุ มีแต่คนที่มีตำแหน่งความมั่นคงทั้งหลายออกไปให้หมด ให้โครงสร้างพวกนี้เป็นโครงสร้างที่มีภาคประชาชนอยู่ในนั้น และกำกับดูแลยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นยุทธศาสตร์ของประชาชน นี่คือผมคิดว่าเป็นประเด็นของการเปลี่ยนแปลงที่อาจจำเป็นต้องทำในช่วงที่หากเรามีโอกาสได้เป็นรัฐบาล


ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดไม่มีทางเป็นจริงถ้าพวกเราไม่ช่วยกันเลือก ไม่ช่วยกันบอกพ่อแม่พี่น้องประชาชน ญาติมิตร พี่น้องคนรู้จักบ้านใกล้เรือนเคียงทั้งหลาย ว่าต้องช่วยกันในการเปลี่ยนแปลง เพราะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ มันคือโอกาสของประชาชน มันคือโอกาสในการเปลี่ยนแปลงประเทศ และประชาชนจะไม่ทิ้งโอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สังคมที่เราต้องการปรารถนา ไม่มีอะไรพูดมากกว่านี้ครับ แต่สัญญาว่าหากเสรีรวมไทยเข้าไปเป็นส่วนร่วมรัฐบาล เราจะไม่ลืมสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชนครับ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #เสรีรวมไทย #13ปีเมษาพฤษภา53 #คนเสื้อแดง